posttoday

"สมองเสื่อม" เยียวยาได้ด้วยความรัก

23 พฤษภาคม 2560

ถึงแม้วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้า แต่โรคที่มากับวัยอย่าง “ภาวะสมองเสื่อม” ก็ยังเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่น่ากลัวสำหรับผู้สูงอายุ เพราะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาด

โดย...พุสดี

ถึงแม้วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้า แต่โรคที่มากับวัยอย่าง “ภาวะสมองเสื่อม” ก็ยังเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่น่ากลัวสำหรับผู้สูงอายุ เพราะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาด

อ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้และวิธีรับมือกับภาวะดังกล่าวในงาน “พาราไดซ์ พาร์ค สูงวัยอย่างมีคุณภาพ” ว่าภาวะสมองเสื่อมเป็นความถดถอยในการทำงานของสมอง เกิดจากการสูญเสียเซลล์สมอง โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจึงลุกลามไปยังสมองส่วนอื่นอย่างช้าๆ บางครั้งอาจใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้

สาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่ อายุที่มากขึ้น พันธุกรรม โรคประจำตัวต่างๆ ได้แก่ โรคของหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมถึงการใช้ยาที่มีผลกดการทำงานของสมองในระยะเวลานาน

อาการที่เด่นชัดมากของภาวะสมองเสื่อม คือ หลงลืม ซึ่งไม่ใช่การขี้หลงขี้ลืมแบบเป็นนิสัย หรือเป็นไปตามความจำที่เสื่อมถอยลงตามกาลเวลา แต่ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันถดถอยไป อาทิ เริ่มจำไม่ได้ว่าไปไหนมา หรือเมื่อสักครู่พูดว่าอะไร ในบางรายถ้าอาการหนักอาจถึงขั้นจำคนในครอบครัวไม่ได้ หรือลืมว่าตัวเองเป็นใคร ซึ่งนอกจากอาการหลงลืมแล้ว อาจจะส่งผลให้มีบุคลิกภาพเปลี่ยนเป็นก้าวร้าว หรือเงียบซึมได้”

“ถึงแม้ภาวะสมองเสื่อมจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ ด้วยการดูแลสุขภาพ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ควบคู่ไปกับการบริหารสมองและอารมณ์ให้มีความสมดุล ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม เล่นเกม เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ท่องเที่ยวพักผ่อน แต่ทั้งหมดนี้ต้องเกิดจากความพึงพอใจ ไม่ใช่ทำเพราะถูกสั่งให้ทำ

การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมให้ได้ผลดีที่สุด นอกจากการรักษาของแพทย์แล้ว การดูแลของคนใกล้ชิดให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องจำเป็นไม่แพ้กัน เพราะภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เป็นปัญหาเพียงเฉพาะกับตัวผู้ป่วย แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อครอบครัวคนรอบข้าง โดยผู้ดูแลจะต้องทำความเข้าใจและยอมรับกับอาการ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาเรื่องความจำ การใช้ความคิด ไปถึงจนสูญเสียการควบคุมตัวเอง จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้

นอกจากนี้ ยังต้องให้ความรัก มอบกำลังใจดีๆ ให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันผู้ดูแลก็ต้องดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเองด้วย เพราะอาจเกิดความเครียด หรือปัญหาด้านอารมณ์ หากรู้สึกเหนื่อยก็ควรหยุดพักให้ผู้อื่นมาดูแลแทน เมื่อสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมแล้วค่อยกลับมาดูแลใหม่ ด้วยสภาพอารมณ์และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วย ผู้ดูแลจึงควรเป็นคนใกล้ชิดในครอบครัวที่รู้จักและเข้าใจผู้ป่วยดี สามารถทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ป่วยได้ เพราะการดูแลด้วยความรักและความเข้าใจจากบุคคลในครอบครัวนั้น จะช่วยส่งเสริมภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก