posttoday

ติดเชื้อในกระแสโลหิตคืออะไร

16 เมษายน 2560

ผู้ป่วยที่มีภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิต และมีการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ผิดปกติตามมา

โดย...รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิตคืออะไร

การติดเชื้อในกระแสโลหิต (Severe Sepsis) เป็นการติดเชื้ออย่างรุนแรงในร่างกาย โดยจะเริ่มจากภาวะการติดเชื้อ (Infection) เฉพาะที่ คือภาวะที่เชื้อก่อโรค สามารถเอาชนะภูมิคุ้มกันของร่างกายและมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้น และทำให้การทำงานของอวัยวะที่มีการติดเชื้อมีการเสียหน้าที่ของการทำงานไป

โดยในช่วงแรก ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย และมีอาการเฉพาะที่ตามระบบหรืออวัยวะที่มีการติดเชื้อ เช่น ถ้ามีการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ก็อาจมีอาการไอ มีเสมหะ การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะก็จะมีอาการปัสสาวะขัด ปวดเอว

การติดเชื้อเฉพาะที่นี้ถ้ามีการรักษาได้ทันท่วงที โดยการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมและผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีก็จะสามารถทำให้การติดเชื้อนั้นหายไปได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเชื้อมีความรุนแรง และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม การติดเชื้อดังกล่าวก็จะมีการลุกลามมากขึ้น เชื้อโรคและพิษจากเชื้อโรคสามารถลุกลามเข้าไปสู่กระแสเลือดของผู้ป่วย ทำให้การติดเชื้อลุกลามไปทั่วร่างกาย และมีการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการติดเชื้ออยู่ในช่วงแรก ผิดปกติตามมา เราเรียกภาวะนี้ว่าการติดเชื้อในกระแสโลหิต (Sepsis) หรืออาจมีคนใช้คำว่าเลือดเป็นพิษ

การติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรงจริงหรือไม่

ผู้ป่วยที่มีภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิต และมีการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ผิดปกติตามมา เช่น มีภาวะความดันโลหิตต่ำ มีภาวะหัวใจวาย หรือไตวาย จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ผู้ป่วยเกิน 60% อาจเสียชีวิตได้

ปัจจุบันนี้ พบว่ามีผู้ป่วยชาวไทยที่เสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมากกว่าปีละ 5 หมื่นคน โดยพบว่าบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิต ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังหรืออยู่ในโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่ได้รับการใส่อุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปในร่างกาย เช่น สายสวนเส้นเลือด สายสวนปัสสาวะ

ภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิตรักษาได้หรือไม่

ถึงแม้ว่าการติดเชื้อในกระแสโลหิตจะเป็นภาวะที่มีความรุนแรง และผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง แต่มีข้อมูลชัดเจนว่าถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม คือการให้ยาปฏิชีวนะที่ตรงกับชนิดของเชื้อโรค ภายในเวลา 6 ชั่วโมงแรกหลังจากเริ่มมีอาการ ร่วมกับการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้สารน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพียงพอ มีการประเมินผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้น มีการดูแลเพื่อให้การรักษาเพื่อทดแทนอวัยวะที่ล้มเหลว เช่น การล้างไต เพื่อรอเวลาที่การติดเชื้อของผู้ป่วยดีขึ้น การดูแลและรักษาที่เหมาะสม สามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลดลงต่ำกว่า 30% ได้

จะเห็นว่าภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิต ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ ผู้เสียชีวิตในเมืองไทยแต่ละปี มากกว่าจำนวนคนในหลายๆ อำเภอเสียอีก ดังนั้นการป้องกันอย่าให้ติดเชื้อและการสังเกตอาการและไปหาแพทย์ให้ทันท่วงทีเมื่อเริ่มสัญญาณเตือนของการติดเชื้อในกระแสโลหิตก็จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลดลงได้