posttoday

61 ปี ชาติ กอบจิตติ 27 ปี พันธุ์หมาบ้า

04 กรกฎาคม 2558

เราพบ "ชาติ กอบจิตติ" ในวันที่เขามีอายุครบ 61 ปีพอดี เมื่อเราเอ่ยปากอวยพร "น้าชาติ"

โดย...เพ็ญแข สร้อยทอง ภาพ... เสกสรร โรจนเมธากุล

เราพบ "ชาติ กอบจิตติ" ในวันที่เขามีอายุครบ 61 ปีพอดี เมื่อเราเอ่ยปากอวยพร "น้าชาติ" ตอบกลับว่า "มันก็เป็นแค่วันอีกวันหนึ่งเท่านั้น..."

ศิลปินแห่งชาติและนักเขียนเจ้าของ 2 รางวัลซีไรต์ผู้นี้กำลังจะจัดงานระลึกถึงวรรณกรรมและเหล่าตัวละครแห่ง "พันธุ์หมาบ้า" โดยแรกนั้นตั้งใจให้เป็นงานครบรอบ 25 ปี แต่เพราะเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง จึงเลื่อนออกมา ก่อนจะกำหนดให้มีขึ้นในช่วงบ่ายๆ วันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.นี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน (งานนี้ฟรี และจำกัดแค่ 200 ที่เท่านั้น)

งานนี้คาดว่าจะมีเพื่อนพ้องน้องพี่หลากหลายวงการมาร่วม ไม่ว่าจะหนึ่งในต้นแบบตัวละครจากพันธุ์หมาบ้า อย่าง เล็ก ฮิป รวมไปถึง ทิวา สาระจูฑะ บรรณาธิการนิตยสารสีสัน เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ แฟนคลับรุ่นหลาน ผู้กำกับ (หลาย) ร้อยล้าน นนทรีย์ นิมิบุตร นักเขียนหนุ่ม ผาด พาสิกรณ์ เป็นต้น

“ได้เจอคนอ่านบ้างก็ดี” ชาติ กอบจิตติ บอก ขณะนั่งให้สัมภาษณ์ที่ "ร้านพันธุ์หมาบ้า" ซึ่งตั้งอยู่ในตลาดสยามยิปซี ย่านบางซ่อน โดยก่อนหน้านี้ไม่นานเราก็เพิ่งจะไปฟังเขาพูดในงานสัมมนาเกี่ยวกับ “อีบุ๊ก” ซึ่งทั้งนักเขียนและคนในธุรกิจสิ่งพิมพ์ให้ความสนใจไม่น้อยในปัจจุบัน

เพื่อสร้างกฎกติกามรรยาทสำหรับการเผยแพร่อีบุ๊กในบ้านเรา รวมทั้งการแบ่งปันผลประโยชน์ค่าตอบแทนให้กับนักเขียนอย่างเป็นธรรมและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งวงการ “มันควรจะมีธรรมนูญเป็นหลักกลางๆ ไว้ เราอยากทำเกิดขึ้น เพราะว่านักเขียนเด็กๆ ก็คงไม่มีอำนาจไปต่อรองนัก อยากช่วยเขา หลังสัมมนาก็มีคนรับไปทำและจะผลักดันให้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง”

เจ้าของผลงาน พันธุ์หมาบ้า (รวมทั้ง คำพิพากษา (นวนิยายซีไรต์ ประจำปี 2525), เวลา (นวนิยายซีไรต์ ประจำปี 2537 ฯลฯ)) อย่าง ชาติ กอบจิตติ เขาเป็นนักเขียนแบบ “เต็มเวลา” มานานแล้ว แต่จนถึงวันนี้เขาเองก็ยอมรับว่า อาชีพนี้ไม่ง่ายสำหรับสังคมไทย

“นักเขียนไส้แห้งก็มีมานานแล้ว แต่ไม่ได้หมายว่าจะเป็นกันทุกคน ถ้าคุณมีอาชีพอื่น แล้วอยากเขียนหนังสือด้วยอยากทำบล็อกทำเว็บก็ทำไป แต่ถ้าคิดว่าจะทำอาชีพนักเขียนอย่างเดียวก็ต้องคิดกันหนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่า บ้านเราไม่มีอาชีพผู้จัดการนักเขียน เราจึงต้องจัดการเองให้ได้ อาชีพนักเขียนจะอยู่ได้หรือไม่มันอยู่ที่การจัดการ

“ในเรื่องการเขียนนั้นอย่างเรากับเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกันมันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนะ วัฒน์ จำลอง มาลา วิมล เราไม่ได้แตกต่างกันในแง่ฝีมือ ไม่ได้ทิ้งกันขาด แต่มันอยู่ที่การจัดการล้วนๆ ทำยังไงให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยผลงานของเรา จะไปอยู่กับสำนักพิมพ์ที่เขาดูแลเราได้ หรือพิมพ์เอง จะเอาไปขายเป็นบทละคร บทหนัง หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำยังไงจะจัดการผลงานเหล่านั้นให้กลายมาเป็นผลตอบแทน เพื่อเราจะได้มีอาชีพเป็นนักเขียนอย่างเดียว”

และไม่ว่าจะเวลาผ่านไปนานแค่ไหนวรรณกรรมกลุ่ม Serious Literature ก็ยังคงเป็นของขายยาก “งานศิลปะมันไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องความเป็นอยู่ แล้วก็เป็นเรื่องของรสนิยม ถ้าจะไปใช้ตรรกะว่า บ้านเราคนจนเยอะ ไม่อ่านหนังสือ มันก็ไม่ใช่ คนรวยก็มีเยอะแยะ แต่ทำไมเขาไม่อ่านล่ะ คนรวยหมายถึง คนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไปนะ น่าจะมีมากกว่าหมื่นคน หนังสือพิมพ์ออกมา 3,000 เล่มมันก็น่าจะขายได้หมด (หัวเราะ) ถ้าจะพูดว่า นิสัยการอ่านของเรายังไม่มี ทั้งคนรวยคนจนไม่อ่านหนังสือ อย่างนี้ก็พอจะกล้อมแกล้มพูดได้ ที่หนังสือขายไม่ค่อยได้ในบ้านเราน่าจะมีหลายอย่างประกอบกัน หนังสือแปลบางเล่มขายได้ 5,000-6,000 เล่ม แสดงว่ามีคนอ่านงานประเภทนี้ แต่เขาไม่อ่านหนังสือเรา หรืออาจจะเพราะเราเขียนไม่น่าอ่านด้วยหรือเปล่า ผมยังเชื่อว่า ถ้าเขียนดีและหาทางจัดการให้ดี มันน่าจะอยู่ได้ เหมือนเรามีสินค้นดี แต่เราขายไม่เป็น มันก็เสียของ”

งานเขียนของ ชาติ กอบจิตติ โดยเฉพาะ พันธุ์หมาบ้า ที่มีอายุ 27 ปีแล้วนั้น นับเป็นวรรณกรรมเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อนักอ่านหนุ่มสาวหลายรุ่น บางคนเคยเดินเข้ามาหาเจ้าของเรื่องเพื่อบอกเล่าว่า ตัวหนังสือและเรื่องราวเหล่านั้น “กระทบ” เขาอย่างไรบ้างทั้งแง่บวกและลบ 

61 ปี ชาติ กอบจิตติ  27 ปี พันธุ์หมาบ้า

 

“เคยเจอครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เด็กมาบอกว่า น้าเพื่อนผมมันจะไม่เรียนหนังสือแล้ว มันจะออกไปเป็นอ็อตโต้ (ตัวละครในพันธุ์หมาบ้า) เฮ้ย ... อย่างนั้นไม่ได้ เราอ่านหนังสือแล้วอะไรที่มีประโยชน์หรือดีก็นำไปใช้ บางอย่างก็ไม่ต้องไปลองหรอก อ่านแค่ให้รู้ ตอนจบเป็นยังไงหนังสือก็บอกอยู่แล้ว มันคงเป็นอารมณ์เด็กๆ เหมือนเราไปดูดนตรี เราก็อยากทำตัวเหมือนนักดนตรี ไว้ผมยาว แต่งตัวเท่ เราก็อยากเป็นอยากทำ

“สำหรับนักเขียนถ้าจะบอกว่าต้องรับผิดชอบผลกระทบที่งานเขียนของเรามีต่อผู้คนหรือสังคมด้วย พูดอย่างนั้นมันก็เกินไปนะ คนทำงานศิลปะเขาก็ทำเต็มที่ตามความรู้สึก คงไม่ต้องถึงต้องรับผิดชอบสังคมหรอก แต่ว่าก็ควรทำให้คนได้ฉุกคิด เหมือนให้ได้คิดต่อ เขาจะไปคิดยังไงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“อย่างเราอ่านหนังสือปกขาวมาตั้งแต่ ม.ศ. 1 ถ้าอ่านแล้วทำตามอย่างนั้นมันก็คงเสียกันหมดแล้ว พอโตขึ้นมันก็ผ่านไป ถ้ากังวลมากนักจะไปจัดเรตติ้งหนังสือก็ได้ แต่ว่าจัดแล้วมันจะแก้ได้จริงหรือ อย่างโซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ตพวกผู้ใหญ่ก็พยายามไปบล็อกคลิปโป๊ต่างๆ ยังไงมันไม่มีทางบล็อกได้หรอก

“มันต้องมีทางอื่นสิ สมมติว่า เรารู้ว่าห้องนี้มีเชื้อโรค แต่ลูกหลานเราจำเป็นต้องเข้าไปในห้องนี้ สิ่งหนึ่งที่เราควรทำคือ ฉีดวัคซีนเชื้อโรคหรือหาทางป้องกัน เพื่อให้ลูกหลานเราเข้าไปในห้องนี้แล้วไม่ติดเชื้อโรคออกมา ไม่ใช่ห้ามเขาเข้า วันหนึ่งเมื่อเราไม่อยู่เขาก็แอบเข้าอยู่ดี คิดแต่ว่าหนังสือต้องจำกัดเรตหรือห้ามเด็กดูนั่นดูนี่ วันหนึ่งถ้ามีโอกาสเขาก็ได้ดูได้เห็น สิ่งที่ต้องทำคือ สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ไม่ว่าจะพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เพื่อนบอกหรือสอน ซึ่งลักษณะการบอกมันก็ควรจะเป็นการบอกแบบมิตร ไม่ใช่ห้าม หรือบอกว่าอย่า”

ระหว่างการสนทนา เราถาม “น้าชาติ” ว่า คุยเรื่องการเมืองได้ไหม เขาตอบ “ได้ แต่ห้ามเอาไปตีพิมพ์” (ฮา) หัวข้อการสนทนาจึงเปลี่ยนมาเป็นเรื่องราวในแวดวงวรรณกรรมที่ตอนนี้เพื่อนพ้องน้องพี่บางคนบางกลุ่ม “แตกคอ” ทะเลาะเบาะแว้ง เพราะความเห็นที่แตกต่างโดยเฉพาะเรื่องจุดยืนทางการเมือง

“อันนี้ตีพิมพ์ได้นะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่า เรื่องนี้มันตลก เพราะว่าโดยอาชีพแล้วคนเป็นนักเขียนใช้สติปัญญาใช้สมองในการทำงาน คุณควรจะเป็นผู้ชี้นำหรือผู้เตือนให้สังคมฉุกคิด แต่นี่คุณกลับไปทะเลาะ แบ่งพรรคแบ่งพวก ด่ากันทางหน้าเฟซบุ๊กสาดเสียเทเสีย แจกอวัยวะเพศกัน ถ้าคุณทำอาชีพอื่น ผมจะไม่หวังจากคุณอย่างนี้นะ เมื่อบ้านเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คุณควรมีหน้าที่เตือนสติ ทัศนะทางการเมือง ชอบหรือไม่ชอบอะไร เป็นสิ่งที่แตกต่างกันได้ แต่นี่กลายเป็นว่า ใครไม่เห็นด้วยกับคุณก็มาด่ากัน อย่างนั้นมันก็ไม่ต่างกับแวดวงอื่นๆ ผมเชื่อว่า พวกคุณใช้ปัญญาทำมาหากิน คุณควรใช้ปัญญาที่มีอยู่กระตุ้นเตือนคน ไม่ใช่มาอัดกันเอง เราก็มีเพื่อนที่ความคิดไม่ตรงกัน แต่ก็ไม่เคยทะเลาะกัน อาจจะคุยกันอำกันบ้าง แต่ไม่ถึงกับให้อวัยวะกัน ไม่ต้องถึงกับเลิกคบกัน”

บางครั้งชาติก็พาตัวเองไปอยู่ตรงกลางระหว่างการทะเลาะเบาะแว้งของเพื่อนพ้องน้องพี่ แต่ก็ทำได้แค่ดูและคิดว่า มันเป็นเรื่องตลก “ระดับเราคงจะไปเตือนเขาไม่ได้ (หัวเราะ) เตือนได้อย่างเดียวว่า … อย่ามายุ่งกับกู (หัวเราะ)”

ในความเห็นส่วนตัว ชาติเชื่อว่า การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมไทยนั้นไม่มีทางหมดไปง่ายๆ “เพราะเราแก้แบบไฟสุมขอน มันกรุ่นอยู่ข้างใน เหมือนจะเงียบ แต่ไม่เงียบ เหมือนกับฝีที่รอวันแตก เพราะปัญหาเราไม่ได้ไปแก้ที่สาเหตุ เราแค่สมานแผลให้มันสนิท แต่เราไม่รู้ว่า เราเป็นโรคอะไร เราไม่ได้คิดจะหาสมมติฐานโรคด้วยซ้ำ คิดแค่รักษาแผล”

สำหรับคนตัวเล็กๆ ธรรมดาๆ อย่างเราๆ ท่านๆ สิ่งที่ทำได้ก็คือ “ดูแลเรื่องใกล้ๆ ตัว ใกล้ๆ บ้านเราให้มันดี สงบเรียบร้อย ทำในสิ่งที่เราทำได้ โครงสร้างใหญ่เราคงไปแก้ไม่ได้ เราก็ทำสิ่งใกล้ตัวให้ดี มีน้ำจิตน้ำใจกับคนรอบข้าง ไม่ใช่ว่าคนข้างบ้านก็ไปทะเลาะกับเขา หรือไม่เคยพูดเคยคุยกับเขาเลย อยู่บ้านก็อ่านหนังสือไม่สุงสิงกับใคร แล้วก็สะพายย่ามออกจากบ้านไปเย้วๆ หวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงประเทศ บ้าหรือเปล่า ข้างบ้านยังเปลี่ยนไม่ได้เลย”

ในวันที่ “สโลว์ ไลฟ์” เป็นประเด็นซึ่งผู้คนในสังคมพูดถึง ชาติ กอบจิตติ บอกว่า “ชีวิตเราสโลว์มานานแล้ว เพราะเราเป็นคนขี้เกียจไง (หัวเราะ)” แท้จริงแล้ว เขาอาจจะเป็น “สโลว์ ไลฟ์ ตัวพ่อ” หากว่า คำนี้หมายถึง การละทิ้งความสับสนวุ่นวายในสังคมเมืองไปอยู่อย่างสงบเรียบง่ายในชนบท

ชาติ กอบจิตติ และภรรยาย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ ใน อ.ปากช่อง มานานกว่า 20 ปีแล้ว ระหว่างนั้นเขาได้สังเกตเห็นสังคมละแวกนั้นเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนย้ายของคนเมือง “หลังจากน้ำท่วม คนกรุงเทพฯ ย้ายไปอยู่แถวนั้นเยอะมาก คนกรุงเทพฯ อยากได้ที่สวยๆ ติดภูเขา สร้างบ้านไว้ เสาร์-อาทิตย์ก็มาเที่ยว เผื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ อีก จะได้ย้ายไปอยู่ ชาวบ้านอยากได้เงินก็ขายแพงๆ ขายแล้วก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน ความรู้ไม่มี เงินไม่มี ที่ทำกินไม่มี พอขายที่ไปก็หมด ขายแล้วบางทีเจ้าของใหม่ก็จ้างให้เฝ้าที่ตัวเองบ้าง ไม่อย่างนั้นก็เข้าไปบุกเบิกที่ใหม่ แต่ตอนนี้มันก็แทบไม่มีที่จะให้บุกเบิกแล้ว หมดแล้ว”

พื้นที่ราว 50 ไร่ ของ ชาติ แบ่งเป็นที่นาสำหรับปลูกข้าว รวมทั้งปลูกมะกอก ไร่ข้าวโพด บ่อเลี้ยงปลา ฯลฯ พืชพันธุ์ที่ปลูกไว้ตั้งแต่มาลงหลักปักฐานเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้วก็เขียวครึ้มร่มรื่น ไม่นานมานี้พื้นที่ใกล้บ้านได้สร้างเป็นออฟฟิศเพื่อดูแล้วการจำหน่ายการผลิตเสื้อและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ PhanMaBa “ตอนนี้ต้องมาดูแลเองอย่างใกล้ชิด เพราะไม่งั้นมันจะเจ๊ง (หัวเราะ) เดี๋ยวแก่ไปกว่านี้ไม่มีอะไรกิน”

วิถีชีวิตแบบ ชาติ กอบจิตติ ดูจะน่าอิจฉาหรือน่าเลียนแบบสำหรับคนที่คิดอยากจะย้ายจากเมืองไปอยู่ชนบทเงียบๆ เรียบๆ ช้าๆ หลังเกษียณอายุการทำงาน ชาติแนะนำว่า ให้เริ่มต้นก่อนเกษียณ “ซื้อที่ไว้ก่อน จากนั้นก็ปลูกต้นไม้ไว้ เมื่อถึงเวลาเกษียณจริงๆ ใน 10 หรือ 20 ปีต่อมาต้นไม้ก็งอกงามพอดี ถ้าจะไปปลูกต้นไม้ตอนอายุ 60 มันไม่ทันหรอก ไม่มีแรงทำด้วย อย่างของเราตอนนี้ 23-24 ปีก็กลายเป็นป่า”

ในวัย 61 ปี ชาติ กอบจิตติ ยังดูแข็งแรงและสดชื่น เขาโชคดีที่ไม่มีโรคประจำตัว “เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเคยป่วย แต่ตอนนี้ก็ดีแล้ว บางคนบอกว่า ร่างกายจิตใจมันแยกกัน ไม่จริงหรอก ทั้งสองอย่างแยกกันไม่ออก พอร่างกายไม่ดี จิตใจก็ไม่ดี ไม่สดชื่น ร่างกายมันก็สำคัญมากนะ” ปัญหาใหญ่ของเขาน่าจะเป็นเรื่องสายตา “อ่านหนังสือและใช้คอมพิวเตอร์แล้วปวดตา พานปวดหัว” ทำให้ทุกวันนี้เขายอมรับว่า อ่านน้อยลง

แต่ ชาติ ยังคงเขียนหนังสือ แม้จะไม่ได้ผลิตออกมาถี่มากนัก ทว่ามิตรรักตัวอักษรยังติดตามอ่านบทความของเขาได้ทุกเดือนบนหน้านิตยสารสีสัน และใกล้ชิดติดตามนักเขียนคนโปรดได้ทางการ “ฟอลโลว์” ในเฟซบุ๊ก Chart Korbjitti

เขาคิดพล็อตนวนิยายไว้เรื่องหนึ่ง เนื้อหาคร่าวๆ พูดถึง ชายวัย 50 ปีกับมุมมองความคิดเกี่ยวกับโลกและชีวิตของคิด ชาติตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ในช่วงวัย 50 แต่เวลาก็ล่วงเลยจนเลข 6 นำหน้าแล้วนวนิยายเรื่องนั้นก็ยังอยู่ระหว่างการผลิต “ช่วงหลังๆ ความรู้สึกที่เรามีกับพล็อตเรื่องนี้มันก็เริ่มหย่อนๆ ไป” เขาเชื่อว่า นวนิยายเรื่องนี้น่าจะเป็นเล่มสุดท้ายของ ชาติ กอบจิตติ “อาจจะเขียนไม่เสร็จก็ได้”

ในวันนี้ ชาติ กอบจิตติ ยังดูแข็งแรงและสดชื่น เราก็เชื่อว่า ทุกคนจะได้อ่านหนังสือเล่มนั้นของเขาแน่นอน