posttoday

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย

02 พฤศจิกายน 2558

สุภาษิต “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” จะเป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับทายาทที่ตอนนี้สังคมกำลังทวงถามผู้สืบทอดมรดกทางปัญญาเพื่อรักษาเอกลักษณ์ชาติไทย หนึ่งในนั้นคือ หัตถศิลป์

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

สุภาษิต “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” จะเป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับทายาทที่ตอนนี้สังคมกำลังทวงถามผู้สืบทอดมรดกทางปัญญาเพื่อรักษาเอกลักษณ์ชาติไทย หนึ่งในนั้นคือ หัตถศิลป์ งานประณีตจากสองมือที่ยังยืนหยัดในกระแสอุตสาหกรรม ทว่าผู้รับมรดกรุ่นปัจจุบันเขาคิดและทำอย่างไร

อังคาร อุปนันท์

ทายาทเครื่องเงินชั้นสูง

ถ้าให้สรุปประวัติของ อังคาร อุปนันท์ทายาทเครื่องเงินแห่งบ้านกาด จ.เชียงใหม่ อาจกล่าวได้ว่า เขาคือชายผู้เคยหลงทาง แต่สุดท้ายก็กลับบ้านเพราะหนีไม่พ้นเงาตัวเอง

อังคารค้นหาตัวตนด้วยการลองเรียนไปเรื่อยๆ ทั้งคณะการบัญชี การโรงแรม การท่องเที่ยว กฎหมาย ผ่านมาแล้ว 5 มหาวิทยาลัย จนสุดท้ายไปหยุดที่คณะจิตรกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาไทยวิจิตรศิลปเชียงใหม่ และงานแรกที่ทำคือเป็นศิลปินวาดรูปขายที่ถนนคนเดิน

“งานศิลปะในเชียงใหม่เมื่อสิบปีที่แล้วมันขายไม่ได้ มันตาย ‘อังคารกล่าว’ หมายถึงงานที่คนวาดมันสนองตอบธุรกิจโรงแรมจนเกินไป ทำให้งานศิลป์มีราคาถูก ทำเพื่อขายส่งมากขึ้น แต่งานศิลปะที่ผมทำมันมีค่ามากกว่านั้น”

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย อังคาร อุปนันท์

 

ประจวบกับเวลานั้น เขาพบเพื่อนสาวผู้จุดประกายด้วยคำถามที่ว่า “ทำไมไม่กลับไปทำในสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว” เขาจึงกลับบ้าน กลับไปหยิบจับเครื่องมือทำเครื่องเงินยัดลาย (Filigree) ที่สมัยเด็กเคยคลุกคลีกับมันมา อังคารเล่าให้ฟังว่า งานยัดลายมีมาตั้งแต่ 5,000 ปีที่แล้ว เริ่มที่อียิปต์เข้ามาทางอินเดีย จีน และสู่ประเทศไทย โดยพ่อแม่ของเขาศึกษาวิธียัดลายจากชาวจีนคนหนึ่งที่อพยพมาอยู่ที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ แล้วทำเป็นเครื่องประดับส่งขายที่วัวลายและสันกำแพง กระทั่งปัจจุบันท่านทั้งสองก็ยังทำอยู่นับเป็นเวลากว่า 60 ปี

“การสอนของพ่อแม่คือไม่สอน เขาไม่เคยยัดอะไรให้เลย ไม่เคยบอกว่าเราต้องสืบทอด แต่เขาให้เราเลือกเองว่าอยากทำอะไร ตอนเด็กๆ ก็ไม่คิดว่าจะทำงานที่พ่อแม่ทำ มันคงเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเกินไป” ทว่าอังคารเคยจับงานยัดลายมาตั้งแต่ยังเล็กผ่านการรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ เป็นค่าขนม และสิ่งนั้นก็ติดตัวมาโดยไม่รู้ตัว ทำให้เมื่อกลับมาจับงานนี้อีกครั้งจึงสามารถทำได้ทันที

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย

 

อังคารและแฟน (หงษ์ศรา จันทร์พัฒน์) สร้างแบรนด์อังศา (Angsa) ออกเสียงว่า อังซา ตั้งแต่ปี 2552 หรือตั้งแต่วันที่เขากลับบ้านไปหาพ่อแม่ โดยเน้นไปที่งานเครื่องประดับเพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงงานยัดลายและนำความงามนี้ติดตัวไปได้ทุกที่ เขาทั้งสองเริ่มจากการเปิดร้านขายเองในห้างสรรพสินค้าที่เชียงใหม่และฝากขายตามร้านเพื่อน ซึ่งกระแสตอบรับดีจนแทบผลิตไม่ทัน แต่เพราะการทำงานเพื่อส่งออร์เดอร์นี่เองที่ทำให้ทั้งสองคนต้องมาทบทวนใหม่ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเพื่ออะไร

“มันเหนื่อยมากเลยครับ เราต้องทำงานแบบซ้ำๆ อันไหนที่ขายดีก็ต้องทำอันนั้นมากๆ เพื่อสนองตลาดให้ไว้ ทำให้เราไม่มีเวลาคิดแบบใหม่ๆ เลย เราเลยตัดสินใจเอาของออกหมดเลย ปิดร้าน แล้วหาที่ทางเปิดสตูดิโอแทน การผลิตชิ้นงานก็เปลี่ยนมาทำแค่ชิ้นเดียว เราจะได้คิดแบบใหม่ๆ ได้ทุกวัน ถ้าเราทำงานยัดลายเป็นแบบอุตสาหกรรม คุณค่าของมันจะหายไปตามมูลค่าที่เราตั้ง แล้วมันก็จะเป็นงานศิลปะที่ตายไปแล้ว” อังคาร กล่าว

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย

งานยัดลายรุ่นใหม่มีการนำความทันสมัยใส่เข้าไป เช่น เม็ดมะยม ของเล่นสมัยเด็กที่นำมาใส่ลวดลายแล้วเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นเครื่องประดับ หรืองานที่หลุดจากแบบเดิมไปเลยคือ การฉลุและการติดกล่อง เขากล่าวว่า ปกติงานยัดลายจะอยู่บนรูปทรงธรรมชาติอย่างใบไม้ ปีกผีเสื้อ ปีกแมลงปอ แต่เขาเลือกเทคนิคติดกล่องและใส่บานพับให้มันขยับได้ ภายใต้แนวคิดจะทำอย่างไรให้สิ่งที่มีอยู่มาเนิ่นนานสามารถนำไปใช้ในอนาคต นอกจากนี้เพราะการทำงานแบบมาสเตอร์พีซทำให้แบรนด์อังศาเป็นที่รู้จัก รวมถึงการออกงานแฟร์และการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กก็ทำให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้น

ตอนนี้อังคารตัดเรื่องเงินเป็นปัจจัยรองแล้วนำความสุขของตัวเองเป็นที่ตั้ง ทั้งยังเริ่มเผยแพร่ภูมิปัญญางานยัดลายแก่คนทั่วไปผ่านการสาธิตที่สตูดิโอและมีความตั้งใจจะทำเป็นหลักสูตรเข้าสถานศึกษา “ผมว่างานศิลปะมันไม่จำเป็นต้องสืบทอดโดยคนสายเลือดเดียวกันแต่เป็นใครก็ได้ที่รักมันจริงๆ”

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย

 

 

เขากล่าวว่า คุณสมบัติหลักของการเป็นศิลปิน คือ ความทุ่มเท การหมกมุ่นอยู่กับมันนานๆ อย่างงานยัดลายมันทำให้ไม่ยุ่งกับเรื่องคนอื่น แต่จดจ่ออยู่กับงานตรงหน้าจนรู้สึกว่า 24 ชั่วโมงยังน้อยไป หงษ์ศรา (แฟนของเขา) พิสูจน์แล้วว่าใครๆ ก็เป็นทายาทงานยัดลายได้ จากคนที่ไม่มีความรู้เรื่องงานศิลปะเลย แต่เพราะนิสัยชอบเครื่องประดับ พอได้ศึกษาแล้วหลงรัก จึงลองทำและทำไปเรื่อยๆ จนตอนนี้เธอรับหน้าที่ผลิตงานยัดลายแบบโบราณ ส่วนอังคารเป็นคนสร้างสรรค์ลูกเล่นใหม่ๆ เข้าไปในงาน

ล่าสุด อังคารได้รับรางวัลสุดยอดดีไซเนอร์แห่งปี 2558 แผนกการออกแบบสินค้า ในงานการออกแบบของเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Awards) นับเป็นความสำเร็จขั้นต้น ส่วนความฝันสูงสุดของเขาคือเป็นศิลปินแห่งชาติและอยากให้งานไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้มันกลายเป็นมรดกของชาติที่ยังไม่ตาย

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย

 

สุขจิต แดงใจ ทายาทผ้าย้อมคราม

ผ้าย้อมครามเคยหายไปจากประเทศไทยเมื่อ 70 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องเล่าจากแม่ประไพพันธ์ แดงใจ ส่งต่อให้ลูกสาว มอญ-สุขจิต แดงใจ เธอเล่าว่า 23 ปี ที่แล้วคุณแม่เฝ้าตามหาคนมือดำอยู่ที่ตลาดบ้านนาดี จ.สกลนคร เพื่อหาคนเฒ่าคนแก่ที่ย้อมครามเป็น ใช้ความอดทนอยู่ 3 ปี จนพบยายคนนั้นแต่ปัญหาต่อไป คือ ไม่มีต้นคราม ต้องใช้เวลาอีก 1 ปีไปตามหาต้นครามในป่า จากนั้นศึกษาวิธีสกัดครามอีก 1 ปี สู้กับมันจนทำเป็นผ้าย้อมครามได้สำเร็จ แต่ขณะที่ทุกอย่างจะไปได้สวยก็เจออีกปัญหาใหญ่ เพราะทัศนคติของคนทั่วไปเห็นผ้าย้อมครามเป็น ผ้าชาวนา ผ้าคนจน

“แม่กับมอญนั่งรถเข้ากรุงเทพฯ นำผ้ามาขาย แต่คนรู้จักแต่หม้อห้อมอย่างเดียว ยังไม่มีคนรู้จักว่าผ้าย้อมครามคืออะไร ทำให้ไม่มีใครอยากใส่ มันเลยฝังใจมอญมาตั้งแต่ตอนนั้น”

กระทั่งเธอได้ไปเรียนภาษาที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เธอรู้ว่าคนญี่ปุ่นก็ทำผ้าย้อมคราม แต่มันไม่ได้เป็นผ้าชาวนาอย่างที่คนไทยดูถูก มันคือผ้าของชนชั้นสูงและราคาแพง ประกอบกับตอนนั้นเธอกำลังศึกษาด้านบริหาร จึงมองเห็นโอกาสทางการตลาดเป็นครั้งแรก

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย สุขจิต แดงใจ

 

“ที่ญี่ปุ่นขายแจ็กเกตผ้าย้อมครามตัวละ 6 หมื่นบาท แต่บ้านเราขาย 600 บาท มันคือส่วนต่างราคามหาศาล ถ้านำผ้าของเรามาขายที่ญี่ปุ่นต้องได้เงินเยอะมาก ตอนนั้นคิดไปไกล เลยกลับมาบ้าน กลับมาทำต่อกับคุณแม่ ความอยากรวยทำให้เราอยากทำผ้าย้อมคราม (หัวเราะ)”

หลังจากการเปิดโลกครั้งนั้น ทำให้เธอสมัครเรียนด้านแฟชั่นดีไซน์ที่สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์อีก 2 ปี ซึ่งทุกครั้งที่ทำคอลเลกชั่นผ้าส่งครู เธอจะใช้ผ้าย้อมครามจากที่บ้านเป็นวัสดุ กลายเป็นว่าเธอเป็นความแตกต่างในรุ่นเพราะเป็นคนเดียวที่ใช้ผ้าไทย ครูต่างชาติยังบอกกับเธอว่า มอญ คือ ความแตกต่างของวงการและเป็นสิ่งที่ชาวยุโรปตามหามานาน

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย สุขจิต แดงใจ

 

“มอญถูกฝังหัวเรื่องการบริหารมา ดังนั้นเราต้องหาจุดแข็งที่คนอื่นไม่มี ในขณะที่วัยรุ่นคนอื่นเขาเก่งคอมพิวเตอร์ แต่เราย้อมผ้าได้ ถึงแม้มันจะเป็นโนว์ฮาวพื้นๆ แต่มันไม่ใช่โนว์ฮาวทั่วไปที่ใครๆ ก็มี มอญเลยเหมือนเป็นตัวแทนเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกเก่าๆ กับแม่กับยาย ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างความเก่าและใหม่ซึ่งมันทำให้ผ้าไทยไปต่อได้” และเพราะการเรียนครั้งนั้นที่ต้องทำผ้าเองทุกกระบวนการทำให้เธอเข้าไปอยู่ในโลกผ้าย้อมครามอย่างเป็นแท้จริง

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของคนสองยุคก็มีจุดขัดแย้งกัน มอญ เล่าว่า ช่วงแรกแม่ยังไม่ยอมให้นำผ้ามาตัดเป็นหมวกเป็นเสื้อ เพราะแม่ยังเห็นผ้าครามเป็นของแพงและต้องใช้เป็นผ้าซิ่นเท่านั้น เธอกับแม่จึงต้องปรับทัศนคติกันสักพักกระทั่งแม่ยอมรับได้ว่ามันคืองานดีไซน์ ปัจจุบันแบรนด์ผ้าย้อมคราม ฑีตา ที่แม่ประไพพันธ์สร้างมาตั้งแต่ปี 2535 มีลูกค้าเป็นวัยรุ่นมากขึ้นเพราะสามารถซื้อไปใส่เดินสยามได้แบบไม่ต้องอายใคร

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย

 

“คนรุ่นใหม่ไม่ได้รังเกียจผ้าไทยนะ เขาแค่ไม่รู้ว่าจะใส่ให้มันเข้ากับยุคสมัยยังไง แต่ตอนนี้ผ้าย้อมครามกลายเป็นความสากลแล้ว” มอญ กล่าว “จริงๆ แล้วผ้าย้อมครามเป็นวัสดุสำหรับอนาคตนะ เพราะมันเป็นผ้าที่ไม่ทิ้งอะไรไว้ข้างหลังเลย เราปลูกฝ้ายเอง สีย้อมครามก็มาจากใบคราม มะขามเปียก ปูนกินหมาก น้ำเหลือทิ้งก็นำไปเป็นปุ๋ย เทลงน้ำก็สร้างออกซิเจนให้ปลา หมาที่บ้านชอบกินน้ำย้อมผ้ามาก ถ้าไม่มีพลังงานเราก็ยังเหลือสิ่งทอนี้ไว้ใช้ได้”

ผ้าย้อมครามยังทำให้เธอเปลี่ยนทัศนคติการใช้ชีวิต จากวัยรุ่นที่อยากรวยอยากมีเงินมากๆ กลายเป็นคนที่หาความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งเงิน เธอเล่าเหตุการณ์ในวันหนึ่งขณะนั่งย้อมผ้าอยู่ริมคลอง “ตอนนั้นปลาก็มา ผีเสื้อก็มา หมาก็มานั่งให้กำลังใจอยู่ข้างๆ แล้วอยู่ดีๆ มันก็รู้สึกมีความสุขขึ้นมา นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่รู้สึกว่าความสุขมันไม่ต้องใช้เงินซื้อ มันมีความสุขมาจากข้างใน กลายเป็นว่าครามสอนเราเยอะมาก”

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย

 

นอกจากนี้ พออยู่กับครามบ่อยๆ มันทำให้เธอหยุดมองตัวเองแล้วคิดถึงคนรอบข้างมากขึ้น อย่างผ้าย้อมครามที่เธอทำก็แจกจ่ายให้คุณยายในหมู่บ้านช่วยกันทอผ้า เวลามีคนมาซื้อผ้าเธอก็สามารถเล่าได้ว่าผ้าผืนนั้นทอจากยายคนไหน สร้างเรื่องราวให้ผ้าแต่ละผืนและทำให้ยายเหล่านั้นไม่ถูกลืม

“เราทุกคนรู้ว่าเวลามันแพง เวลามันเอาคืนมาไม่ได้ แต่ของที่ใช้เวลากลับเป็นของไม่มีค่า”

ขณะนี้มอญมีหน้าที่เป็นคนออกแบบสินค้า ส่วนแม่ประไพพันธ์เป็นคนออกแบบลายผ้า แบรนด์ฑีตาจะทำให้ผ้าย้อมครามไม่หายไป

ทายาทหัตถศิลป์ ผู้สร้างสิ่งโบราณอันทันสมัย

ประเทศไทยมีศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. (SACICT) ที่ได้จัดตั้งโครงการ SACICT Craft Trend เทรนด์หัตถกรรมร่วมสมัย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนงานดีไซน์ที่ไม่ทิ้งรากมรดกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมถึงทำงานร่วมกับนักออกแบบร่วมสมัยและช่างหัตถศิลป์ของไทย เพื่อนำเสนอแนวโน้มงานหัตถกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน คนทั่วไปสามารถชมงานหัตถศิลป์ไอเดียบรรเจิด ได้ที่ห้องนิทรรศการ SACICT Craft Trend ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ จ.พระนครศรีอยุธยา