posttoday

ปัญหาคือโอกาส ของ...‘สุเวทย์ ธีรวชิรกุล’

17 ตุลาคม 2558

มาบุญครอง หรือที่ยุคนี้เรียกกันว่า “เอ็มบีเค” ถือเป็นศูนย์การค้าเก่าแก่ที่ตั้งมานาน 30 ปี แต่กว่าเอ็มบีเคจะเดินมาไกลถึงวันนี้

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ภาพ… ทวีชัย ธวัชปกรณ์

มาบุญครอง หรือที่ยุคนี้เรียกกันว่า “เอ็มบีเค” ถือเป็นศูนย์การค้าเก่าแก่ที่ตั้งมานาน 30 ปี แต่กว่าเอ็มบีเคจะเดินมาไกลถึงวันนี้ ก็ผ่านมรสุมครั้งใหญ่มาแล้ว เดิมศูนย์การค้าแห่งนี้ก่อร่างสร้างมาด้วยน้ำมือ ศิริชัย บูลกุล เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2528 แต่จากการลงทุนศูนย์การค้าที่ต้องกู้ยืมเงิน ขณะที่ศูนย์การค้าเพิ่งเริ่มต้น รายได้ที่เข้ามายังไม่ดีนักต้องเผชิญภาวะการลดค่าเงินบาท จาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 28 บาท/เหรียญสหรัฐในเวลานั้น สุดท้ายจึงต้องเปลี่ยนมือสู่กลุ่มทุนใหม่

สุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค คือหนึ่งในกลุ่มผู้บริหารยุคกลุ่มทุนใหม่ที่มีโอกาสเข้ามาบริหารมาบุญครองตั้งแต่ปี 2532 หากจะเรียกว่าเป็นหนึ่งในมือปลุกปั้นมาบุญครองให้กลับมายืนผงาดได้อีกครั้งก็ไม่ผิด

สุเวทย์ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตนั้นครอบครัวทำร้านสุกี้นัมเบอร์วันมาก่อน สมัยที่ตนเองอายุ 12-13 ปี ก็เริ่มทำงานด้านบริหารแล้ว ด้วยการช่วยงานร้านสุกี้ของที่บ้านคุมคนในร้านตั้งแต่ยังใส่ชุดนักเรียนชั้นมัธยม กระทั่งโตขึ้นเรียนจบก็ได้ทำงานเป็นผู้บริหารตั้งแต่อายุ 30 ปี ถือว่าขึ้นสู่ตำแหน่งงานด้านบริหารได้เร็ว ส่วนหนึ่งเพราะได้ทำงานในบริษัทที่ไม่แข็งแรง มีปัญหา ทำให้มีโอกาสมากในการบริหาร ในทางกลับกัน หากเวลานั้นทำงานในบริษัทที่แข็งแรงอยู่แล้ว อาจจะไม่ได้ขยับขึ้นสู่งานด้านบริหาร เพราะบริษัทอาจมีคนเก่งๆ เป็นตัวเลือกมากกว่านี้

“ในชีวิตคนเราไม่ได้มีโอกาสเยอะแยะ และเมื่อมีสองทาง เราไม่สามารถมองอนาคตได้ว่า ถ้าเลือกทางนี้จะเป็นอย่างไร หรือถ้าเลือกทางนั้นจะเป็นอย่างไร เมื่อโอกาสมาต้องคว้าไว้ เพราะโอกาสไม่ได้อยู่ดีๆ ก็ลอยมาได้ ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลาเพื่อพาตัวเองไปกับโอกาสให้ได้” สุเวทย์ กล่าว

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านบริหารในบริษัทไม่แข็งแรง สุเวทย์ก็อยู่ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มทุนเก่าสู่กลุ่มทุนใหม่ของมาบุญครอง โดยเริ่มจากการเป็นผู้บริหารที่ดูแลทางด้านบัญชีและการเงิน จนกระทั่ง 13 ปีถัดมาจึงก้าวสู่ตำแหน่งปัจจุบัน

สิ่งที่ดำเนินการในยุคผู้ถือหุ้นใหม่หลังเปลี่ยนมือจากผู้ถือหุ้นเก่า คือ การจัดการปัญหาหนี้สิน กระทั่งทุกอย่างเริ่มอยู่ตัวในปี 2537 ก็นำมาบุญครองเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีชื่อย่อว่า MBK จากนั้นปี 2540 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่ถือเป็นโชคดีของมาบุญครองที่เวลานี้ธุรกิจเริ่มแข็งแกร่งขึ้นแล้ว ปี 2543 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจน โดยสุเวทย์รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค

ช่วงเวลานี้เอง สุเวทย์พร้อมผู้บริหารกลุ่มใหม่มาบุญครองจึงเริ่มมองหาการขยายธุรกิจอื่น เช่น การเข้าไปซื้อธุรกิจสนามกอล์ฟที่มีปัญหาอยู่ในเวลานั้นมาทำ ซึ่งสนามกอล์ฟที่ซื้อมาก็ยังมีที่ดินรอบๆ ด้วย จึงพัฒนาที่ดินเหล่านั้นขาย ขณะเดียวกันในเวลานั้นก็มีหนี้เสียเกิดขึ้นกับหลายธุรกิจ บริษัทก็เข้าไปซื้อมาบริหาร

สำหรับตัวศูนย์การค้ามาบุญครองเอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่กำลังซื้อคนไทยลดลง เนื่องจากเวลานั้นมีสัดส่วนลูกค้าคนไทย 80-90% ต่างชาติเพียง 10% เท่านั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องตีให้แตกว่าทำอย่างไรจะให้คนมาช็อปปิ้ง

เวลานั้นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากไปอยู่ในหลัก 40-50 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้ชาวต่างชาติที่มาไทยซื้อของได้ในราคาถูกลง เหตุผลนี้เองทำให้มาบุญครองหันมาโปรโมทดึงต่างชาติมาช็อปปิ้งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากสำหรับชาวต่างชาติในการเรียกหรือจดจำชื่อมาบุญครอง ดังนั้นจึงต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการนำชื่อย่อ เอ็มบีเค มาใช้สื่อสารกับชาวต่างชาติเพื่อให้จดจำง่ายขึ้น โดยที่ชื่อมาบุญครองก็ยังไม่ได้หายไปไหน เป็นชื่อที่คนไทยยังใช้เรียกติดปากกันอยู่

ปัญหาคือโอกาส ของ...‘สุเวทย์ ธีรวชิรกุล’

 

จากแผนสร้างการรับรู้ต่างชาติผ่านชื่อเอ็มบีเค ส่งผลให้สัดส่วนต่างชาติที่มาใช้บริการจากเดิมมีเพียง 10% ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน มีสัดส่วนถึง 50% แล้ว ซึ่งก็สร้างความท้าทายให้กับเอ็มบีเคว่าจะรักษาสมดุลสัดส่วนลูกค้าไทยและต่างชาติในระดับนี้ได้อย่างไร

เมื่อโฉมหน้าผู้ซื้อเปลี่ยนไปมาก จากคนไทยมาเป็นคนต่างชาติมากขึ้น ก็ส่งผลให้ธุรกิจร้านค้าที่เข้ามาเช่าพื้นที่ในเอ็มบีเคเพื่อขายสินค้าและบริการ ปรับเปลี่ยนสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวต่างชาติที่มากขึ้น ซึ่งกลายเป็นความท้าทายใหม่ในการรักษาสมดุลสินค้าและบริการในศูนย์การค้าที่นำเสนอคนไทยและต่างชาติ เพราะสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับผู้ค้าขายที่จะปรับเปลี่ยนไปตามแนวโน้มตลาดผู้ใช้บริการ

“แม้ปี 2540 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจแย่ แต่การบริหารงานมาบุญครองไม่ได้แย่ตามเศรษฐกิจ เพราะมุ่งเน้นโปรโมทต่างชาติมาใช้บริการ ทำให้มาบุญครองติดตลาดเอเชีย โดยเฉพาะฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย ส่วนตลาดอื่นที่นิยมมาช็อปปิ้ง เช่น ออสเตรเลีย และประเทศแถบตะวันออกกลาง” สุเวทย์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันเอ็มบีเคมีธุรกิจหลักทั้งหมด 6 ขาธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจศูนย์การค้า 2.ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว 3.กลุ่มธุรกิจกอล์ฟ 4.ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 5.ธุรกิจอาหาร 6.ธุรกิจการเงิน โดยในขาธุรกิจศูนย์การค้านั้น เอ็มบีเคก็ยังเดินหน้าขยายต่อผ่าน 2 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์แรกเป็นการบริหารเอง ซึ่งไม่ได้ให้น้ำหนักมาก และกลยุทธ์ที่ 2 คือ การเข้าไปถือหุ้นผ่านสยามพิวรรธน์ ซึ่งก็ทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจศูนย์การค้าได้มากผ่านช่องทางนี้ โดยไม่จำเป็นต้องไปขยายศูนย์การค้าเองซ้ำซ้อนในพื้นที่เดียวกัน

สุเวทย์ เล่าว่า เอ็มบีเคน่าจะเป็นศูนย์การค้าแห่งเดียวที่กล้าพูดได้เต็มปากว่าต่อรองราคาได้ เป็นเอกลักษณ์ที่ศูนย์การค้าอื่นคงทำได้ยาก คู่แข่งของเอ็มบีเคก็คงจะเป็นจตุจักร เพราะห้างที่ต่อรองราคาได้เหมือนเอ็มบีเคนั้นไม่ค่อยมี ขณะที่ร้านค้าที่เปิดในเอ็มบีเคไม่ต่ำกว่า 30-40% เป็นร้านค้าเก่าแก่ ในจำนวนนี้ 50-60% อยู่มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มาบุญครองเปิด เช่น บาจา อุดมเอก และร้านขายทองต่างๆ

หลังจากนี้ก็ตั้งใจว่าจะคงเอกลักษณ์นี้ของเอ็มบีเคไว้ต่อไป ขณะเดียวกันก็จะเสริมเรื่องความสะอาด สว่าง เดินสบาย ปลอดภัยให้กับเอ็มบีเคมากขึ้น เพื่อสร้างบรรยากาศให้เป็นศูนย์การค้าที่คนอยากมาเดิน ภาพรวมการตกแต่งมีชีวิตชีวาขึ้นเปลี่ยนไปตามรสนิยมของคน โดยกลางปี 2560 คงจะได้เห็นการตกแต่งเอ็มบีเคโฉมใหม่ที่สมบูรณ์แบบ หลังจากลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยงบกว่า 1,000 ล้านบาทตั้งแต่ปีนี้

แม้ว่าโดยรอบเอ็มบีเคจะมีศูนย์การค้าใหม่ๆ เปิดต่อเนื่อง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สุเวทย์รู้สึกกังวลกับการแข่งขัน เพราะอันที่จริงแล้วก่อนที่เอ็มบีเคจะก่อตั้ง ก็มีห้างสยามเปิดมาอยู่แล้ว สุเวทย์มองว่าการที่ศูนย์การค้าหลายๆ แห่งอยู่ในย่านเดียวกัน ก็เป็นการเกื้อหนุนกันและกัน เพราะคนที่มาเดินศูนย์การค้าในย่านนี้ก็อาจจะไม่เลือกเดินศูนย์การค้าแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่เดินหลายๆ ที่ในวันเดียว และแต่ละศูนย์การค้าก็มีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันไป

ด้านแนวทางการทำงานในเอ็มบีเค ตั้งแต่บริหารงานมาก็ต้องยอมรับว่าเผชิญกับปัญหาหลากหลายด้าน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการมองทุกอย่างให้เป็นไปได้ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นก็ตาม เวลามองหาทางแก้ปัญหาต่างๆ จะไม่ปิดกั้นทางใดทางหนึ่ง ต้องคิดให้รอบคอบทุกประเด็น มองทุกทางว่าเป็นไปได้หมด

จะเห็นได้ว่าโอกาสมักจะมาพร้อมกับความท้าทายเสมอแต่หากพร้อมรับโอกาสและจัดการกับความท้าทายได้ โอกาสที่จะขึ้นสู่จุดสูงที่สุดก็ไม่ไกลเกินเอื้อม