posttoday

อาหารเร่งเร้าไมเกรน

13 พฤษภาคม 2560

ข้อมูลจากนิตยสารเพื่อสุขภาพ "หมอชาวบ้าน" บอกว่า โรคไมเกรน (ลมตะกัง) หรืออาการปวดหัวข้างเดียว

โดย...พริบพันดาว

 ข้อมูลจากนิตยสารเพื่อสุขภาพ "หมอชาวบ้าน" บอกว่า โรคไมเกรน (ลมตะกัง) หรืออาการปวดหัวข้างเดียว ซึ่งมีความทุกข์ทรมานมาก สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งจากการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยจะไม่มีความผิดปกติของโครงสร้างทางกาย (รวมทั้งสมอง) แต่ทุกครั้งที่อาการปวดหัวไมเกรนกำเริบ จะมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดและกลไกทางประสาทภายในสมองและบริเวณใบหน้า

 กล่าวคือ หลอดเลือดภายในกะโหลกศีรษะหดตัว ในขณะที่หลอดเลือดภายนอกกะโหลกศีรษะ (เช่นที่ขมับ) พองตัว และประสาทไวต่อสิ่งกระตุ้นให้เกิดการเจ็บปวด ทำให้มีอาการปวดศีรษะที่มีลักษณะจำเพาะและอาการต่างๆ ร่วมด้วย

 โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่าประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นไมเกรนด้วย

 เหตุกำเริบของโรคหรืออาการปวดหัวไมเกรนเกิดจากสิ่งกระตุ้นล่วงหน้าเป็นชั่วโมงถึง 2 วันเสมอ ผู้ป่วยควรสังเกตว่ามีอะไรเป็นเหตุกำเริบ หรือสิ่งกระตุ้นบ้าง (มักมีได้มากกว่า 1 อย่าง) เช่น สิ่งกระตุ้นทางตา จากแสงแดด แสงจ้า แสงระยิบระยับ การใช้สายตาเคร่งเครียดหรือลายตา (เช่น จ้องจอคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือนานๆ)

 ทางหู จากเสียงดัง เสียงจอกแจกจอแจ ทางจมูก จากกลิ่นต่างๆ รวมทั้งกลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ ทางลิ้น จากอาหาร เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล หมูแฮม ไส้กรอก ถั่ว กล้วยหอม ช็อกโกแลต ผงชูรส น้ำตาลเทียม-แอสพาร์เทม (Aspartame) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มกาแฟมาก เป็นต้น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยานอนหลับ

 ทางกาย (กายภาพ) จากอากาศร้อนจัด เย็นจัด อบอ้าว หิวจัด อิ่มจัด อดนอน นอนมาก (ตื่นสาย) ร่างกายเหนื่อยล้า ประจำเดือนมา มีไข้สูง มีอาการเจ็บปวดที่ต่างๆ เช่น ปวดประจำเดือน ปวดฟัน และสุดท้ายทางใจ จากความเครียด กังวล คิดมาก ซึมเศร้า

 นพ.ไพศาล วชาติมานนท์ จากศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Better Health ว่า อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนนั้นมีลักษณะค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ มักจะปวดบริเวณขมับ โดยอาจจะปวดข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ บางกรณีอาจมีการปวดวนกันไป และมักจะปวดข้างเดิมอยู่ซ้ำๆ ส่วนอีกบริเวณหนึ่งที่พบมาก ได้แก่ บริเวณเบ้าตา ลักษณะของการปวดก็มักจะปวดตุ้บๆ ตามจังหวะของชีพจร ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

 ระยะเวลาของการปวดอาจแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายอาจมีอาการยาวนานถึง 72 ชั่วโมง การปวดศีรษะแบบไมเกรนนั้นเป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งซึ่งยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่น่าเชื่อได้ว่าอาจมีจุดกำเนิดจากก้านสมองที่ทำงานผิดปกติ หรือเกิดจากภาวะที่สารเคมีในสมองไม่สมดุล ส่งผลให้หลอดเลือดมีความไวต่อการกระตุ้นมากเป็นพิเศษ กล่าวคือ มีการหดและขยายตัวของหลอดเลือดอย่างผิดปกติ

 ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งสำหรับอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน ได้แก่ ผู้ป่วยมักจะเริ่มเป็นเมื่ออายุยังไม่มากนัก เช่น ช่วงอายุระหว่าง 25-45 ปี และเคยมีรายงานว่าพบผู้ป่วยไมเกรนที่มีอายุเพียง 5 ปี ที่สำคัญมีผู้ป่วยผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องของฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้อง

 จากข้อมูลทั้งหมดของโรคปวดหัวไมเกรน เมื่อมาโฟกัสถึงสาเหตุกำเริบหรือสิ่งกระตุ้นทางลิ้นหรืออาหาร ที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดไมเกรน บทความทางการแพทย์ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองพญาไท บอกว่า มีอาหาร 7 ชนิด ที่มีความเสี่ยงเมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ทำให้เกิดผลข้างเคียงในการเกิดอาการปวดหัวข้างเดียวของไมเกรน

 เนยแข็งหรือชีส ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะระดับรุนแรงได้ ด้วยสารไทรามีนที่เป็นส่วนประกอบของเนยแข็งและชีส ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีความไวต่อสารนี้เกิดอาการปวดไมเกรนได้ง่าย

 ช็อกโกแลต เพราะในขนมประเภทช็อกโกแลตมีส่วนผสมทั้งนม เนย น้ำตาล ทำให้ยังไม่มีการวิจัยที่ระบุแน่ชัดว่าเพราะอะไร? จึงมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรน แต่เพื่อป้องกันและลดอาการปวด จึงควรหลีกเลี่ยงช็อกโกแลตไปก่อนจะดีกว่า

 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกิดจากสารไทรามีนที่เข้าไปลดระดับสารเซโรโทนินในสมอง ทำให้รู้สึกปวดหัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะไวน์แดงที่มีส่วนประกอบของสารไทรามีนและฮีสตามีนที่มีผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ

 กล้วยและผลไม้ตระกูลซีตรัส การกินกล้วยแก้หิวระหว่างวันอาจจะดีต่อสุขภาพ แต่กล้วยมีส่วนประกอบของสารไทรามีนและฮีสตามีนที่มีผลทำให้เกิดอาการปวดไมเกรน รวมไปถึงผลไม้ตระกูลซีตรัสอย่างส้ม มะนาว ก็ทำให้เกิดอาการปวดหัวรุนแรงได้เหมือนกัน

 ชา กาแฟ เพราะกาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ จะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางผู้ที่มีอาการปวดไมเกรนและไวต่อสารนี้

 ขนมปัง หรือพิซซ่า เพราะยีสต์คือตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรน ขนมปังกับพิซซ่ามีทั้งส่วนผสมของทั้งยีสต์และสารไทรามีนจากชีส

 เนื้อสัตว์แปรรูปอย่างเบคอน ไส้กรอก หรือเนื้อสัตว์รมควัน สารกันบูดอย่างไนเตรตมีผลกระตุ้นทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ และหากผู้ป่วยมีความไวต่อสารนี้ อาการก็อาจเกิดขึ้นได้ในทันที