posttoday

"พินัยกรรมชีวิต" สิทธิที่คนไทยควรทราบ

23 เมษายน 2560

การวางแผนและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับทุกๆ ฝ่ายจะทำให้การดูแลผู้ป่วยที่จะเสียชีวิตสามารถทำได้อย่างเหมาะสม

โดย...รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในชีวิตของคนเราทุกคน สิ่งที่เราหลีกหนีไม่พ้นแน่ๆ คือการเจ็บป่วย การเสื่อมลงของสุขภาพ และการตาย แน่นอนว่าการรักษาสุขภาพที่ดี การได้รับการรักษาความเจ็บป่วยด้วยวิธีที่เหมาะสมจะสามารถทำให้ชีวิตของเรายืนยาวมากขึ้นได้ แต่สุดท้ายพวกเราทุกคนก็ไม่สามารถหลีกหนีความตายไปได้

เราอยากตายอย่างไร

เรื่องความตายเป็นสิ่งที่สังคมไทย โดยเฉพาะระหว่างผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ที่ดูแลจะไม่มีการคุยกันเรื่องนี้มากนัก โดยอาจมีสาเหตุมาจากหลายๆ ประเด็น เช่น ความเชื่อว่าไม่ควรพูดเรื่องนี้จะเป็นลางที่ไม่ดี ไม่ควรพูดเรื่องนี้เพราะจะทำให้ผู้ป่วยหมดกำลังใจ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ

การวางแผนและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับทุกๆ ฝ่ายจะทำให้การดูแลผู้ป่วยที่จะเสียชีวิตสามารถทำได้อย่างเหมาะสมและ ตรงตามความต้องการของผู้ป่วยมากที่สุด ถ้าเราถามตัวเราเองหรือบุคคลอื่นๆ ทั่วๆ ไปว่าอยากจะตายอย่างไร

อย่างไรเรียกว่าการตายที่ดี คำตอบที่ได้ก็จะมีความแตกต่างกันตามความเชื่อ ความคาดหวังของแต่ละบุคคล แต่สิ่งที่เป็นความต้องการพื้นฐานที่ค่อนข้างตรงกันคือ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ทุกคนไม่อยากเจ็บป่วย ทรมานมากเกินไป ไม่อยากถูกทอดทิ้ง ไม่อยากจะเป็นภาระของญาติหรือบุคคลที่รัก และไม่อยากให้มีการยื้อชีวิตโดยไม่จำเป็น ถ้าเราถามญาติๆ ของพวกเราที่มีอายุแล้ว เรามักจะได้ยินประโยคเหล่านี้ที่ท่านสั่งไว้ว่า “อย่ายื้อชีวิตพ่อให้นานเกินไป…อย่าไปเจาะคอแม่นะ…ไม่ต้องเอาไปลง ICU ปล่อยไปตามธรรมชาติ” แต่ในทางปฏิบัติจริง เมื่อถึงเวลานั้นญาติเองก็มักไม่กล้าตัดสินใจ รวมถึงแพทย์เอง ก็อาจมีความลำบากใจในการจะหยุดการรักษาที่อาจจะไม่ได้ประโยชน์ แต่ทำไปเพื่อยื้อชีวิตของผู้ป่วยออกไป

พินัยกรรมชีวิต หรือสิทธิการตายคืออะไร

แต่ปัจจุบันนี้ในกฎหมายไทยมีมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ และได้มีรายละเอียดในวรรคต่อมาคือ วรรคสอง บัญญัติว่า การดำเนินการตามหนังสือเพื่อแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และวรรคสาม บัญญัติว่า เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง เนื้อหาสาระที่สำคัญของกฎหมายนี้มีประเด็นที่สำคัญคือ

1.การที่บุคคลแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการรักษา ไม่ใช่สิทธิเลือกที่จะไม่มีชีวิตอยู่หรือการปรารถนาจะฆ่าตัวตาย แต่ต้องเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายแล้ว และเป็นสิทธิในการเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลเพื่อที่จะได้ตายตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่มีจุดประสงค์เพื่อยื้อชีวิตออกไป จะเห็นว่าถ้าผู้ป่วยยังไม่มีความเจ็บป่วยระยะสุดท้าย แต่ต้องการเสียชีวิต อาจไปใช้ยาบางชนิดเกินขนาดและปฏิเสธรักษาพยาบาล ในกรณีนี้ก็จะไม่ตรงตามความหมายของมาตรานี้

2.แพทย์ไม่มีหน้าที่เร่งหรือทำให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการรักษาถึงแก่ความตาย แต่เป็นการหยุดหรือไม่เริ่มใช้การรักษาที่มีจุดประสงค์เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยอาจทุกข์ทรมานมากขึ้น การที่ผู้ป่วยเสียชีวิตเกิดจากภาวะการเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายของผู้ป่วย ตามธรรมชาติของโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่

3.แพทย์ไม่ได้หยุดการรักษาผู้ป่วย ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนายังคงได้รับการดูแลจากแพทย์แบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการ

ทางกายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต จึงไม่ใช่การปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา เพียงแต่เป้าหมายของการรักษาเปลี่ยนไป จากการทำให้มีชีวิตอยู่นานที่สุด เป็นทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด โดยไม่เร่งหรือยื้อการเสียชีวิตของผู้ป่วยออกไป

4.การแสดงเจตนาดังกล่าว ผู้ป่วยต้องเป็นผู้แสดงเจตจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรเอง ผู้อื่นไม่สามารถทำแทนได้ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยไม่มีสติแล้วหรือไม่มีความสามารถในการตัดสินใจแล้วก็ไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้ ดังนั้นการทำหนังสือแสดงเจตนาในมาตรานี้ จำเป็นต้องมีการทำไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนที่ผู้ป่วยจะไม่มีความสามารถในการแสดงเจตจำนงได้

5.ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ในทางปฏิบัติถ้าผู้ป่วยมีหนังสือแสดงเจตจำนงนี้ และเมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต แพทย์ผู้ดูแลก็จะพิจารณารายละเอียดของหนังสือดังกล่าว และพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยและญาติในการวางแผนการรักษาผู้ป่วยให้ตรงตามความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งจะมีประโยชน์เป็นอย่างมากที่จะสามารถให้การดูแลเป็นไปตามที่ผู้ป่วยต้องการและไม่เป็นภาระที่ญาติต้องมาตัดสินใจในการเลือกการรักษาให้ผู้ป่วย แต่ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันยังมีคนไทยจำนวนน้อยมากที่มีการทำหนังสือแสดงเจตจำนงหรือพินัยกรรมชีวิตนี้ไว้ จึงมีความจำเป็นที่พวกเราควรได้มีการศึกษาถึงรายละเอียดของสิทธิอันพึงมีนี้ โดยสามารถหาตัวอย่างการเขียนหนังสือแสดงเจตจำนงได้ตามแหล่งข้อมูลทั่วไป หรือที่ www.thailivingwill.in.th/sites/default/files/024ivingwill.pdf ได้ครับ