posttoday

‘เกรียงไกร แจ้งสว่าง’ ศิลปินกระสอบริมฝั่งโขง

29 สิงหาคม 2558

กวีชื่อดังชาวฝรั่งเศส ฌัง เดอ ลา ฟงแตนให้ความหมายของ “ศิลปะ” ว่าเป็น “บุตรแห่งความจำเป็น”

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

กวีชื่อดังชาวฝรั่งเศส ฌัง เดอ ลา ฟงแตนให้ความหมายของ “ศิลปะ” ว่าเป็น “บุตรแห่งความจำเป็น” ขณะที่บรมครูผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปะร่วมสมัยของไทยอย่าง ศ.ศิลป์ พีระศรี กล่าวไว้ว่า ศิลปะคืองานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิด

อาจไม่ใช่สัจนิรันดร์ แต่ความจริงเหล่านั้นล้วนสัมบูรณ์

ระยะเวลาร่วม 10 ปี ของ เกรียงไกร แจ้งสว่างโลดแล่นบนเส้นทางการพัฒนาชุมชน ความชัดเจนประจักษ์แก่หัวใจของเขาในช่วงท้ายของการเรียนระดับปริญญาตรีและจนถึงวันนี้ไม่เคยขุ่นมัว หรือเกิดความคลุมเครือในเส้นทางที่เขาเป็นผู้เลือกเลยแม้แต่น้อย

ปัจจุบัน “เกรียงไกร” เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการสนามเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ทำงานเชิงข้อมูล-วิชาการอยู่เบื้องหลัง แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักเขาในนามนักพัฒนา 

ทว่า ชาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย กลับโจษจันเขาในฐานะ“ศิลปินกระสอบ” และหนึ่งในสมาชิกกลุ่มหลืบผา กลุ่มกิจกรรมหนุ่มสาวผู้สรรค์สร้างงานศิลปวัฒนธรรม

มุมสงบเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง บริเวณชายขอบ ต.เวียง อ.เชียงของ เป็นที่ตั้งของ “โฮงเฮียนแม่น้ำของ” สำหรับ “เกรียงไกร” แล้ว นั่นเป็นทั้งสถานที่พำนักอาศัย สถานที่ทำงานวิชาการ และสถานที่รังสรรค์ผลงานศิลปะอันราบเรียบ

“พื้นที่แห่งนี้ได้เปรียบมาก ทำให้ผมได้เจอคนที่หลากหลายมีครูเยอะ ทั้งนักเขียน นักดนตรี กวี นักร้อง นักข่าว นักอนุรักษ์นักคิด นักพัฒนา ผมมีโอกาสได้สัมผัสและได้เรียนรู้จากเขา และครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสทำงานภาคสนามและต้องไปอยู่กับอาจารย์เชิด สันดุษิต และชาคริต เมรุทอง ทั้งคู่เป็นผู้สอนทักษะการวาดภาพ จึงนับว่าท่านทั้งสองเป็นอาจารย์”

กระสอบข้าวสารมือสอง ซึ่งซื้อหาได้จากร้านชำในตัวเมือง ถูกขึงเข้ากับท่อนไม้กลายเป็นเฟรมวาดภาพ “เกรียงไกร” ใช้พู่กันแต้มสีดำ ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดลงบนผืนผ้าสีน้ำตาลอ่อน

“กระสอบเป็นวัสดุธรรมชาติ มันมีเรื่องราวและความเหมาะสมอยู่ในตัวเอง กระสอบเป็นตัวแทนของกรรมกร กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกระสอบยังมีความหมายในเชิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือเป็นที่ใส่ข้าว และข้าวคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับมนุษย์เรา”

แรกเริ่มศิลปินหนุ่มวัย 30 เศษรายนี้ เลือกวาดภาพบุคคลต้นแบบที่ตัวเองศรัทธา ซึ่งล้วนแต่เป็นนักคิด-นักเขียน นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม แต่ในระยะหลังผลงานของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นเริ่มเป็นที่ต้องการของคนใน อ.เชียงของ มิตรสหายหลายรายจึงแนะนำให้เขาวาดภาพเหมือนอื่นๆ นอกเหนือจากนักต่อสู้เพียงอย่างเดียว

‘เกรียงไกร แจ้งสว่าง’ ศิลปินกระสอบริมฝั่งโขง

 

เมื่อรู้ว่าตัวเองชอบ ทำแล้วมีความสุข ก็ฝึกปรือฝีมือตัวเองมาตลอด คาดว่าในระยะเวลา 2 ปี วาดภาพไปแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ภาพ

นอกเหนือจากผลงานภาพกระสอบแล้ว “เกรียงไกร” เป็นส่วนหนึ่งของ “กลุ่มหลืบผา” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องของความสุขและความสนุก เป็นกลุ่มจิตอาสาที่มีความหลากหลาย มีทั้งนักดนตรี ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ ช่างสัก หน่วยกู้ชีพกู้ภัย ฯลฯ

“หลืบผาก็เหมือนกับชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ตามชายขอบ อยู่ในซอกในหลืบ แต่เมื่อรวมตัวกันแล้วก็สามารถเปล่งแสงได้”

เขาเชื่อว่างานศิลปะสามารถหลอมรวมเข้ากับงานเคลื่อนไหวและงานพัฒนาชุมชนได้อย่างเป็นเนื้อเดียว และจะช่วยเกื้อหนุนให้งานเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“อย่างการเคลื่อนไหวเรื่องแม่น้ำโขง การต่อต้านเขื่อน การคัดค้านการระเบิดเกาะแก่งต่างๆ แน่นอนว่าในมุมหนึ่งต้องมีการพูดถึงสถานการณ์ ข้อกังวล และผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ผ่านทางการให้สัมภาษณ์ เวทีเสวนา เวทีแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งถือว่าได้รณรงค์ได้เรียกร้องไปแล้ว”

“... แต่นั่นเป็นเพียงแค่มุมเดียว ไม่เพียงพอ งานเคลื่อนไหวมันยังมีอีกหลายมิติ ศิลปะกับมนุษย์สื่อถึงกันตลอดดนตรีก็เป็นสื่อแขนงหนึ่ง บางครั้งบางเรื่องอาจพูดคุยกันไม่ได้ บางคนไม่ชอบวงเสวนา ไม่ชอบฟังข่าวหรืออ่านหนังสือเราก็นำเสนอด้วยบทเพลงและดนตรีแทน เนื้อหาก็จะเข้าถึงคนทุกกลุ่ม”

เกรียงไกร บอกอีกว่า งานศิลปะและดนตรีมีส่วนช่วยให้ท่วงทำนองของการเคลื่อนไหวลดความก้าวร้าวลง ไม่มุทะลุ หรือดูต่อต้านอย่างหัวชนฝาท่าเดียว ช่วยให้ตัวนักเคลื่อนไหวเองได้ผ่อนคลายไม่เคร่งเครียด ซึ่งเป็นผลดีต่อขบวนทั้งหมดด้วย

นั่นคือศิลปะ คือบุตรแห่งความจำเป็น และเกิดขึ้นจากความพากเพียรของมนุษย์