posttoday

รู้เท่าทันมะเร็งปอด

30 เมษายน 2560

"มะเร็งปอด" เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยมากที่สุดอันดับสองในชายไทยรองจากมะเร็งตับ

โดย...รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มะเร็งปอด (Lung Cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยมากที่สุดอันดับสองในชายไทยรองจากมะเร็งตับและพบมากเป็นอันดับสี่ในเพศหญิง รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก (เนื่องจากหญิงไทยมีอัตราการสูบบุหรี่น้อยกว่าชายไทยมาก) แต่โดยรวมมะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโรคมะเร็งที่เกิดในคนไทย

มะเร็งปอดเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่สามารถป้องกันได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค คือการงดการสูบบุหรี่ และการรักษาในระยะแรก สามารถทำให้หายขาดได้โดยการผ่าตัด

มะเร็งปอดสามารถแบ่งออกได้อย่างกว้างๆ ออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะทางพยาธิวิทยา ออกเป็นมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) พบประมาณ 10% ของมะเร็งปอด และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) ซึ่งเป็นมะเร็งปอดที่พบได้บ่อยที่สุด 

นอกจากนี้ เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงเป็นปริมาณมาก มะเร็งจากอวัยวะอื่นสามารถแพร่กระจายมายังปอดได้บ่อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ เป็นต้น

สาเหตุที่พบได้บ่อยของมะเร็งปอด คือร่างกายได้รับสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งอย่างต่อเนื่อง โดยสารเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เนื้อเยื่อเกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติ สารก่อมะเร็งที่พบได้บ่อยคือ ควันบุหรี่ โดยควันบุหรี่จะมีส่วนประกอบมากมาย เช่น น้ำมันดิน สารไฮโดรคาร์บอน

ดังนั้น พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นผู้ที่สูบเอง หรือสูดควันบุหรี่จากคนรอบข้างก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลที่ไม่สูบอย่างชัดเจน นอกจากนี้สารจากสิ่งแวดล้อมบางชนิดก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด เช่น Asbestos Radon ปัจจัยอื่นที่พบว่ามีความสำคัญ ได้แก่ ลักษณะทางพันธุกรรมโดยผู้ที่มีประวัติของโรคมะเร็งในบุคคลอื่นในครอบครัวก็จะมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น

อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะมะเร็งปอดที่พบได้บ่อยคืออาการไอเรื้อรัง บางครั้งอาจมีเลือดปนเสมหะ เมื่อมะเร็งขยายตัวมากขึ้น ก็จะเกิดการรบกวนการทำงานของปอดทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย เมื่อมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นก็จะมีอาการแสดงเฉพาะของอวัยวะนั้น เช่น มีอาการปวดกระดูก ปวดศีรษะ แต่ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักไม่มีอาการ เนื่องจากมะเร็งปอดยังมีขนาดเล็กอยู่

ผู้ป่วยที่พบว่ามีมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น ส่วนมากเป็นการตรวจพบจากการตรวจภาพรังสีทรวงอก ในการเช็กร่างกายในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือถ้าสังเกตว่ามีอาการผิดปกติทางระบบหายใจ (โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด เช่น มีประวัติสูบบุหรี่มานานหรือมีประวัติมะเร็งปอดของสมาชิกในครอบครัว) มีอาการไอต่อเนื่องกันเกิน 3 อาทิตย์โดยไม่มีสาเหตุอื่น หรืออาการไอที่เคยมีอยู่แล้วมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ควรจะทำการปรึกษาแพทย์เสมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการเหล่านั้น

การตรวจ Check Up หรือการตรวจโดยภาพรังสีเพื่อพยายามค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกนั้น ยังไม่มีข้อมูลว่าจะช่วยทำให้สามารถพบมะเร็งได้เร็วขึ้นในผู้ป่วยทั่วไป แต่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมาก เช่น มีประวัติการสูบบุหรี่มาต่อเนื่อง แพทย์มักแนะนำให้มีการตรวจภาพรังสีทรวงอก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปี

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ การวินิจฉัยจะเริ่มจากอาการของผู้ป่วยร่วมกับภาพรังสีทรวงอกที่ผิดปกติ การยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งปอด ต้องได้การวินิจฉัยยืนยันจากการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการนำเนื้อเยื่อปอดบริเวณที่มีความผิดปกติมาตรวจ เนื่องจากอาการและภาพรังสีทรวงอกไม่มีความจำเพาะว่าจะต้องเป็นมะเร็งปอดเสมอไป

การตรวจชิ้นเนื้อจึงมีความจำเป็นมากในการบอกว่าความผิดปกติที่ตรวจพบ แนวทางในการนำเนื้อเยื่อมาตรวจมีได้หลายวิธี เช่น การส่องกล้องตรวจหลอดลม การใช้เข็มเจาะ หรือการ หลังจากพบว่าเป็นมะเร็งปอดแล้ว ก็จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินว่ามีการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นหรือยัง

การรักษามะเร็งปอดจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ ชนิดของมะเร็งปอด ขอบเขตการกระจายของโรคและสภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย การรักษาหลักของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กที่ยังไม่มีการแพร่กระจายคือการผ่าตัดเอาปอดส่วนที่มีมะเร็งออกไป ซึ่งเป็นการรักษาที่จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูงสุด ถ้าไม่สามารถผ่าตัดได้หรือผ่าตัดแล้วพบว่าการกระจายของมะเร็งแล้ว การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสงก็เป็นการรักษาซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม

ปัจจุบันนี้มียาชนิดที่ออกฤทธิ์จำเพาะตามเป้า (Targeted Therapy) ที่มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีมะเร็งปอดบางชนิดที่ให้ผลการรักษาที่ดีและมีผลข้างเคียงไม่มากเหมือนการให้เคมีบำบัด โดยต้องมีการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมเพื่อดูว่ามีความเหมาะสมในการใช้ยาหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาหรือการฉายแสง ยังไม่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ แต่สามารถลดขนาดของมะเร็งลงและชะลอการดำเนินโรคและลดอาการของผู้ป่วยลงได้

สรุปแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดของการรักษามะเร็งปอด คือการป้องกัน โดยการหยุดบุหรี่ การพยายามวินิจฉัยให้ได้ในระยะแรกของโรค และเลือกการรักษาให้เหมาะสมตามชนิดและระยะของโรคที่ผู้ป่วยเป็น