posttoday

เคล็ดลับความรวย มหาเศรษฐีไทย

04 กรกฎาคม 2558

50 อันดับมหาเศรษฐีไทย ของ นิตยสารฟอร์บส์ ประเทศไทย ประจำปี 2558 มีเศรษฐีที่คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นส่วนใหญ่

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

50 อันดับมหาเศรษฐีไทย ของ นิตยสารฟอร์บส์ ประเทศไทย ประจำปี 2558 มีเศรษฐีที่คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นส่วนใหญ่ที่คนทั้งประเทศรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับเศรษฐีต่อไปนี้เชื่อว่ายังหน้าใหม่สำหรับประชาชนชาวไทย ที่จะมาเปิดเผยเคล็ดลับความร่ำรวยหรือการสร้างตัวเองจากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเศรษฐีเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างตัวเองในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 ที่ต่างจากเศรษฐียุคแรกเสื่อผืนหมอนใบที่ถ่อสำเภามาจากเมืองจีน ที่สำคัญเศรษฐีในยุคหลังนี้ เกือบทั้งหมดมีภรรยาเป็นคู่คิด

ชูชาติ และ ดาวนภา เพ็ชรอำไพ ความหลงใหลเป็นบันได

ชูชาติ และ ดาวนภา เพ็ชรอำไพ คู่สามีภรรยา วัย 62 ปี มหาเศรษฐีอันดับที่ 31 มูลค่าสินทรัพย์ 2.7หมื่นล้านบาท ชูชาติเป็นประธานกรรมการบริหาร และดาวนภาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) อดีตพนักงานสินเชื่อธนาคารกสิกรไทย สาขาสุโขทัย เข้าสู่ทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีไทยเป็นครั้งแรกหลังจากนำบริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อเดือน พ.ย. 2557 หลังจากก่อตั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2535 ปัจจุบันบริษัทเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ ทั้งคู่มีความหลงใหลในการทำงานเป็นหลักที่ทำให้ก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ

ดาวนภานั้นค่อนข้างเป็นคนเรียบง่ายและรักความเป็นส่วนตัว จึงให้สามีเป็นผู้เล่าเคล็ดลับความร่ำรวยของทั้งคู่ให้ฟัง

ชูชาติ กล่าวว่า ความสำเร็จทั้งหมดเกิดจากได้ทำในสิ่งที่รักและหลงใหลในสิ่งที่ทำ ความหลงใหลนี้ทำให้มีใจจดจ่อกับเนื้องานตลอดเวลา ไม่ว่าชีวิตประจำวันกำลังทำกิจกรรมใดอยู่ ในหัวสมองได้แต่คิดถึงสิ่งที่จะพัฒนางานของตัวเองให้ดีขึ้น ทุกเวลานาที ไม่มีวันหยุด และทุ่มเททำงานหนักจนพบความสำเร็จ

ชูชาติเริ่มชีวิตการทำงานด้วยการเป็นพนักงานสินเชื่อธนาคารกสิกรไทย สาขาสุโขทัย ทำงานที่ธนาคารดังกล่าวได้ 7 ปี ก็ออกมาอยู่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) เป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ หลังจากนั้นอยากฝึกด้านการตลาดจึงไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการโรงเหล้าของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เป็นโรงเหล้ายี่ห้อหงษ์ทอง คลุกคลีด้านการขาย ติดต่อเอเยนต์ ประชาสัมพันธ์ คิดว่าถ้าตัวเองเป็น “เจริญ สิริวัฒนภักดี” หรือสร้างตัวแบบเจริญคงรวยไปแล้ว

“มาค้นพบภายหลังว่าไม่จำเป็นต้องทำธุรกิจเดียวกับคนอื่น แต่ต้องทำสิ่งที่ตัวเองรักและชอบจึงจะสำเร็จ”

ชูชาติเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินหลักหมื่นบาท ค่อยๆ ขยายกิจการมาเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้นให้บริการกับพนักงานขายรถจักรยานยนต์ที่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่ไปขายรถเงินผ่อนให้คนพิษณุโลก แต่พนักงานขายรถดังกล่าวอยากกลับเร็ว จึงนำสัญญาลูกหนี้มาขายส่วนลดให้ อาทิ สัญญา 1 แสนบาท ขาย 7 หมื่นบาท แล้วให้ชูชาติไปเก็บเงินผ่อนระยะที่เหลือเต็มจำนวน ทำแบบนี้ 10 ปี จนเงินทุนหลักหมื่นบาท กลายเป็น 100 ล้านบาท

“เมื่อพนักงานเงินผ่อนรถจักรยานยนต์ดังกล่าวย้ายไปจังหวัดไหน ชูชาติก็ตามไปบริการถึงที่ทำให้กิจการขยายเรื่อยมา”

ต่อมาภายหลังบริษัทที่ตามไปให้บริการปิดกิจการไป ชูชาติจึงไปให้บริการร้านค้าที่ขายรถจักรยานยนต์ แต่กิจการไม่ประสบความสำเร็จ เพราะร้านค้าเหล่านั้นมักจะเก็บลูกค้าดีไว้ แล้วให้ลูกค้าไม่ดีมา

จนกระทั่งปี 2535 ได้ตั้งบริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จากจุดเริ่มต้นที่ว่าลูกค้าจักรยานยนต์นำทะเบียนรถมาถามว่าจะทำอะไรได้บ้าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถ และตั้งบริษัทขึ้นมา ตอนนั้นชูชาติเริ่มต้นกิจการนี้ด้วยวัย 39 ปี กิจการรุ่งเรืองขยายไปทุกภาค ทั้งภาคเหนือ กลาง ตะวันตก ตะวันออก จนกระจายไปทั่วประเทศ

หลังจากนั้นภรรยาได้ลาออกจากงานมาช่วยดูแลด้านบัญชีและการเงิน ขณะที่ชูชาติรับผิดชอบด้านการตลาด เขาใช้หลักในการทำงานคือ อย่าเอาเปรียบลูกค้า ให้บริการที่ดี ดูแลพนักงานให้ดี

นอกจากนั้นยังสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างเป็นระบบ โดยบริษัทมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่ำมาก (เอ็นพีแอล) สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีความซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน ทุ่มเท มีระเบียบวินัย ทั้งนี้บริษัทคิดดอกเบี้ยถูกกว่าบริษัทในกลุ่ม เมื่อพนักงานรู้ว่าไม่เอาเปรียบลูกค้า ก็มีกำลังใจที่จะทำงาน

ปัจจุบันบริษัทมีสาขา 670 แห่งทั่วประเทศ และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,340 แห่งใน 3 ปี ทั้งคู่มีลูกชายสองคน ปัจจุบันลูกชายคนเล็ก ปริทัศน์ วัย 33 ปี ได้เข้ามาช่วยงานในบริษัทดูแลด้านการเงิน และนักลงทุนสัมพันธ์

เคล็ดลับความรวย มหาเศรษฐีไทย

 

เสถียร เศรษฐสิทธิ์ การเรียนและเพื่อนแท้

เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป (CBG) วัย 61 ปี มั่งคั่งขึ้นมาได้เพราะธุรกิจเครื่องดื่มคาราบาวแดง จนปัจจุบันมีสินทรัพย์ในครอบครองถึง 1.59 หมื่นล้านบาท ติดทำเนียบเศรษฐีไทยครั้งแรกหลังจากนำ CBG เข้า ตลท. ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท

คาราบาวแดง เครื่องดื่มชูกำลังอันดับ 2 ของไทย แซงหน้ากระทิงแดงขึ้นมาได้ ทั้งที่เปิดตลาดมาเพียง 10 กว่าปี โดยแค่เปิดตลาดปีแรกปี 2545 คาราบาวแดงก็ขึ้นมาอยู่อันดับ 3 รองจากกระทิงแดง และเอ็ม 150 แล้ว ผลจากแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่มี แอ๊ด คาราบาว หรือ ยืนยง โอภากุล นักร้องดังเพื่อชีวิตเป็นสัญลักษณ์

เสถียรกลายเป็นบุคคลผู้มั่งคั่งติดอันดับเพราะนำ CBG เข้าจดทะเบียนใน ตลท. ทั้งที่ความมุ่งหวังของเขาไม่ได้ต้องการร่ำรวย แค่เพียงหลุดจากสถานะความยากจนเท่านั้น แต่เพราะความยากจนที่ทำให้เสถียรใฝ่รู้เพื่อยกระดับสถานะและได้เพื่อนที่ดีช่วยฟันฝ่ามาด้วยกันทำให้ประสบความสำเร็จในทุกธุรกิจที่ทำมา

จากเด็ก ป.4 ที่บ้านฐานะยากจนด้วยวัย 11-12 ปี ต้องออกมาหากินเลี้ยงปากท้องตัวเอง จากนั้นด้วยความเชื่อว่าการศึกษาจะยกสถานะตัวเองขึ้นมาได้ จึงอ่านหนังสือด้วยตัวเอง และไปเรียนกวดวิชาสอบเทียบชั้นเรื่อยมาจนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ในวัย 21 ปี ในปี 2518

เรียนจนถึงปี 2 มีเหตุให้ต้องเข้าป่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และมีสหายชื่อ แอ๊ด คาราบาว หรือ ยืนยง โอภากุล เมื่อออกจากป่าก็คบหากันเรื่อยมา

“ผมมีทุกวันนี้ได้เพราะมีเพื่อนดีและเป็นคนดี ช่วงที่วงดนตรีคาราบาวมีปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในวง ผมเป็นคนช่วยประสานและดูแล ช่วยแก้ปัญหา จึงสนิทกับแอ๊ดและทำธุรกิจด้วยกันมาจนถึงทุกวันนี้”

เมื่อออกจากป่า เสถียรเริ่มธุรกิจแรกคือทำร้านมินิมาร์ทหรือโชห่วยชื่อโพธิ์สามต้นสโตร์ เป็นร้านโชห่วยด้วยทุน 1.2 หมื่นบาท ที่พี่น้องให้มาเป็นทุนเริ่มต้นชีวิตแต่งงานในวัย 27 ปี จากนั้นปี 2525 หันมาทำโรงงานผลิตตะปูตอกสังกะสี ต้องซื้อที่ดินราคา 1 ล้านบาท วางมัดจำ 5 แสนบาท ซื้อที่ถมที่ ราคาที่ดินขึ้นไป 1.5 ล้านบาท ได้กำไร 1 ล้านบาท

ช่วงนั้นปี 2532-2533 ที่ดินบูม ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี จึงหันมาร่วมหุ้นกับเพื่อนที่เคยเรียนกวดวิชาด้วยกัน ทำโรงงานห้องแถวขาย ข้างหน้าเป็นตึกแถว ข้างหลังเป็นโรงงาน ที่ที่ทำอยู่ย่านสมุทรปราการ สร้างเสร็จเปิดจองขายหมด 68 ยูนิต 200 กว่าล้านบาท

จนกระทั่งปี 2535-2536 ได้ร่วมหุ้นกับ ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ รองประธานคณะกรรมการและกรรมการผู้จัดการ CBG ปัจจุบันทำธุรกิจที่ดิน โรงงานสำเร็จรูปขนาดเล็ก และทาวน์เฮาส์ขาย กิจการเติบโตเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง ลูกบ้านไม่มีเงินโอน ธุรกิจชะงัก เพราะกู้เงินสถาบันการเงินมาแต่ฝ่าไปได้เพราะพ่อณัฐชไมให้ยืมเงินมาซื้อหนี้คืนจาก จีอี แคปปิตอล ในราคาส่วนลด 60%

จากนั้นปี 2542 เพื่อนที่เคยเข้าป่าด้วยกันนำผับตะวันแดงสาดแสงเดือน สาขาแรกคลองตันมาขายเพราะไม่มีเงินต่อสัญญาจึงรับซื้อมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจโรงเบียร์

“ช่วงนั้นเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่ามีเบียร์สดขายที่ แฟรนไชส์ร้านอาหารเยอรมันชื่อพอลลาเนอร์ อยู่สุขุมวิท 24 แต่คนไทยไม่ชอบอาหารเยอรมัน จึงคิดว่าถ้านำเบียร์สดมาขายพร้อมอาหารไทยน่าจะถูกปากคนไทย ช่วงนั้นธุรกิจที่ดินยากลำบาก จึงทำโรงเบียร์ตะวันแดงที่ถนนพระราม 3 เลียบทางด่วนรามอินทรา”

ปรากฏว่าประสบความสำเร็จล้นหลามจนเดือน ส.ค.นี้ จะเปิดสาขาที่ 2 ที่แจ้งวัฒนะ

จากนั้นปี 2545 จึงตั้ง CBG เริ่มต้นในวงเหล้า เมื่อแอ๊ดคุยเล่นๆ ว่า ถ้าจะทำธุรกิจจะทำธุรกิจกับเสถียร และเสถียรตอบกลับมาว่าจะทำเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อคาราบาวแดง เพราะคนฟังดนตรีแอ๊ด และคนดื่มเครื่องดื่มชูกำลังน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่แอ๊ดกลับจริงจัง จึงมาคุยกับเสถียรเรื่อยมา จนตั้งบริษัทขึ้นในที่สุดและประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่เปิดตัวโดยมีเสถียรถือหุ้นใหญ่ 40% แอ๊ด 25-30% และณัฐชไม 25% ทุนจดทะเบียนเติบโตเรื่อยมาจาก 100 ล้านบาท 150 ล้านบาท จน 200 ล้านบาท

จุดแข็งของ CBG คือ มีแบรนด์สินค้าที่ดีมีคนรู้จัก เป็นสินค้าที่ดี และแอ๊ดเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงสามารถช่วยประชาสัมพันธ์และทำตลาดให้สินค้า ขณะที่ณัฐชไมเป็นนักขายที่ดี ละเอียด รอบคอบ

เสถียร กล่าวว่า ทำธุรกิจมากว่า 10 ปี CBG จึงตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนใน ตลท. เพราะอยากให้บริษัทมีศักยภาพขยายกิจการต่อไปได้ จากเดิมผลิตเดือนละ 7-10 ล้านขวด จนกระทั่งเดือนละ 60 ล้านขวด ขณะที่ตัวเองนั้นแก่ตัวลงทุกวัน ลูกๆ ก็เติบโตขึ้น อยากให้บริษัทมีมืออาชีพเข้ามาดูแลมากกว่านี้เพราะตามกฎ ตลท.จะบริหารด้วยระบบครอบครัวไม่ได้

“ในอนาคตต้องส่งกิจการให้ลูกหลาน ต้องจัดระเบียบให้ดี ไม่อยากสร้างปัญหาไว้ให้เขา”

หุ้นส่วนทั้งสามคนของ CBG ก็ยังทำธุรกิจส่วนตัวด้วยกันอีก ล่าสุดได้ร่วมหุ้นกันเข้าไปซื้อ ซีเจ เอ็กซ์เพรส จากเจ้าของเดิม โดยเข้าไปถือหุ้น 80% ของทุนจดทะเบียน 1,400 ล้านบาท และสร้างคลังสินค้าใหญ่โตที่ราชบุรี พร้อมตั้งเป้าขยายสาขาจากเดิม 150 สาขา เป็น 600 สาขาใน 3 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 230 สาขา และจะเปิดอีก 30 สาขาในปีนี้

“ความที่เป็นคนเล็กคนน้อยของสังคมมาก่อน เมื่อเติบโตขึ้นมาจึงเข้าใจความรู้สึกของลูกน้อง ทำให้ผมมีทีมงานที่ดีที่ช่วยให้ธุรกิจผมเติบโตมาจนทุกวันนี้ ลูกน้องผมอยู่กับผมมา 20-30 ปี ไม่เคยทอดทิ้งกัน”

ปัจจุบันเสถียรให้ลูกทั้ง 3 คนของเขาในวัย 27 ปี 31 ปี และ 34 ปี เข้าไปดูแลซีเจ เอ็กซ์เพรส ขณะที่ลูกของแอ๊ดสองคน เข้ามาดูแล CBG ทั้งด้านนักลงทุนสัมพันธ์ และด้านการตลาด

เขาหวังว่าซีเจ เอ็กซ์เพรส จะเสริมธุรกิจของ CBG ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะเดิมมินิมาร์ทนี้ก็เป็นมินิมาร์ทที่รับคาราบาวแดงไปขาย เท่ากับว่าเสถียรกำลังวางอนาคตให้ CBG มีแขนขาครบวงจรนั่นเอง

เคล็ดลับความรวย มหาเศรษฐีไทย

 

สมยศ และ จรีพร อนันตประยูร ‘เราทั้งคู่เป็นหลุมดำ’

สมยศ วัย 55 ปี และจรีพร อนันตประยูร วัย 48 ปี มหาเศรษฐีอันดับที่ 32 มูลค่าสินทรัพย์ 2.57 หมื่นล้านบาท สมยศเป็นประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และจรีพรเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) สามีภรรยาคู่นี้ร่วมก่อตั้งบริษัทให้เช่าคลังสินค้า และบริษัทเข้าซื้อบริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรม คือ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) มูลค่า 4.36 หมื่นล้านบาท ทำให้ WHA กลายเป็นผู้พัฒนาคลังสินค้าและนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ยังมีโครงการในอินโดนีเซีย กัมพูชา และวางแผนจะขยายกองทรัสต์เพื่อลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (รีทส์) 2 กองมูลค่า 9,300 ล้านบาท

ทั้งคู่ติดอันดับมหาเศรษฐีฟอร์บส์ปีนี้เป็นปีที่ 3 หลังจากติดปีแรกปี 2556 อันดับที่ 33 ด้วยสินทรัพย์ 1.64 หมื่นล้านบาท และปี 2557 ที่ผ่านมาอันดับ 42 ด้วยสินทรัพย์ 1.67 หมื่นล้านบาท โดยอันดับล่าสุดความร่ำรวยมาจากธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจเดิม และรวมสินทรัพย์ของ HEMRAJ เพียงกว่า 10 วัน

สมยศ กล่าวว่า หัวใจแห่งความสำเร็จของทั้งคู่คือ การไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เปรียบเสมือนหลุมดำที่คอยดูดความรู้จากทุกคนทำให้นำพาบริษัทมาถึงจุดนี้ได้ และความร่ำรวยที่เกิดขึ้นมาจากการทำงานหนัก โดยการทำงานจะประสบความสำเร็จต้องชนะใจตัวเองให้ได้ก่อน จึงจะสามารถเอาชนะสิ่งอื่นได้ จากนั้นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเพื่อให้ได้รับความร่วมมือในการทำให้งานนั้นสำเร็จ

ขณะที่ จรีพร กล่าวว่า ความสำเร็จในนิยามของเธอมาจากความกล้า กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะแตกต่าง และกล้าที่จะบุกเบิก นั่นคือคุณสมบัติของผู้นำ

เริ่มจากการก่อตั้ง WHA ปี 2546 จรีพร เล่าว่า 20 กว่าปีก่อนประเทศเพิ่งเริ่มต้นพัฒนา 10 ปี ต่อมาอุตสาหกรรมไปหมดแล้ว ดังนั้นอุตสาหกรรมที่จะได้รับการสนับสนุนถัดมาคือ โลจิสติกส์ แต่ช่วงนั้นแทบไม่มีอะไรเลย กิจการของ WHA เหมือนเป็นกิจการรูปแบบใหม่ เปลี่ยนโฉมใหม่ที่เติบโตไม่รู้จบพร้อมคู่ค้า โลจิสติกส์ไปไหน กิจการของเราไปด้วยตลอด ไม่จำกัดเฉพาะในประเทศ และเชื่อมโยงทุกระบบได้ทั้งนิคมอุตสาหกรรม น้ำ ไฟ และในอนาคต WHA จะต้องเป็นศูนย์กลางข้อมูล ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ เป็นอุตสาหกรรมเฉพาะ เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ตั้งแต่ WHA ตั้งบริษัทมาก็เป็นรายแรกและรายเดียวของประเทศที่ให้บริการคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าที่จัดสร้างตามความต้องการของลูกค้าตามมาตรฐานสากลในประเทศไทย

“แรกเริ่มเหมือนเข็นครกขึ้นเขา ความสามารถมีระดับหนึ่ง มีความตั้งใจทำ แก้ปัญหาให้ลูกค้า เมื่อเขาเติบโตเราโตตามเสมือนเป็นผู้ร่วมทุนกัน ลูกค้าสำคัญที่สุดหรือ Customer is the king  เราไม่คุยปัญหาระยะสั้น แต่เราจะแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างครบวงจร ตอบโจทย์เพื่ออยู่ยาว”

หลักการทำงานคือ ความเสี่ยงต้องต่ำที่สุด และต้องมีความรวดเร็วกว่าคนอื่น

เคล็ดลับความรวย มหาเศรษฐีไทย

 

กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ เป้าหมายต้องชัดเจน

กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ วัย 60 ปี ประธานกรรมการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ธุรกิจพลังงานทดแทน มหาเศรษฐีอันดับที่ 44 มูลค่าสินทรัพย์ 1.76 หมื่นล้านบาท ปรากฏชื่อเป็นมหาเศรษฐีไทยของฟอร์บส์เป็นปีแรก หลังจากที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปกว่า 2 เท่าในรอบปีที่ผ่านมา หลังจากรายได้จากพลังงานทดแทนมีสัดส่วนเกิน 50% ของรายได้ทั้งหมด

กัลกุลก่อตั้งบริษัทในปี 2525 ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรับช่วงกิจการจัดหาอุปกรณ์ไฟฟ้าย่านราชวัตรมาจากครอบครัว ต่อมาขยายธุรกิจร่วมทุนกับต่างชาติในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าทดแทนการนำเข้าและจัดส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ขยายธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาด ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และลม เริ่มจากได้ใบอนุญาตพลังงานแสงอาทิตย์ จากนั้นเข้าระดมทุนเป็นบริษัทจดทะเบียนใน ตลท. เพื่อนำเงินมาต่อยอดทำพลังงานสะอาดที่ต้องใช้ทุนสูง

ภรรยาของเขา โศภชา เป็นประธานกรรมการบริหารและประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

กัลกุล เล่าเคล็ดลับความร่ำรวยว่า เขาฝันอยากทำอะไร อยากไปไหนตั้งแต่อายุได้ 13 ปี โดยช่วยพ่อแม่ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ก่อสร้างมาตลอด เมื่อรับช่วงกิจการต่อจากที่บ้านตอนอายุได้ 20 ปี ได้เริ่มนำเข้าอุปกรณ์มาขายให้ กฟผ. จากนั้นผลิตสินค้าขายให้ กฟผ. จนกระทั่งร่วมทุนกับต่างประเทศผลิตสินค้า ขยายประเภทสินค้ามาเรื่อยๆ 20 ปี ต่อมาผลิตสินค้าได้ 300 รายการขายให้ กฟผ.

จุดพลิกผันของเขาเริ่มจากการที่รับก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ กฟผ. เป็นโรงไฟฟ้ากังหันลม 2 ต้นแรกที่ลำตะคอง นครราชสีมา เมื่อเห็นกังหันลม กัลกุลรู้สึกได้ว่าการหมุนของกังหันลมเสมือนโรงงานหนึ่ง เพราะกังหันลมต้นหนึ่งมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เมื่อมิเตอร์เริ่มหมุนเท่ากับเก็บเงินได้แล้ว ใช้คนน้อย ซ่อมแซมน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการขายสินค้าที่มีความไม่แน่นอน ไม่ต้องแย่งกันขาย ถ้าคุณภาพไม่ดีถูกปรับอีก วัตถุดิบขึ้นราคาก็มีปัญหา กำไรน้อย

เมื่อสร้างกังหันลมแล้วเสร็จจึงคิดได้ว่าน่าจะทำโรงไฟฟ้ากังหันลมได้ ต้องหาที่ที่มีลม ศึกษาลม ที่ต้องมีเวลาทดสอบ หาสถานที่ใช้เวลา 2-3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่ามีลมพอผลิตไฟฟ้า จังหวะนั้นรัฐบาลเริ่มทำโซลาร์ฟาร์ม กัลกุลจึงได้ใบอนุญาตโซลาร์ฟาร์มรายแรกๆ ของเมืองไทยที่ยังได้ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (แอดเดอร์) ที่ 8 บาท/หน่วย

“ตอนนั้นโซลาร์ฟาร์มของบริษัท เอสพีซีจี ของคุณวันดี กุญชรยาคง กำลังก่อสร้างยังไม่มีบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ของคุณสมโภชน์ อาหุนัย”

เมื่อได้ใบอนุญาตโซลาร์ฟาร์ม กัลกุลตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนใน ตลท. ภายใน 3 เดือน จากนั้นเข้า ตลท.ตามเป้าหมายปี 2553 เข้า ตลท.ปีแรกรายได้หลักยังมาจากธุรกิจพาณิชย์ จนกระทั่งรายได้เริ่มเปลี่ยนแปลงในปี 2555 ปี 2556 ก้าวกระโดดปี 2557 รายได้จากพลังงานสะอาดเกิน 50% ราคาหุ้นนับตั้งแต่เข้า ตลท.มาพุ่งขึ้น 10 เท่า เพราะโครงสร้างรายได้ที่เปลี่ยนแปลงจากธุรกิจพาณิชย์มาเป็นธุรกิจพลังงานครบวงจร

บริษัทเริ่มเข้าซื้อบริษัทไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 120 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเดือน ธ.ค. 2557และกำลังสร้างโรงไฟฟ้าในเมียนมา เพราะมองว่าโอกาสเติบโตโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในเมืองไทยมีน้อยเพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น และผลตอบแทนที่ลดลงจึงมีเป้าหมายเข้าซื้อกิจการเพิ่มในญี่ปุ่นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในปี 2560 รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาดจะเพิ่มเป็น 95% จากปี 2558 ที่คาดว่าจะเกิน 60%

โศภชา เสริมว่า สโลแกนของบริษัท คือ พลังงานสร้างสรรค์ คิดล้ำ ทำจริง GUNKUL มองเห็นโอกาสเข้าสู่พลังงานไฟฟ้าสะอาดปี 2553 และตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจนี้ หลังจากนั้นยังรู้จักใช้คนให้เป็น บริษัทตั้งเป้าหมาย 3 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2560 มีโรงไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันทำได้แล้ว 270 เมกะวัตต์ ปี 2561 โรงไฟฟ้าจะเริ่มเดินกำลังการผลิตเพื่อขายได้เต็มที่ 500 เมกะวัตต์

โศภชาเข้ามาร่วมงานกับ GUNKUL ปี 2540 เป็นผู้อำนวยการต่างประเทศที่ดูแลทั้งด้านต่างประเทศและสำนักผู้บริหาร ช่วงนั้นวิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัทประสบปัญหาเพราะนำเข้าอุปกรณ์มาขาย เมื่อค่าเงินบาทลอยตัวทำให้ขาดทุนค่าเงินเพิ่มจาก 25 บาท เป็น 30-57 บาท/เหรียญสหรัฐ จึงร่วมทุนกับต่างประเทศผลิตอุปกรณ์ขายในประเทศและเมียนมาจนกระทั่งปัจจุบันสินค้ากว่า 90% ผลิตขายเอง

“ตอนนั้นมีหนี้เยอะ พนักงานในความดูแลก็เยอะ จึงขยายกลุ่มลูกค้า สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และพัฒนาคน เรามีหนี้เพิ่มหนี้เข้าสู่การฟื้นฟู ขอยืดหนี้ 8 ปี แต่ทำได้ 5 ปี สามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้”

ปี 2548 บริษัทวางระบบสร้างสำนักผู้บริหาร ปี 2549 บริษัทตั้งฝ่ายพัฒนาธุรกิจหาธุรกิจใหม่ที่บริษัทยังไม่เคยทำ และเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ปัจจุบันแผนกนี้ดูแลพลังงานทดแทนทั้งหมด

ปี 2550 บริษัทเปลี่ยนแปลงเป็นบริษัทมหาชน ปี 2553 เข้า ตลท. โศภชาเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาบริษัท ปี 2548 ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ และปี 2551 เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนกัลกุลที่เลื่อนขึ้นเป็นประธานกรรมการบริษัท

“เขามีความละเอียดมากกว่าผม” กัลกุล กล่าว