posttoday

ชุนชิว – ยุคแห่งนักคิด งอกงามในความปั่นป่วน

18 ตุลาคม 2558

ขงจื๊อ นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งวัฒนธรรมจีน เน้นให้สังคมมีระเบียบและจารีต เดินทางท่องทั่วแผ่นดิน

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ขงจื๊อ นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งวัฒนธรรมจีน เน้นให้สังคมมีระเบียบและจารีต เดินทางท่องทั่วแผ่นดิน เพื่อหาแคว้นที่เห็นด้วยกับแนวคิดตน ผลสุดท้ายทั้งช่วงชีวิตไม่มีราชสำนักแคว้นไหนยอมใช้แนวคิดขงจื๊อ แต่ขงจื๊อได้เลือกชีวิตตัวเองแล้ว แม้ไม่สำเร็จก็ขอแค่ตั้งใจผลักดันให้สุดทาง

ส่วน เมิ่งจื๊อ นักปราชญ์สายขงจื๊อคนสำคัญ แต่ละครั้งที่เมิ่งจื๊อเข้าพบเจ้าแคว้นแต่ละแคว้น เมิ่งจื๊อพูดจาสั่งสอนเจ้าแคว้นเหมือนพ่อแม่สั่งสอนลูก เช่น ครั้งพบอ๋องแคว้นเว่ย ท่านอ๋องเปิดบทสนทนาถามเมิ่งจื๊อว่า “ท่านเมิ่งมาตั้งไกล มีวิธีใดที่ทำให้แคว้นข้าได้ประโยชน์บ้าง” เมิ่งจื๊อตอบกลับทันควัน “กษัตริย์เอ่ยปากก็ถามถึงประโยชน์ไปไย เหตุใดไม่ถามคุณธรรมและเมตตา หากผู้ปกครองคุยหาประโยชน์ใส่แคว้น ข้าราชการก็เฝ้าหาประโยชน์ใส่ตน ประชาชนจะเฝ้าหาแต่ประโยชน์ใส่ตัวเอง เบื้องล่างเบื้องบนต่างอยากได้อยากเอาผลประโยชน์เข้าตัว จะฆ่ากันเองในแคว้นก็เพราะเอาประโยชน์ แคว้นย่อมตกอยู่ในอันตราย เป็นกษัตริย์ควรถามแต่คุณธรรมและเมตตา” อ๋องเว่ยถามคำเดียว เมิ่งจื๊อวิพากษ์วิจารณ์จนหน้าชา

ซุนจื่อ (ซุนวู) ผู้เขียนพิชัยสงครามอันโด่งดังไปทั่วโลก จะเข้ารับตำแหน่งที่แคว้นอู๋ อ๋องแคว้นอู๋อยากลองเชิง จัดนางสนมให้ซุนจื่อบัญชาแทนทหาร ซุนจื่อออกคำสั่งครั้งแล้วครั้งเล่านางสนมไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจทำ จึงสั่งตัดหัวนายกองที่เพิ่งแต่งตั้ง ซึ่งก็คือนางสนมคนโปรดของอ๋องแคว้นอู๋ อ๋องแคว้นอู๋เห็นจะเลยเถิดจึงเข้าห้าม แต่ซุนจื่ออ้าง ในสนามรบอาญาสิทธิ์แม่ทัพเหนือคำสั่งกษัตริย์ อ๋องแคว้นอู๋สุดจะยับยั้ง สุดท้ายเสียนางสนมคนโปรด และต้องยอมรับในฝีมือซุนจื่ออย่างเซ็งๆ

จวงจื่อ นักปราชญ์สายเต๋า เมื่อมีขุนนางมาอัญเชิญให้ไปรับราชการ กลับเปรียบเทียบตัวเองว่ากำลังจะเป็นตะพาบเซ่นสังเวยพิธีกรรมไร้ซึ่งอิสระ สู้ตะพาบน้ำตามธรรมชาติก็ไม่ได้ ปฏิเสธยศถาบรรดาศักดิ์อย่างไม่ไยดี

ทั้งหมดคือตัวอย่างความทะนงในศักดิ์ศรีของนักปราชญ์ยุคชุนชิว ซึ่งเป็นยุคหัวเชื้อของความคิดแห่งอารยธรรมจีน

อะไรทำให้จีนเกิดยุคที่เกิดนักคิดขึ้นไล่ๆ กัน แต่แล้วทำไมบรรยากาศแห่งนักคิดของจีนจึงหดหายอย่างรวดเร็วเมื่อผ่านยุคสมัยนั้น?

ช่วงกำเนิดปราชญ์ยุคชุนชิว อยู่ช่วงประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว (ก่อน ค.ศ. 900–200 ปี) ถ้าพูดถึงสถานการณ์ระดับโลกถือว่าเป็นยุคประหลาด นักวิชาการชาวเยอรมันท่านหนึ่งนิยามยุคนี้ว่า Axial Age (หรือ Axis Age)

Axial Age คือยุคที่จู่ๆ อารย ธรรมของโลกหลายๆ อารยธรรม ที่เป็นอิสระจากกัน แต่ผุดยุคแห่งนักปรัชญาขึ้นมาโดยพร้อมเพรียง ทั้งกรีก ตะวันออกกลาง อินเดีย จนถึงโลกตะวันออกไกล ซึ่งก็คืออารยธรรมจีน

เป็นยุคประหลาดและอธิบายลำบาก คล้ายๆ กับจังหวะที่นักเรียนในชั้นเรียนที่คุยระงมกันในชั้น จู่ๆ ก็เกิดโมเมนต์เงียบงันขึ้นพร้อมกัน

ทั้งหมดพร้อมใจกันหาความหมายของชีวิตและสังคม ถกเถียงหักล้างกันภายในอารยธรรมว่า คนเราควรเป็นเช่นไร เป็นยุคแห่งการวิจัย ความเมตตา ความเป็นธรรม และจารีต

คำอธิบายความประหลาดยุค Axial Age มีหลากหลาย ซึ่งก็คือยังอธิบายไม่ได้ชัดเจน แม้ความประหลาดระดับโลกจะอธิบายได้ยาก แต่หากเป็นระดับย่อยแต่ละอารยธรรมยังพอไหว

แผ่นดินลุ่มแม่น้ำเหลืองในยุคชุนชิวคือกลียุค สงครามรบพุ่งไม่เว้นวัน จนมีคนอุปมายุคนั้นว่าเป็นยุคแห่งฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูใบไม้ร่วง (ทับศัพท์จีนว่ายุค “ชุนชิว” ชุน คือฤดูใบไม้ผลิ ชิว คือฤดูใบไม้ร่วง) คือจากจุดรุ่งเรืองถึงจุดโรยรา

เริ่มจากแผ่นดินของโอรสสวรรค์ใหญ่โตเกินโลจิสติกส์ยุคนั้นจะดูแลทั่วถึงโดยศูนย์กลางเดียว แผ่นดินจึงถูกแบ่งเป็นแว่นแคว้นปกครองกันอย่างอิสระ ขอเพียงยอมรับในอำนาจศูนย์กลางของโอรสสวรรค์โดยทั่วกันเป็นพอ ระบบนี้คือระบบ “ศักดินา”

แผ่นดินมีจำกัดและอำนาจปกครองหลักจะแบ่งให้ก็เฉพาะลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยาหลวงเท่านั้น ส่วนลูกคนอื่นๆ ก็ต้องซอยอาณาเขตที่ดินลงไป ลูกหลานบางส่วนเริ่มไม่มีดินแดนพอให้แบ่ง นานเข้าจึงเต็มไปด้วยแผ่นดินที่ซอยย่อย และลูกหลานชนชั้นศักดินาที่ไร้ดินแดนให้ปกครอง

เป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา แต่ไม่มีอำนาจครอบครองที่ดิน

นอกจากนั้น สถานการณ์บ้านเมืองนับวันยิ่งยุ่งเหยิง แต่ละแคว้นมีเรื่องกระทบกระทั่งทั้งเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม ความขัดแย้งที่จบไม่ได้ด้วยการเมือง หลายครั้งต้องสรุปกันในสนามรบ ยิ่งรบยิ่งแตกแยก ยิ่งแตกแยกก็ยิ่งรบ

ในยุคชุนชิวจึงเต็มไปด้วยกลุ่มคนเหล่านี้เพ่นพ่านให้แคว้นต่างๆ เลือกใช้งานในยามวิกฤต บางคนพัฒนาตัวไปเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง บางคนไปเป็นนักกลยุทธ์ทางการทหาร บางคนผันตัวไปเป็นนักปลีกวิเวกแสวงหาสัจธรรม

และนี่คือกลุ่มคนที่ส่วนหนึ่งกลายมาเป็นบรรดานักปราชญ์ในยุคชุนชิว

บรรดาลูกหลานศักดินาไร้อสังหาเหล่านี้ เป็นชนชั้นล่างสุดในกลุ่มผู้สูงศักดิ์ แต่ก็ถือว่าเป็นชนชั้นสูงกว่าชาวบ้านสามัญชน ความเป็นชนชั้นต่ำสุดของบรรดาผู้สูงศักดิ์ ไม่ได้ทำให้ด้อยเกียรติยศ ศักดิ์ศรีต้อยต่ำแต่อย่างใด

เพราะไม่ต้องทำไร่ทำนาให้ใครเก็บส่วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ไปปกครองใคร จะย้ายถิ่นที่อยู่ไปไหนก็ได้ มีอยู่อย่างเดียวในชีวิตคือ ต้องขวนขวายสั่งสมฝีมือด้านต่างๆ ไว้กับตัว เป็นมันสมองที่เคลื่อนย้ายไหลเวียนไปได้ตามใจ ไม่พอใจแคว้นไหนก็พร้อมไหลไปแคว้นอื่น

พลิกข้อด้อยเรื่องไม่มีที่ทำกิน กลายเป็นข้อเด่นที่มีอิสระ เพราะมีทางเลือกเยอะ จึงมีทางรอดแยะ โดยไม่ต้องยอมจำนนก้มหัวให้กับระบบใด แคว้นใด

และกษัตริย์แต่ละแคว้นก็จำต้องยอมให้คนเหล่านี้สั่งสอนด้วย เพราะในยามต้องแข่งขันกับเพื่อนบ้าน หากโมโหลงโทษลงทัณฑ์ สมองเก่าจะไหลออกไป สมองใหม่จะไม่เข้ามา

จนเมื่อแผ่นดินจีนรวมเป็น หนึ่งได้สักระยะ แผ่นดินมั่นคงแล้ว ราชสำนักก็กะเกณฑ์ให้แผ่นดินจีนเป็นศิษย์ของขงจื๊อเท่านั้น และหากอยากจะใช้ชีวิตก็ต้องศิโรราบกับราชสำนักสูงสุดเพียงแห่งเดียว สถานการณ์และปัจจัยที่หล่อเลี้ยงคนกลุ่มนี้จึงหมดไป แผ่นดินจีน กว่า 2,500 ปี ไม่ผุดยุคแห่งนักคิดที่โดดเด่นแบบยุคชุนชิวอีกเลย

จากที่เคยโดดเด่นนำหน้าใครในโลก จึงค่อยๆ ถดถอยลงเมื่ออารยธรรมอื่นผลิตยุคแห่งนักคิด ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

บางคนโจมตีแนวคิดขงจื๊อว่าทำให้อารยธรมจีนล้าหลัง แต่หันมองดูกันจริงๆ แนวคิดขงจื๊อไม่ได้เป็นแนวคิดที่ทำให้จีนหมดนักคิด แต่การปวารณาว่าแนวคิดขงจื๊อเป็น “สิ่งถูกต้องดีงามที่สุดเพียงสิ่งเดียว” ต่างหากที่ทำให้สังคมจีนหลังจากนั้นขาดยุคนักคิดอย่างชัดเจน

อันที่จริงยุคชุนชิวที่ว่านี้ไม่ใช่จะมีแต่คนที่คิดดีคิดชอบนะครับ ที่คิดแย่ๆ ที่คิดไร้สาระ ที่คิดประหลาดเกินจะเอามาใช้ก็มีเยอะ บางสำนักคิดนั่งถกปัญหาชวนหัวว่าม้าขาวไม่จัดว่าเป็นม้าบ้าง บ้างนั่งถกว่าคนเราไม่ควรทำอะไรเพื่อโลกทั้งสิ้น (ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีคนเอามาถกต่อกันจนเป็นสาระ) และคงมีมากมายที่ถูกสังคมและกาลเวลาคัดตกไป

แต่การไม่ผูกขาดให้ความคิด ความถูกต้อง มีอิสระ มีทางเลือก ยอมรับสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน และสถานการณ์ที่ไม่ทำให้นักปกครองอยู่ในจุดที่เย่อหยิ่งกับใครก็ได้เท่านั้น ที่จะสร้างสรรค์ยุคแห่งนักคิดขึ้นมาได้ในอารยธรรมของตัวเอง