posttoday

ผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง นวัตกรรมลดการสูญเสีย

15 เมษายน 2560

ปัจจุบันแนวโน้มการเจ็บป่วยในกระดูกสันหลังของคนไทยเริ่มมีเพิ่มขึ้น ด้วยวิถีชีวิตของคนโดยเฉพาะวัยทำงาน

โดย...เบญจวรรณ

ปัจจุบันแนวโน้มการเจ็บป่วยในกระดูกสันหลังของคนไทยเริ่มมีเพิ่มขึ้น ด้วยวิถีชีวิตของคนโดยเฉพาะวัยทำงานที่ต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ การใช้อุปกรณ์สื่อสารและมีการเคลื่อนไหวในท่าที่ไม่ถูกต้อง การรักษาโรคกระดูกสันหลัง มีตั้งแต่ทำกายภาพบำบัด ฉีดยาเพื่อบรรเทาอาการ และการผ่าตัด

การผ่าตัดกระดูกสันหลังในปัจจุบันไม่ได้น่ากลัวอย่างสมัยก่อน เนื่องจากแพทย์มีความชำนาญและเทคนิคการผ่าตัดรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี ค.ศ. 2005-2006 แพทย์จากประเทศเยอรมนี ได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบใหม่ คือการผ่าตัดแบบส่องกล้องเข้าจากด้านข้างและด้านหลัง ทำให้ปัจจุบันการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยกล้อง Endoscope  ซึ่งเป็นการผ่าตัดแผลเล็กและบาดเจ็บน้อย (Minimally Invasive Spine Surgery)  เริ่มเป็นที่แพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

นพ.ปฤศนัย พฤฒิกุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคกระดูกสันหลังที่เหมาะกับการผ่าตัด Endoscopic Surgery ได้แก่ 1.หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และ 2.โพรงประสาทตีบแคบทับเส้นประสาท หรือที่เรียกว่า กระดูกทับเส้นประสาท โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขาเพียงข้างเดียว

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดกระดูกสันหลังเข้าทางด้านหลังหรือด้านข้างนั้น ศัลยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยดูตำแหน่งของหมอนรองกระดูกว่าเป็นที่ข้อระดับใด และหมอนรองกระดูกเลื่อนไปอยู่บริเวณใด มีโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง Endoscope ของโรงพยาบาลเวชธานี ได้ใช้เครื่องมือของ Richard Wolf จากประเทศเยอรมนี โดยการใช้กล้องขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ขณะผ่าตัดแพทย์จะมองภาพผ่านจอแสดงผล ทำให้การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อโดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อเกิดขึ้นน้อยที่สุด ลดการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด นอนพักฟื้นเพียง 6 ชั่วโมง สามารถกลับบ้านได้ และผลการรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ต่างกับการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ

ผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง นวัตกรรมลดการสูญเสีย นพ.ปฤศนัย พฤฒิกุล

ด้าน นพ.เอกพล ลาภอำนวยผล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นว่าภาวะแทรกซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้เหมือนการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ แต่จะมีภาวะแทรกซ้อนบางชนิดที่เกิดขึ้นได้น้อยกว่า เช่น การติดเชื้อบริเวณหมอนรองกระดูกสันหลัง  แผลผ่าตัดติดเชื้อ  ถุงหุ้มเส้นประสาทฉีกขาด  มีโอกาสที่ต้องเปลี่ยนจากผ่าตัดส่องกล้องเป็นผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ ซึ่งโอกาสเกิดเป็นซ้ำของหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทมีประมาณ 6%

ทั้งนี้ การผ่าตัดดังกล่าวจะต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ และยังมีข้อจำกัดของการผ่าตัดทำได้ในพื้นที่จำกัด ไม่เหมาะที่จะทำในคนไข้ที่มีกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทหลายๆ ข้อ และภาวะกระดูกสันหลังไม่มั่นคง