posttoday

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

23 พฤษภาคม 2560

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวัฒโนสถ ได้ให้ความรู้ถึงการรับมือกับมะเร็งเต้านมที่ผู้หญิงไทยจำนวนมากยังเข้าใจผิดและละเลยเอาไว้

โดย...พุสดี

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวัฒโนสถ ได้ให้ความรู้ถึงการรับมือกับมะเร็งเต้านมที่ผู้หญิงไทยจำนวนมากยังเข้าใจผิดและละเลยเอาไว้

1.ต้องสังเกตตัวเองอยู่เสมอ สัญญาณที่บ่งบอกว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ คลำเจอก้อนแข็งที่เต้านม มีความเปลี่ยนแปลงของลักษณะผิว หรือมีสีเปลี่ยนแปลงที่เต้านม มีรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านม หัวนมบุ๋ม มีเลือดออกจากหัวนม เป็นต้น จึงควรสังเกตและตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน

2.ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม อาทิ มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมอายุน้อยกว่า 40 ปี มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย กินยาคุมกำเนิด หรือยาฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น คือกลุ่มที่ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม

3.ต้องดูแลตัวเองอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายทุกวัน วันละ 30 นาที เพราะการออกกำลังกายจะทำให้การหลั่งของฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านม

4.เลิกเข้าใจผิดว่าคนที่เสริมหน้าอกมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนทั่วไป เพราะจริงๆ แล้วยังมีความเสี่ยงเท่าๆ กัน แต่จะตรวจหามะเร็งเต้านมยากกว่าคนทั่วไปเท่านั้นเอง

5.โรคมะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายได้ และโอกาสกลับมาเป็นใหม่น้อยมาก หากว่าเจอในระยะต้นๆ การรักษามี 4 วิธีด้วยกัน ได้แก่ 1.การผ่าตัด เป็นวิธีที่ดีที่สุดในระยะต้นๆ โดยตัดเฉพาะส่วนที่มีเชื้อมะเร็งเท่านั้น 2.รักษาด้วยยาเคมี 3.ใช้การฉายแสง และ 4.รักษาทางชีวะ โดยการใช้ฮอร์โมน