posttoday

‘ต้อหิน’ เรื่องหนักๆ ของการเสื่อมทางสายตา

17 มิถุนายน 2560

เมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกปวดตามากๆ ที่มาคู่กับอาการปวดหัว คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย ให้ระวังไว้ให้ดี

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]

 เมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกปวดตามากๆ ที่มาคู่กับอาการปวดหัว คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย ให้ระวังไว้ให้ดี

 เพราะอาการเหล่านี้นี่แหละ คืออาการของโรคต้อหินเฉียบพลัน แต่ในกรณีที่อาการของโรคเป็นแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ผู้ป่วยมักไม่ค่อยรู้ตัว เรียกว่าพอมารู้อีกทีอาการของโรคก็ไปไกลแล้ว

 ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและถือว่าเป็นโรคตาที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ตาบอดได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากโรคต้อกระจก สามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหินจะพบได้ประมาณ 1% หมายความว่า ในทุกๆ 100 คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสตรวจพบโรคต้อหิน 1 คน

 แต่เดิมโรคนี้มีคำนิยามว่า “เป็นโรคที่เกิดจากภาวะความดันภายในลูกตา/ความดันลูกตาสูงกว่าปกติ” แต่ในปัจจุบันพบว่า ต้อหินไม่จำเป็นต้องเกิดจากสาเหตุนี้เสมอไป จึงมีการเปลี่ยนคำนิยามของโรคนี้กันใหม่เป็น “โรคที่มีการทำลายเซลล์ประสาทในจอตา/จอประสาทตา (Retina) ไปเรื่อยๆ ทำให้สูญเสียการมองเห็น และทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาไป เป็นลักษณะที่เรียกว่า Glaucomatous Cupping Disc (รอยหวำผิดปกติคือกว้างขึ้น ซึ่งเกิดที่ขั้วประสาทตา) จนเป็นผลทำให้ลานสายตาผิดปกติ”

 ต้อหินทำให้สูญเสียการมองเห็น โดยมีภาวะความดันลูกตาสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ความดันลูกตา เกิดจากภายในลูกตาของเราจะมีการสร้างของเหลวใสขึ้นมาในช่องด้านหน้าของลูกตา และระบายออกทางมุมตา เรียกว่า น้ำเลี้ยงตา ทำหน้าที่ปรับความดันภายในลูกตาให้สมดุล ไม่ทำให้เกิดการคั่งค้างของน้ำเลี้ยงภายในลูกตา และคงรูปร่างของดวงตาไว้  ความดันลูกตาปกติ จะมีค่าน้อยกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท

 ข้อมูลจากเว็บไซต์สภากาชาดไทย โดยคณะอนุกรรมการวิชาการ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย แบ่งชนิดของต้อหิน ไว้ดังนี้

 1.ต้อหินมุมปิด ถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน จะทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง ตามัว เมื่อมองไปที่ดวงไฟจะเห็นเป็นวงกลมจ้ารอบดวงไฟ อาการอาจรุนแรงมากจนเกิดคลื่นไส้อาเจียน และมักไม่หายด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ถ้าไม่รักษา ตาจะบอดอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเป็นชนิดมุมปิดเรื้อรังผู้ป่วยมักไม่ทราบ และไม่มีอาการ บางคนอาจมีอาการปวดเล็กน้อยเป็นครั้งคราว เป็นๆ หายๆ อยู่หลายปี และได้รับการรักษาแบบโรคปวดศีรษะโดยไม่ทราบว่าเป็นต้อหิน

 2.ต้อหินมุมเปิด เป็นชนิดที่พบบ่อย มักจะไม่มีอาการปวดตาหรือตาแดง แต่สายตาจะค่อยๆ มัวลงอาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเป็นเดือน หรือเป็นปี หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาทันท่วงทีก็จะทำให้ตาบอดได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามหากได้รับการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องรวดเร็วก็มักจะรักษาสายตาไว้ได้

 3.ต้อหินแทรกซ้อน ต้อหินชนิดนี้เกิดเนื่องจากมีความผิดปกติอย่างอื่นของดวงตา เช่น การอักเสบ ต้อกระจกที่สุกมาก อุบัติเหตุต่อดวงตา เนื้องอก การใช้ยาหยอดตาบางชนิด และภายหลังการผ่าตัดตา เช่น เปลี่ยนกระจกตาหรือการผ่าตัดต้อกระจก

 4.ต้อหินในเด็กเล็กและทารก ต้อหินในเด็กเล็กเกิดร่วมกับความผิดปกติตั้งแต่แรกคลอดของดวงตา อาจมีความผิดปกติทางร่างกายร่วมด้วย ต้อหินในเด็กทารกมักพบตั้งแต่แรกเกิด แม่อาจสังเกตว่าลูกน้อยของตนมีขนาดลูกตาใหญ่กว่าเด็กปกติ กลัวแสง กระจกตาหรือส่วนตาดำจะไม่ใสจนถึงขุ่นขาว และมีน้ำตาไหลมาก หากพบต้องรีบเข้ารับการรักษา

 พญ.ทัศพร ญาณวิทย์ จักษุแพทย์โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา ให้ข้อมูลไว้ว่า อันตรายของโรคต้อหิน ถ้าปล่อยไว้อันตรายมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะในเคสที่เป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน หรือบางรายอาจมีอาการตาแดงสู้แสงไม่ได้ มีน้ำตาไหล และรู้สึกตามัวลง

 + อาการต้อหิน แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ อาการต้อหินเฉียบพลัน (Acute Glaucoma) ผู้ป่วยจะมีอาการหลัก 3 อย่าง ซึ่งทั้ง 3 อย่างจะทำให้ผู้ป่วยทรมานทั้งสิ้น ได้แก่ ปวดตา (ส่วนใหญ่จะปวดศีรษะข้างเดียวกันร่วมด้วยและอาจร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน) ตาแดง น้ำตาไหล (ภายใน 30-60 นาที) และตามัว

 การมองเห็นลดลง มองเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ (ซึ่งอาจทำให้ตาบอดตามมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วันหากรักษาไม่ทัน) อาการตามัวส่วนใหญ่มักจะมัวมากจนถึงขั้นมองเห็นหน้าคนไม่ชัด อาการปวดตามาก (บางคนอาจปวดศีรษะมากร่วมด้วย) ปวดจนอาเจียน ซึ่งความรุนแรงของอาการหลักทั้ง 3 อย่างจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แต่ส่วนมากจะเป็นค่อนข้างมาก

 + อาการต้อหินเรื้อรัง (Chronic Glaucoma) ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวลงทีละน้อยๆ เป็นแรมปี โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักจะไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด เพราะไม่มีอาการปวดตา ตาไม่แดง เพราะกลุ่มนี้ความดันลูกตามักจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นทีละน้อย ไม่พรวดพราดเหมือนต้อหินเฉียบพลัน จึงไม่ทำให้มีอาการปวดตา และอาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เข้าใจผิดคิดว่าตนเองเป็นสายตาเสื่อมตามอายุซึ่งรักษาไม่ได้ หรือคิดว่าเป็นต้อกระจกซึ่งต้องรอให้ต้อแก่ก่อนแล้วค่อยรับการรักษา

 แต่ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกมึนศีรษะได้เล็กน้อย อาจรู้สึกว่าเวลาอ่านหนังสือแล้วจะปวดเมื่อยตาเล็กน้อยหรือตาล้า ตาเพลีย และตาพร่าเร็วกว่าปกติ ต่อมาผู้ป่วยจะมีลานสายตาแคบลงกว่าเดิมมาก จึงทำให้มองไม่เห็นด้านข้าง อาจขับรถลำบาก เพราะมองไม่เห็นรถที่อยู่ทางด้านซ้ายและขวา หรือมองไม่เห็นรถที่กำลังจะแซง รถที่สวนมา หรือเวลาเดินอยู่ในบ้านก็อาจเดินชนขอบโต๊ะขอบเตียงได้

 ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินชนิดเรื้อรังมักจะมีอาการกับตาทั้งสองข้างพร้อมกัน หรือบางรายอาจรู้สึกว่าตามัวลงเรื่อยๆ จึงต้องคอยเปลี่ยนแว่นอยู่บ่อยๆ

 วิธีรักษาโรคต้อหินในผู้ป่วยที่เป็นต้อหินเฉียบพลัน ถ้ามีอาการต้อหินเฉียบพลันเกิดขึ้น (ตาแดง ตามัว และปวดตา) ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วนเพื่อทำการตรวจตาและวัดความดันลูกตา ซึ่งจะพบว่ามีค่าสูงกว่าปกติมาก ซึ่งหากแพทย์วินิจฉัยโรคได้เร็วและให้ยาลดความดันลูกตา ตามด้วยการยิงแสงเลเซอร์ อาการทั้งสามอย่างจะหายเป็นปลิดทิ้ง (ยกเว้นสายตาที่เสียไปแล้ว) ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลแต่อย่างใด แต่ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ช้าเกินไป การรักษาจะยุ่งยากมากขึ้น การยิงเลเซอร์อาจไม่ได้ผลและอาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด