posttoday

สมองคือฟองน้ำ

01 พฤศจิกายน 2558

ยามได้เห็นลูกมีพัฒนาการเติบโตในแต่ละด้าน ช่างเป็นความสุขยิ่งนัก

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

ยามได้เห็นลูกมีพัฒนาการเติบโตในแต่ละด้าน ช่างเป็นความสุขยิ่งนัก

วัย 2 ขวบปลายๆ ของเจ้าตัวเล็ก เขากำลังอยู่ในช่วงกำลังพูดเจื้อยแจ้ว น้ำเสียง ภาษาน่ารัก เรียงคำ เรียงประโยค ถูกผิดตามวัย คนเป็นพ่อแม่เห็นก็อดยิ้มไม่ได้ บางทีก็รู้สึกทึ่งที่เขาพูดคำที่มีความหมายลึกซึ้งบางคำขึ้นมา ก็เพราะสมองเขาจำตอนที่เราพูดคุยกัน บางครั้งเจ้าตัวน้อยก็แสดงความเอื้ออารี หยิบของกินให้แม่ บอกรัก “น้อง” ในท้องแม่ได้ หรือจะขอนอนที่โซฟารอพ่อแม่กลับบ้าน

ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กบอกว่า ช่วง 0-7 ขวบ เป็นช่วงที่สำคัญเพราะเป็นช่วงที่เด็กมีการพัฒนาและเจริญเติบโตทั้งสมองและร่างกายมากที่สุด เปิดรับ เรียนรู้จดจำทุกอย่างจากพ่อแม่ ตายาย คนใกล้ชิด ครูที่โรงเรียน สอนอย่างไรมักเลียนแบบพฤติกรรมตาม และไม่มีทฤษฎีไหนถูกเสมอไป ไม่ว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ดี ต้องมาจากการเรียนในห้องเรียนธรรมชาติ อยู่กับป่าเขาเหยียบหิน ดิน หรือการให้ลูกมุ่งเรียนในห้องเรียนตามตำราที่ดูเหมือนสร้างความเครียดให้เขา

สองกระแสนี้ปะทะกันในช่วงหลัง คุณหมอท่านหนึ่งเคยบอกว่า แนวทางไหนก็ได้อยู่ที่เราดูแล้วเหมาะกับลูก สำคัญก็อย่างที่บอก ช่วงเด็กเล็กเป็นโอกาสทองที่พ่อแม่ควรสอนทักษะให้มาก ถ้าได้รับการศึกษาที่ดี ถูกจุด ก็อาจเก่งเป็นถึงอัจฉริยะได้

หนังสือ “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” เขียนโดย มาซารุ อิบุกะ กลั่นจากประสบการณ์จริงและเป็นที่นิยม ระบุว่า การทำงานของเซลล์สมองของเด็กแรกเกิดจะถูกกำหนดภายในอายุ 3 ขวบ สมองตอนนี้ยังเหมือนกระดาษขาวอยู่ ถ้าเด็กได้เรียนรู้มาก ก็จะมีสายโยงระหว่างเซลล์สมองมากขึ้น เหมือนทรานซิสเตอร์ เมื่อเชื่อมต่อกันมากก็จะกลายเป็นคอมพิวเตอร์

อาจารย์มาซารุ ขยายความด้วยว่า เส้นสายสัมพันธ์ของเซลล์จะเพิ่มตัวอย่างรวดเร็วมากกว่าระหว่างอายุ 0-3 ขวบ จนกระทั่ง 80% ของสายโยงทั้งหมด จะก่อรูปภายในอายุ 3 ขวบ ความเจริญเติบโตเหล่านี้จะทำให้น้ำหนักสมองเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวภายในอายุ 6 เดือน และเมื่อถึง 3 ขวบ ก็จะหนักถึง 80% ของสมองผู้ใหญ่

ก่อนอายุ 3 ขวบ คือ สมองส่วนหลัง ขณะที่เส้นสมองหลังอายุ 4 ขวบ ก็จะเป็นสมองส่วนหน้า ถ้าเปรียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ก่อน 3 ขวบ ก็เหมือนฮาร์ดแวร์ในส่วนของตัวเครื่อง ส่วนหลัง 3 ขวบ ซอฟต์แวร์ของเครื่องคือ ส่วนที่เป็นการใช้เครื่องนั่นเอง

ฉะนั้น ถ้าอยากให้เด็กแรกเกิดมีความสามารถอะไร ก็ขึ้นกับว่าเราจะเขียนอะไรลงไปในกระดาษขาวนั้น แต่ถ้าเราปล่อยปละละเลยไม่สนใจ เด็กก็อาจอยู่ในสภาพสมองว่างเปล่าเช่นกัน

อาจารย์ท่านนี้ยังเล่าด้วยว่า ที่ญี่ปุ่นมียอดคุณพ่อรายหนึ่งยอมลาออกจากการเป็นครูเพื่อมาสอนลูกวัย 2 ขวบ และ 3 เดือน ที่บ้านจนถูกคนต่อว่า ว่าเป็นคุณพ่อที่ยัดเยียดความรู้ให้เด็กหนักเกินไป อาจเป็นผลลบต่อเด็ก แต่คำวิจารณ์นั้นไม่จริง ลูกที่เขาสอนสามารถพูดได้ถึง 5 ภาษา อังกฤษ อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส ที่คุณพ่อท่านนั้นสอนพร้อมกัน แต่ใช้เทคนิคการสอนให้ไม่งง เพราะสมองเด็กอายุก่อน 3 ขวบ เหมือนฟองน้ำสามารถซึมซับทุกอย่าง เมื่ออิ่มตัวก็จะหยุดดูดเข้าไปเอง

มันก็คือการค้นหาศักยภาพในตัวเด็ก ที่ทุกคนต่างมีและถูกซ่อนอยู่โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ แต่ถ้าเริ่มรู้ว่าเขาฉายแววด้านไหน ก็จะได้สนับสนุนส่งเสริมได้เต็มกำลัง

ก็คงเป็นจริงอย่างผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ว่าไว้ เด็กหลายคนมีศักยภาพที่ทำให้เราอึ้ง ไม่ว่าการท่องจำตัวอักษร ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก การต่อจิ๊กซอว์ การเล่นเครื่องดนตรี ร้องเพลง จำสิ่งที่พ่อแม่เล่านิทานให้ฟังและมาเล่าเองได้ โดยที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก

แม้ความแตกต่างสุดท้ายมันอยู่ที่ “กำลังทรัพย์” ของแต่ละครอบครัวที่หนุนให้ลูกได้มีโอกาสมากกว่า แต่ “การมีน้อย” ของหลายครอบครัวก็สามารถเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้ “ไม่ยอมแพ้” ในอนาคตได้เช่นกัน