posttoday

2 เยาวชนไทย เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

21 กันยายน 2558

เยาวชนไทยก็มีศักยภาพเก่งไม่แพ้เยาวชนจากชาติใดๆ ในโลก

โดย...วราภรณ์ / พุสดี

เยาวชนไทยก็มีศักยภาพเก่งไม่แพ้เยาวชนจากชาติใดๆ ในโลก เช่นสองเด็กไทยคนเก่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ พล-พลพิช์วรรธ ณ สงขลา เด็กหนุ่มวัยเพียง 15 ปี ล่าสุดสามารถไปชนะเลิศการประกวดในระดับนานาชาติ World Championships of Performing Arts ครั้งที่ 19 จัดที่สหรัฐอเมริกา เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย หรือเรียกว่า Talent Olympics และกวาดรางวัลมาได้มากถึง 5 รางวัลเหรียญทอง และอีก 3 รางวัลเหรียญเงิน นับเป็นเด็กไทยคนที่ 2 ที่เคยชนะเลิศรางวัลในการแข่งขันรายการนี้

ส่วนหญิงสาวอีกคน หลอดไฟ-นวินดา วรรธนะโกวิทท์ ปัจฉิมสวัสดิ์ นักเต้นสาวที่กวาดรางวัลจากเวทีการเต้นระดับโลกมาแล้วมากมาย ทั้งยังเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่คว้ารางวัลคะแนนรวมบุคคลสูงสุด (Aggregate Cup) จากการแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 11 และล่าสุด เธอเพิ่งเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับทุน Dance Web และเป็น 1 ใน 3 ของชาวเอเชียที่ได้เข้าร่วมเทศกาล Impulstanz หรือ Vienna International Dance Festival เทศกาลศิลปะการเต้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

แต่กว่าที่สองเยาวชนไทยจะก้าวไปคว้าความสำเร็จ ต้องพบอุปสรรคและฝึกฝนตนเองแค่ไหน...ไปติดตาม!

2 เยาวชนไทย เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

เต้นเปลี่ยนชีวิต

หลอดไฟ-นวินดา วรรธนะโกวิทท์ ปัจฉิมสวัสดิ์ สาวเก่งนักเต้นที่กวาดรางวัลจากเวทีการเต้นระดับโลกมาแล้วมากมาย โชว์ฝีมือเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “Dance For Tomorrow ในการแข่งขันที่ประเทศฟิลิปปินส์

“กว่าจะถึงวันนี้ หนูก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่เคยหลงทาง เคยขอคุณแม่เลิกเต้น เพราะเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจ เรียนเท่าไหร่ก็ไม่ถึงจุดที่ดีพอ เพราะการเต้นต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ จนพออายุ 15 ปี คุณแม่หักดิบจับเข้าโครงการ ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดเด็กที่เต้นไปสู่สายอาชีพ โครงการนี้เปลี่ยนมุมมองความคิดหลอดไฟไปหลายอย่าง หลังจากเทรนเต้นสัปดาห์ละ 15 ชั่วโมง หลอดไฟได้รู้จักร่างกายตัวเองในแบบที่ไม่เคยรู้มาก่อน จากที่เรียนเต้นมาตั้งแต่เด็ก ยกขาได้ 90 องศา เพราะเทรนในโครงการนี้ปีเดียวหลอดไฟยกขาได้ 180 องศา ช่วงนั้นมันเหมือนเราได้ค้นพบตัวเอง เจอที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ”

จากจุดเริ่มต้นที่หันมาเห็นคุณค่าของการเต้นของตัวเอง ทำให้หลอดไฟเริ่มพาตัวเองเข้าสู่สนามแข่งในเวทีต่างประเทศ ทั้ง ออสเตรเลีย ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ หลอดไฟบอกว่าเคยไปแข่งโครงการหนึ่ง ซึ่งเธอลงแข่งในการเต้นหลายประเภท ปรากฏว่า 7 ประเภทแรกที่ลงแข่ง เธอพบกับความพ่ายแพ้ทั้งหมด ถามว่าเศร้ามั้ย หลอดไฟบอกว่าแน่นอน แต่เธอก็ยังมีวิญญาณนักสู้ สู้จนถึงการแข่งขันการเต้นประเภทที่ 8 ปรากฏว่าเธอได้รางวัลชนะเลิศ

“สำหรับหลอดไฟ ถามว่ารางวัลไหนคือรางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุด หลอดไฟยกให้ 7 รางวัลที่หลอดไฟไม่ได้นะ เพราะมันสอนให้เรากัดไม่ปล่อยในสิ่งที่เราทำ หลังจากได้รางวัลที่ 8 มา จากนั้นหลอดไฟก็แข่งขันรายการต่างๆ มาเรื่อยๆ ได้รางวัลมาตลอด จนกระทั่งเพื่อนที่ออสเตรเลียแนะนำให้ลองไปสมัครชิงทุนที่ออสเตรีย ซึ่งทุนนี้ถือว่าเป็นที่สุดสำหรับนักเต้นร่วมสมัย (Contemporary Dance) เพราะคอร์สนี้มีเงินอย่างเดียวเรียนไม่ได้ ต้องได้ทุนเท่านั้นตอนที่ยื่นใบสมัคร เพื่อนก็เตือนนะว่ายากหน่อย แต่หลอดไฟก็อยากลอง ทำเต็มที่ แต่ละปีจะมีนักเต้นทั่วโลกราว 3,000-40,000 คน ขอทุน แต่จะคัดเหลือ 60 คน”

2 เยาวชนไทย เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

หลอดไฟ บอกว่า ใช้เวลาร่วม 4 เดือน กว่าจะรู้ผลว่าได้ทุน ตอนที่ได้รับอีเมลตอบกลับ เธอบอกว่าแทบช็อก แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะทุนนี้จะมอบเงินแค่ 3 ใน 4 ของทุน อีกส่วนหนึ่งต้องให้ศิลปินไปขอสปอนเซอร์จากในประเทศของตัวเอง เพราะเขารู้ว่าวันหนึ่งเมื่อเราเป็นศิลปินเต็มตัวก็ต้องไปขอสปอนเซอร์สำหรับทำการแสดงเหมือนกัน เลยฝึกตั้งแต่ตอนนี้ ตอนนั้นหลอดไฟเลือกไปขอทุนที่กระทรวงวัฒนธรรม

“หลอดไฟไปคนเดียวเลย เราต้องพิมพ์จดหมายอธิบายเหตุผลการขอทุนเป็นภาษาไทย ด้วยความที่เราเรียนอินเตอร์มา พิมพ์ภาษาไทยไม่ถนัด แต่หลอดไฟก็ตั้งใจ ค่อยๆ พิมพ์ ค่อยๆ ทำไป จนในที่สุดก็ใช้ความจริงใจของเราจนได้ทุนมา และได้มีโอกาสบินไปเทรนมา 1 เดือนเต็ม ได้ประสบการณ์และคอนเนกชั่นใหม่ๆ มากมาย”

ในฐานะผู้ที่ผ่านการแข่งขันมาหลายเวที หลอดไฟ ย้ำว่า การแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเรามองว่าใช้เพื่อพัฒนาตัวเอง ไม่ได้มองว่าใช้ตัดสินคุณค่าของตัวเองว่าดีหรือไม่ดี ที่สำคัญหลอดไฟมองว่า ไม่ควรเอารางวัลที่ได้มาปิดกั้นโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไปของตัวเอง

“ในอนาคตหลอดไฟตั้งเป้าว่าจะพัฒนาวงการศิลปะการเต้นของไทยให้เท่าเทียมกับที่ตัวหลอดไฟได้สัมผัสประสบการณ์จากประเทศ เด็กไทยเรายังมีโอกาสมากมายในเวทีโลก เพียงแต่ตอนนี้ศิลปะการเต้นอาจยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับหรือส่งเสริมมากในไทย แต่หลอดไฟอยากเป็นส่วนหนึ่งช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาในวงการนี้ต่อไป”

2 เยาวชนไทย เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

งานประกวด ทาเลนต์ โอลิมปิก

พลพิช์วรรธ นักเรียนชั้นเยียร์ 11 โรงเรียน Harrow International School Bangkok เล่าถึงการแข่งขัน World Championships of Performing Arts ว่าเป็นการแข่งขันสไตล์โอลิมปิก มีตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 50 ประเทศ และจัดมายาวนานที่ฮอลลีวู้ด รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นการแข่งขันนานาชาติที่รวบรวมการร้องเพลง การแสดง การเต้น ที่ใหญ่ที่สุด มีกรรมการเป็นศิลปินและผู้เชี่ยวชาญในวงการบันเทิงระดับโลกมากมาย แบ่งการแข่งขันออกเป็น 13 ประเภท คือ Broadway, Contemporary, Country, Gospel, Open, Opera, Pop, R & B, Soul, Jazz, Rock, Variety, World music

การแข่งขันการแสดงและการเต้นมีการแยกย่อยรายประเภทเช่นกัน มีผู้เข้าร่วมการคัดเลือกทั่วโลกนับหมื่นคน และผ่านเข้ามาสู่การแข่งขันประมาณ 500 คน โดยแบ่งเป็นผู้แข่งขันระดับจูเนียร์และระดับซีเนียร์ การแข่งขันชิงชัยเหรียญทองมีในแต่ละประเภทย่อยสำหรับแต่ละระดับช่วงอายุ และมีการชิงตำแหน่งชนะเลิศในแต่ละประเภท Overall Winners ระดับจูเนียร์และซีเนียร์ นอกจากนี้ มีการแข่งขันคัดเลือกผู้ที่โดดเด่นที่สุดจากทั้งหมดไปแข่งขันกันในรอบ Grand Finals เพื่อชิงตำแหน่ง Grand Champion Performer of the World 

บรรยากาศและความกดดัน

“เหตุผลหลักในการอยากเข้าประกวดครั้งนี้ คือ ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนคนไทยไปแข่งขันที่มีเกียรติระดับโลก และเป็นการบุกเบิกการแข่งขันให้ประเทศไทย เพราะประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีความแข็งแกร่งและเอาจริงเอาจังมาก เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากทางการด้วย แต่ผมก็ถือว่าโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ ThaiBevThaiTalent โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ที่ส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่สามารถเป็นบุคคลต้นแบบได้สามารถสานฝันไปเวทีระดับโลก และถ่ายทอดแรงบันดาลใจต่อให้ผู้อื่นได้” พลพิช์วรรธ บอกถึงความภาคภูมิใจ

สำหรับบรรยากาศการแข่งขัน 10 วัน คล้ายกีฬาโอลิมปิก คือ แต่ละประเทศจะมาพร้อมกันทั้งนักกีฬาและโค้ชจากทุกมุมโลก ในวันพิธีเปิดมีการจัด Parade of Nations เดินไปในเส้นทางหลักของลองบีช ซึ่งพลและครอบครัวได้พยายามเต็มที่ในการนำเสนอภาพลักษณ์ความเป็นไทยให้คนได้เห็น

2 เยาวชนไทย เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

“ก่อนการแข่งขันจริงจะมีการเข้าบูธแคมป์โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของฮอลลีวู้ดและนิวยอร์กมาแนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะชนะเลิศการประกวด ซึ่งครูแนะนำว่าความสำคัญของศิลปินในการถ่ายทอดอารมณ์และความหมายของงานแต่ละชิ้น การแข่งขันจำกัดเวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น (เกินตัดคะแนน) ถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ศิลปินต้องนำเสนอเรื่องราวของเพลง ไม่ใช่เพียงแค่โชว์พลังอย่างเดียว”

สำหรับรางวัล 5 เหรียญทอง ประเภทอายุ 13-15 ปี ได้แก่ Pop, Contemporary, R & B, Soul, Jazz, Rock และ Variety กับอีก 3 รางวัลเหรียญเงิน ฯลฯ ซึ่งกว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย เขาต้องใช้เวลาเตรียมตัวและฝึกซ้อมนาน 3 เดือน และฝึกหนักช่วง 1 เดือนสุดท้าย ฝึกฝนตนเองอย่างหนัก

“เหรียญทองเหรียญที่ผมคิดว่าท้าทายที่สุดสำหรับผมคือ อาร์แอนด์บี เพราะเป็นแนวผมไม่ถนัดเลย แต่ผมต้องทำ เพลงที่ผมเลือกไปแข่งคือ When I was your man ของบรูโน มาร์ส ซึ่งผมคิดว่าสร้างความตราตรึงให้กับผู้ชมอย่างมาก ส่วนเพลงป๊อปที่ได้มาก็ตื่นเต้น เพราะเป็นแนวเพลงที่คนส่งเข้าประกวดมากที่สุด ผมเลือกเพลง This the moment เป็นเพลงละครบรอดเวย์ที่ดัดแปลงแล้ว ซึ่งคณะกรรมการชอบมากๆ”

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจกว่านั้นคือ ประเทศไทยได้รับการประกาศชื่อเป็น 1 ใน 5 นักร้องจูเนียร์เจ้ารอบ Grand Finals ซึ่งน่าภูมิใจมาก เพราะประเทศอื่นๆ ทั่วโลกขนกันมาแบบจัดเต็ม และเป็นครั้งแรกของคนไทยที่นำธงชาติขึ้นเวที Grand Finals ได้ ปีนี้คือ ไทย แคนาดา ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา และเชก การประกาศรางวัลเหรียญทองมีขึ้นในวันสุดท้าย ซึ่งพลทำชื่อเสียงให้กับไทย จากที่ลงแข่ง 8 ประเภท สามารถคว้า 5 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และยังคว้าตำแหน่ง Overall Winner ของจูเนียร์ ใน 4 ประเภทที่ลงแข่งขัน เป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่มีผู้ชื่นชมมาก รวมถึงกิริยาการไหว้บนเวที การแต่งกายที่เหมาะสม การผูกมิตรภาพกับประเทศต่างๆ

อุปสรรคและสิ่งที่ได้เรียนรู้

พลพิช์วรรธ เล่าถึงอุปสรรคในการแข่งขันที่เด็กไทยวัยเพียง 15 ปี ต้องเผชิญ คือเขาไม่รู้ว่าคู่ต่อสู้จะร้องเพลงแบบไหนหรือร้องสไตล์อะไร เวลาแข่งขันจึงจำเป็นต้องดึงจุดเด่นของเราเพื่อให้เราแตกต่างจากคนอื่น

“ครั้งนี้ถือเป็นการประกวดระดับนานาชาติครั้งแรกของผม ดังนั้นประสบการณ์มีไม่เท่าคนที่โตกว่า ทำให้ผมรู้สึกตื่นสถานที่ระดับโลก ก็รู้สึกตื่นเต้นและหวาดๆ ว่าเราจะทำได้ไหม แต่ก็ได้กำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ และต้องเอาชนะความรู้สึกนี้ ด้วยการรวบรวมสมาธิให้อยู่กับตัวเอง และบอกกับตัวเองว่าเราต้องทำได้ เราต้องประสบความสำเร็จในรายการนี้ให้ได้ ความหวาดกลัวก็จะหายไป”

อย่างไรก็ดี  พลพิช์วรรธเห็นด้วยว่าเด็กไทยก็เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลกนั้นเป็นเรื่องจริง สังเกตจากเด็กไทยชนะเลิศในเวทีทั้งแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก การแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์มากมาย แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าไปสู้กับคนอื่น หากคนไทยมีความกล้าและเชื่อมั่นในตัวเองก็จะทำได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องศึกษาเวทีที่เราจะไปประกวดว่าผู้ชนะเลิศใช้วิธีร้องสไตล์ไหนนำเสนอบนเวที คิดวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง หาครูช่วยคอยแนะนำ ฝึกฝนเตรียมความพร้อมก่อนแข่งให้ดี