posttoday

คาดไม่ถึง…

04 ตุลาคม 2558

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่เคยโดนลูกตั้งคำถามแบบคาดไม่ถึง จนไม่รู้จะตอบอย่างไร หรืออธิบายไปแล้วแต่หวั่นใจ

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว [email protected]

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่เคยโดนลูกตั้งคำถามแบบคาดไม่ถึง จนไม่รู้จะตอบอย่างไร หรืออธิบายไปแล้วแต่หวั่นใจเจ้าตัวน้อยจะเข้าใจหรือไม่

ทันทีที่เขาลืมตาดูโลก ทุกสิ่งทุกอย่างคือสิ่งแปลกใหม่ซึ่งไม่เคยประสบเจอ ทั้งภาพ วัตถุ สิ่งของ ส่งผ่านสายตาบรรจุเข้าสู่สมองอย่างต่อเนื่องตามพัฒนาการของวัยแห่งการเรียนรู้

คนอยู่ใกล้ชิดเขามากที่สุด จึงไม่ต่างกับห้องสมุดเคลื่อนที่คอยให้บริการข้อมูล โดยเฉพาะหนูน้อยขี้สงสัยถามได้ทุกสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มนั่งรถออกจากบ้าน ผ่านป่าเขาลำเนาไพรไปถึงชายทะเล

คำถามขั้นพื้นฐาน “พ่อนี่อะไร” “หนูทานได้มั้ย” กระทั่งไต่ระดับคำถาม “ปลาปีนต้นไม้ได้หรือเปล่า!?!” โอ้ว...มายก๊อด

บางเรื่องผู้ใหญ่ผ่านประสบการณ์มามากมั่นใจในคำตอบว่าเป็นไปไม่ได้ โดยที่เรากำลังมองข้ามจินตนาการของเด็ก เพราะสิ่งที่เขาถามกลับเป็นจริงก็มีอย่างไม่น่าเชื่อ

คนเป็นพ่อเป็นแม่จึงต้องเปิดรับจินตนาการพร้อมร่วมผจญภัยไปในโลกของเด็ก

ขณะที่บางครอบครัว พอลูกถามซ้ำไปซ้ำมา พ่อแม่ชักหงุดหงิดตวาดกลับ “หยุดพูดได้แล้ว” “ไม่มีจริงหรอก” ซึ่งหารู้ไม่ว่ากำลังปิดประตูความคิดของลูกโดยไม่รู้ตัว อีกอย่างจะทำให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจในยามที่เขาต้องเผชิญกับผู้คนหลากหลายในสังคม

อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวไว้ พ่อแม่เปรียบเหมือนครูคนแรก เพราะลูกได้รับชุดข้อมูล คำแนะนำสั่งสอนจากพ่อแม่เป็นลำดับแรก แต่เมื่อเขาเริ่มได้รับการศึกษา อ่านออกเขียนได้ เกิดกระบวนการเรียนรู้ คราวนี้ละพ่อแม่ต้องเตรียมทำการบ้านหาคำตอบมากขึ้นกว่าเดิม

จากประสบการณ์ ครั้งหนึ่ง “ลูกน้ำผึ้ง” เคยถามพ่อตามประสาวัยไร้เดียงสา “ทำไมพระพุทธเจ้าไม่โกนผม” ทำเอาอึ้งไปเลย ครั้นจะให้ไปถามพระภิกษุ ณ วัดใกล้บ้านก็กระไรอยู่ อีกอย่างไม่ใช่ผู้รอบรู้ทุกด้านซะด้วย จะตอบอย่างไรดี

หากตอบว่า “พ่อไม่รู้ครับ” ดูจะเป็นการตัดบทในสิ่งที่เขากำลังสงสัยเอามากๆ จนเกินไป จึงควรมีเทคนิคในการตอบ เช่น ยกเหตุผลการไม่โกนผมเพราะอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า จากนั้นแนะนำให้เจ้าตัวเล็กไปหาข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรแน่ช่วยมาบอกพ่อด้วย ซึ่งเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้เด็กได้ค้นคว้าหาความรู้

อย่ามองข้ามความสนใจของเขานะครับ เพราะเรื่องบางเรื่องจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาภายภาคหน้า ตัวอย่างเช่น เมื่อเขาอ่านหนังสือรามเกียรติ์ จู่ๆ มีคำถามอีกแล้ว “รณพักตร์คือใคร” พ่อไปไม่เป็นเช่นเดิม คิดไม่ถึงว่าลูกให้ความสนใจวรรณกรรมระดับลงลึกขนาดนั้น จำต้องสวมบทนั่งไทม์แมชีนไปเป็นนักเรียน พลิกตำราหาอ่านวงศ์วานยักษ์จนถึงบางอ้อ คือ “ยักษ์อินทรชิต” นั่นเอง

คำถามคาดไม่ถึงเกิดขึ้นเสมอ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องหาคำอธิบายไม่ควรปล่อยผ่านหรือเอาอารมณ์เป็นตัวตั้ง บอกปัดท่าเดียวก็ดูจะทำลายความตั้งใจเขาไปโดยพลัน

แม้คำตอบนั้นไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ถึงขั้นคว้ารางวัลห้องสมุดเคลื่อนที่ดีเด่น แต่ขอให้ตอบไปเถิดเพื่อเป็นการสร้างสัมพันธภาพความอบอุ่นสนุกสนานในครอบครัว

เพราะในวันที่ลูกเติบโตขึ้น เกิดหลงเดินไปในทางผิด อาจมีคำถามคาดไม่ถึง “ทำไมหนูเป็นอย่างนี้ พ่อแม่เคยสนใจหนูบ้างมั้ย” ถึงวันนั้นเราอาจหาคำตอบมาอธิบายไม่ทันก็ได้