posttoday

บอกเก้า-เล่าสิบ

18 ตุลาคม 2558

สมัยผมทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเราจะมีการตั้งประเด็นการศึกษาในแต่ละปี สมัยหนึ่งเราตั้งประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับ “สื่อ”

โดย...เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข [email protected] 

สมัยผมทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเราจะมีการตั้งประเด็นการศึกษาในแต่ละปี สมัยหนึ่งเราตั้งประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับ “สื่อ”

เราอภิปรายกันถึงการครองโลกด้วยสื่อ ตลอดจนการบิดเบือนข่าวสาร อันนำมาซึ่งการเข้าใจผิดหรือสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวายหรือโฆษณาชวนเชื่อในสังคม

มีการพูดถึงการบิดเบือนประเด็นจากการนำเสนอข่าวสาร การรับสารและกลายเป็นผู้ส่งสารฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาแตกต่างไปจากเดิม หรือบิดประเด็นให้มีความรุนแรงมากขึ้นเพื่อขายข่าว

กิจกรรมที่เรามักนำมาใช้เสมอ เพื่อเป็นการสะท้อนประเด็นปัญหานี้ คือ กิจกรรมที่แบ่งกลุ่มคนเป็นหลายๆ กลุ่มให้ยืนต่อแถวเรียงกัน จากนั้นให้หัวแถวอ่านข้อความที่ได้รับ จากนั้นให้กระซิบบอกคนถัดมา และทำแบบนั้นต่อมาจนถึงท้ายแถว เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการส่งต่อข้อความจากหัวแถวถึงท้ายแถวแบบปากต่อปาก จนข้อความมาถึงหูของคนสุดท้าย ก็ให้คนนั้นเขียนข้อความที่ได้รับมาลงในกระดาษ

กิจกรรมนี้มักทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมตระหนักได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อท้ายแถวเขียนข้อความลงในกระดาษ และมีการเฉลยข้อความต้นฉบับ จะพบว่าข้อความแตกต่างกันในข้อเท็จจริงพอสมควร หรือถูกบิดเบือนไป หรือข้อความไม่ครบใจความจนอาจทำให้เข้าใจผิดประเด็น นี่แค่ข้อความผ่านคนมาไม่กี่คน ข้อเท็จจริงก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ดังนั้นข้อมูลข่าวสารที่ถูกส่งต่อมาจากทุกมุมเมืองก็อาจมีการบิดเบือนเสริมแต่งแบบนี้เช่นกัน

ข่าวลือมีหลายรูปแบบ ทั้งข่าวลือแบบในพื้นที่ ข่าวลือในระดับสื่อกระแสหลัก และปัจจุบันกลายเป็นข่าวลือในโลกออนไลน์

การผลิตข่าวลือในโลกออนไลน์ทำได้ง่ายมาก และเหตุผลเรื่องความหวังดีกลายเป็นคุณธรรมที่เจ้าสำนักข่าวลือมักเอามากล่าวอ้างอยู่เสมอ ว่าสารข่าวที่ส่งออกมาเป็นไปด้วยความหวังดี ซึ่งนั่นก็เพียงพอทำให้สำนักข่าวลือเกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำลงไปนั้นถูกต้องแล้ว

ยิ่งในโลกออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของสำนักข่าวลือได้ด้วยตัวเองเพียงแค่ปลายนิ้ว ก็นับว่าเป็นเรื่องน่ากังวลมิใช่น้อยในการเลือกรับข่าวสาร และเชื่อถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ผมจะยกตัวอย่างหนึ่งของสำนักข่าวลือให้ฟัง เมื่อประมาณปี 2557 มีเหตุการณ์เด็กนักเรียนอายุไม่ถึงสิบขวบหายตัวไปจากโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรากฏว่าหลังจากเด็กหายไป แม่เด็กไปแจ้งความที่โรงพัก และครอบครัวก็ออกประกาศว่าเด็กถูกลักพาตัวไปจากโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่พาตัวเด็กไปขับรถตู้เข้ามารับเด็ก แน่นอนว่าข้อความทำนองว่าเด็กถูกลักพาตัวไปจากในโรงเรียนเป็นพฤติกรรมที่อุกอาจ ผนวกกับการเป็นแก๊งรถตู้ เรื่องทำนองแบบนี้ย่อมเป็นข่าวใหญ่ ย่อมถูกแชร์ในโลกออนไลน์อย่างสะพัด แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุคคลที่มารับเด็กที่โรงเรียนไป กลายเป็นพ่อของเด็กที่แยกทางกับแม่ และพ่อเด็กมีอาชีพขับรถตู้รับจ้าง ดังนั้นเขาจึงไม่ใช่คนร้ายลักพาตัวเด็ก เพราะเป็นการแย่งความปกครองบุตร และเขาไม่ใช่แก๊งรถตู้แต่อย่างใด

แต่สำนักข่าวลือไม่ให้โอกาสเขาในการแก้ต่างแก้ตัว เพราะสำนักข่าวลือในโลกออนไลน์ได้นำทะเบียนรถตู้ที่พ่อขับไปรับลูกตัวเองที่โรงเรียนไปค้นหาประวัติผู้ครอบครอง จากนั้นไปค้นหาทะเบียนของตัวเขา ไปทำประกาศในโลกออนไลน์ว่า บุคคลในภาพ (ซึ่งจริงๆ เป็นพ่อของเด็ก) เป็นแก๊งรถตู้ที่เข้าไปจับเด็กตามโรงเรียนต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพประกาศดังกล่าวนี้ถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก และเขาถูกตราหน้าว่าเป็นคนร้ายลักพาตัวเด็กโดยทันที

การขยายความของเรื่องนี้กว้างขวางออกไปไกล เพราะถูกแชร์ ถูกนำเสนอข้อมูลลักษณะเตือนภัยไปในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง วันหนึ่งผมพบว่าข้อมูลนี้ถูกแชร์และบิดข้อเท็จจริงออกไป กลายเป็นว่ามีแก๊งรถตู้ลักพาตัวเด็กกำลังตระเวนหาเด็กตามโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ภาคใต้!!!

ข่าวเรื่องการลักพาตัวเด็กแบบลือๆ เรื่องนี้ถูกบิดข้อเท็จจริงและข้อความจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นภาคใต้ซะแล้ว แน่นอนว่าในกลุ่มโลกออนไลน์ทั้ง Facebook และเว็บไซต์กลุ่มต่างๆ ในภาคใต้ พอได้ยินข้อมูลดังกล่าวนี้ ก็กลายเป็นยิ่งถูกแชร์ต่อไปกว้างขวางขึ้น

คนที่รับกรรมก็คือ ชายที่ไปรับลูกตัวเองด้วยรถตู้ที่โรงเรียน...

เหตุการณ์ต่อมาที่เป็นเรื่องการลือข้ามชาติ เป็นเหตุการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกนำมาปะติดปะต่อกลายเป็นแก๊งค้ามนุษย์ข้ามชาติในที่สุด

เรื่องมีอยู่ว่า ปรากฏภาพศพเด็กน่าสยดสยองนอนตายเรียงกันอยู่ 3-4 ศพ ในสภาพเละ คำบรรยายใต้ภาพระบุว่าเป็นขบวนการลักพาตัวเด็กในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อควักอวัยวะของเด็กไปขายในตลาดมืด (ตลาดมืด สงสัยจะเป็นตลาดที่ไม่เปิดไฟ 555) เรื่องราวถูกขยายไปกันใหญ่ว่าแก๊งนี้ต้องการตับ ไต และหัวใจของเด็ก เพื่อนำไปขาย แถมยังระบุข้อความใต้ภาพอีกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นข่าวเพราะตำรวจปิดข่าว

คดีแบบนี้เรียกว่าควรจะเป็นข่าวมากกว่าการจะปิดข่าวซะอีก แต่สำนักข่าวลือก็พยายามหาเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมเรื่องนี้ถึงไม่เป็นข่าวกระแสหลัก แน่นอนว่าคนแชร์กันสะพัดเช่นเคย

ท้ายสุดแล้วข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เมื่อมีการนำภาพดังกล่าวที่ถูกแชร์ไปค้นหาใน Google ก็จะพบว่าต้นฉบับข่าวในประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เด็กออกไปวิ่งเล่น แล้วพบวัตถุระเบิดสมัยสงครามโลก เมื่อเด็กนำมาเล่น จึงเกิดการปะทุ และระเบิดขึ้นในที่สุด เด็กจึงเสียชีวิต สภาพศพที่เละคล้ายถูกควักอวัยวะ แต่จริงๆ ถ้าเรียกแบบภาษาชาวบ้านต้องบอกว่าโดนระเบิดจนไส้แตก แต่ภาพแบบนี้สำนักข่าวลือนำมาเล่าเรื่องว่าเป็นขบวนการลักพาตัวเด็กมาตัดอวัยวะในประเทศไทย

เหตุการณ์ล่าสุดที่มีการแชร์อย่างถล่มทลายในโลกออนไลน์ เป็นภาพเด็กหญิงถูกมัดมือมัดเท้าและปิดปาก ยัดใส่ในกล่องกระดาษ สำนักข่าวลือบอกว่าเป็นภาพเด็กหญิงที่ถูกลักพาตัวจาก อ.สะเดา จ.สงขลา กำลังถูกแพ็กใส่กล่องส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นแก๊งลักพาตัวเด็ก ส่งทางไปรษณีย์!!!!!

ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้มีการนำภาพในการค้นหา Google ก็พบว่า ต้นฉบับของภาพเป็นเหตุการณ์ลักพาตัวเด็กจริงๆ แต่เหตุเกิดในประเทศอินโดนีเซีย ไม่ใช่ประเทศไทย แต่เป็นการอำพรางศพหลังจากคนร้ายลักพาตัวเด็ก และนำไปกระทำทางเพศ ก่อนที่จะฆ่าเด็กเพื่อปิดปาก

ไม่ใช่เป็นแก๊งลักพาตัวเด็ก ส่งทางไปรษณีย์จากประเทศไทยไปประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด

นี่เป็นตัวอย่างของการปล่อยข่าว บิดข้อเท็จจริงของสำนักข่าวลือในโลกออนไลน์ โลกที่เราต้องใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร ในขณะเดียวกันผู้ปล่อยข่าวออกมาก็จำเป็นต้องมีวิจารณญาณของการตรวจสอบข่าวสารก่อนนำไปเผยแพร่เช่นเดียวกัน เพราะโลกของความจริงการโฆษณาชวนเชื่อ เรียกร้องความน่าสนใจในยุคปัจจุบัน เขามักจะกล่าวอะไรเกินจริงเสมอ

เรากำลังอยู่ในโลกออนไลน์ ยุคที่ต้องแข่งขันกันด้วยข้อมูลข่าวสารที่ฉับไว และขายความดราม่าน่าตื่นเต้น ข้อเท็จจริงจากปากจึงมักบอกเก้า เล่าสิบเสมอ