posttoday

ไขปริศนา อะไรทำให้ยักษ์ใหญ่ยุคน้ำแข็งสูญพันธุ์?

11 ตุลาคม 2558

ในช่วงท้ายยุคน้ำแข็งแมมมอธตัวสุดท้ายได้ล้มลงและปิดฉากเผ่าพันธุ์ของพวกมันไปตลอดกาล

ในช่วงท้ายยุคน้ำแข็งแมมมอธตัวสุดท้ายได้ล้มลงและปิดฉากเผ่าพันธุ์ของพวกมันไปตลอดกาล ไม่เพียงแค่แมมมอธเท่านั้น แต่สัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ อย่างเช่น สลอธยักษ์ หรือแรดมีขน ต่างก็สูญพันธุ์ไปในเวลาใกล้เคียงกัน อะไรทำให้ยักษ์ใหญ่แห่งยุคน้ำแข็งต้องมาสูญพันธุ์อย่างกะทันหัน? นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจเกิดจาก 4 ปัจจัย แต่บัดนี้นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์กเชื่อว่าเขาได้ค้นพบฆาตกรตัวจริงแล้ว

สัตว์อย่างหมีและสลอธในโลกยุคปัจจุบันคงต้องตื่นตาตื่นใจ หากได้พบกับญาติของพวกมันจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดที่มีชื่อว่า “ยุคน้ำแข็งไวช์เซล” (Weichsel ice age) เมื่อราว 11,500-115,000 ปีก่อน สัตว์พวกนี้มีขนาดใหญ่ยักษ์ อย่างเช่น หมี Arctodussimus มีความสูงถึง 3.5 เมตร และสลอธยักษ์ Megatherium ก็สูงได้ถึง 6 เมตร หากเปรียบเทียบกับปัจจุบันแล้ว โลกในอดีตก็เหมือนกับสวนสัตว์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ขนาดใหญ่ อย่างเช่น แมมมอธ วอมแบตยักษ์ แรดมีขน สลอธยักษ์ กวาง บีเวอร์ จิงโจ้ และช้างอีกหลายสปีชีส์ แต่แล้วในยุคน้ำแข็งซึ่งประกอบด้วยช่วงที่เย็นและอบอุ่นสลับกัน สัตว์ขนาดใหญ่เหล่านี้กลับค่อยๆ สูญพันธุ์ “การสังหารหมู่” ยุคก่อนประวัติศาสตร์นี้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อราว 4 หมื่นปีก่อน และอยู่ในจุดสูงสุดเมื่อราว 1 หมื่น-1.3 หมื่นปีที่แล้ว

ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพยายามไขปัญหาลึกลับว่าด้วยการสูญพันธุ์ของสัตว์ขนาดใหญ่แห่งยุคน้ำแข็ง พวกเขาได้วางตัวผู้ต้องสงสัยไว้หลายสาเหตุด้วยกัน แต่ในปัจจุบัน เอสเก วิลเลอร์สเลฟ (Eske Willerslev) นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการชาวเดนมาร์ก และทีมนักวิทยาศาสตร์ของเขา เชื่อว่าตัวอย่างดินจากทวีปอาร์กติกเป็นเบาะแสชี้ตัวฆาตกรให้กับเขาเรียบร้อยแล้ว

มนุษย์

บรรพบุรุษของเราคือมือสังหาร บรรพบุรุษของเราคือนักล่าและผู้ชื่นชอบการกินเนื้อ พวกเขาเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับต้นๆ ก่อนหน้าการมาถึงของมนุษย์เมื่อราว 11,500 ปีก่อน สัตว์ขนาดใหญ่แห่งทวีปอเมริกาเหนืออย่างแมมมอธ ม้าป่า และกวางยักษ์ ไม่เคยรู้จักนักล่าสองขาอย่างมนุษย์มาก่อน ทางตอนใต้ของแผ่นน้ำแข็งใหญ่เป็นถิ่นอาศัยที่พวกมันใช้ชีวิตอย่างสงบสุขร่วมกับหมียักษ์และเสือเขี้ยวดาบ

แต่แล้ววันหนึ่ง มนุษย์ก็อพยพข้ามช่องแคบเบริง (Bering Strait) ที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งและเข้ามาอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ การอพยพครั้งนี้ได้ให้กำเนิดแหล่งวัฒนธรรมโคลวิส (Clovis culture) ซึ่งเป็นชุมชนของมนุษย์ที่มีนักล่าสัตว์ใหญ่มือฉมัง พวกเขามีแท่งไม้สำหรับขว้างหอก (Atlatl) ที่ทำให้สามารถโจมตีได้รวดเร็วยิ่งกว่าการปาหอกแบบธรรมดา ปลายหอกที่ทำจากหินมีคมสามารถทิ่มทะลุผิวหนังของสัตว์ใหญ่ได้ โบราณวัตถุจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นของพวกโคลวิสแสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันรุ่นแรกนี้กินเนื้อแมมมอธช้าง ม้า และอูฐเป็นอาหาร เมื่อสัตว์ขนาดใหญ่เหล่านี้ต่างสูญพันธุ์กันหมด แหล่งวัฒนธรรมโคลวิสก็สูญสลายไปด้วย อย่างไรก็ตามบรรพบุรุษของเราได้อพยพสู่ทิศใต้ และในห้วงเวลา 1,000 ปี พวกเขาก็เดินทางถึงจุดต่ำสุดของทวีปอเมริกาใต้ ช่วงเวลานี้เช่นเดียวกันที่สัตว์ขนาดใหญ่อย่างโทโซดอน (Toxodon) และกลิปโตดอน (Glyptodon) หรืออาร์มาดิลโลยักษ์ พากันสูญพันธุ์

มนุษย์อาจไม่ใช่ตัวการ

แม้ว่าจะมีหลักฐานสนับสนุน แต่ทฤษฎีนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากนักวิทยาศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้ พวกเขามองว่าหลักฐานที่ใช้ในการสนับสนุนว่าการอพยพ
ของมนุษย์เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์ขนาดใหญ่นั้นยังอ่อนเกินไป แม้นักโบราณคดีจะพบหอกที่ทำจากหินฝังอยู่ในซากกระดูกของแมมมอธและไบซัน แต่หลักฐานประเภทนี้มีการค้นพบในแหล่งชุมชนยุคน้ำแข็งเพียง 14 แห่งของทวีปอเมริกาเหนือเท่านั้น ที่สำคัญหลักฐานเกี่ยวกับการกินอาร์มาดิลโลยักษ์ หมี หรือสลอธโดยมนุษย์ก็ยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน

เชื้อโรค

จุลชีพขนาดจิ๋วคร่าเผ่าพันธุ์ยักษ์หลังจากที่ทฤษฎีการฆ่าล้างอย่างล้นเกินได้รับการเสนอสู่สาธารณะ นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเริ่มสร้างทฤษฎีที่ว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ถูกสังหารโดยฆาตกรที่มีขนาดเล็กกว่ามนุษย์มาก และพวกมันก็คือไวรัสและแบคทีเรียซึ่งก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่

ผู้สนับสนุนทฤษฎีใหม่นี้มองว่าการอพยพของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับการสูญพันธุ์ของสัตว์เช่นเดียวกับทฤษฎีการฆ่าอย่างล้นเกินโดยมนุษย์ แต่พวกเขาเห็นว่าอาวุธที่มากับมนุษย์ไม่ใช่หอก แต่เป็นเชื้อโรค เช่น สุนัขของมนุษย์มีโรคสุนัขบ้า หนูเป็นพาหะของกาฬโรค อย่างไรก็ตามผลการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ไม่พบหลักฐานการติดเชื้อโรคข้างต้นแต่อย่างใด นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งโต้แย้งว่าโรคไม่ควรส่งผลแค่สัตว์ใหญ่ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมทวีปออสเตรเลียและอเมริกาจึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ไม่เกิดอย่างเดียวกันในทวีปแอฟริกา ในที่สุดทฤษฎีที่ว่าเชื้อโรคเป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์จึงถูกละทิ้งไปในที่สุด

อุกกาบาต

การพุ่งชนที่กวาดล้างทั้งเผ่าพันธุ์ในปี 1960 แวนซ์ เฮย์เนส (Vance Haynes) นักโบราณคดีชาวอเมริกันค้นพบชั้นหินสีดำตามแนวแม่น้ำของแอริโซนา ชั้นหินนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างอีกทฤษฎีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่าสัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์เพราะอุกกาบาตชนโลก (overgrill theory)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อสัตว์สูญเสียแหล่งอาหาร หนึ่งในตัวการที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้งก็คือ สภาพภูมิอากาศ ตลอดทั้งยุคน้ำแข็ง สัตว์อย่างแรดมีขน ไบซัน และช้าง ต่างก็ต้องพบกับความหนาวเย็นของน้ำแข็งที่แปรเปลี่ยนที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ให้กลายเป็นทุ่งน้ำแข็งสุดลูกหูลูกตา พอถึงช่วงอากาศอบอุ่น มวลน้ำแข็งก็จะละลายและความชื้นในอากาศก็เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเช่นนี้รบกวนวิถีชีวิตของสัตว์ หากพวกมันไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะต้องชดใช้ด้วยชีวิต นี่คือคำอธิบายง่ายๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้สัตว์ขนาดใหญ่สูญพันธุ์ได้อย่างไร หรือทฤษฎีที่ว่าด้วยความหนาวเย็นเป็นตัวการที่ฆ่าสัตว์เหล่านี้ (overchill theory)

ผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอชี้ตัวการคือ ‘ภูมิอากาศ’

เมื่ออุณหภูมิอบอุ่นขึ้น พืชชนิดที่อุดมไปด้วยโปรตีนและเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ในยุคน้ำแข็งกลับหายสาบสูญไปด้วย ข้อสรุปนี้ได้มาจากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของตัวอย่างดินในทวีปอาร์กติก

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่นำโดย เอสเก วิลเลอร์สเลฟนักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ได้ร่วมกันสร้างแผนที่ยุคน้ำแข็งแสดงถิ่นอาศัยของสัตว์และพืชในทวีปอาร์กติก

นักวิทยาศาสตร์ไม่เพียงเก็บตัวอย่างจากซากสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเมื่อ 5 หมื่นปีก่อน แต่พวกเขายังศึกษารูปแบบของพืชพรรณและการผันแปรของอุณหภูมิในภูมิภาคนี้อีกด้วยจากการวิเคราะห์ผลข้างต้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างแผนที่แสดงบริเวณที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งสอดคล้องกับการกระจายตัวของสัตว์ที่ได้จากฟอสซิล