posttoday

โรคพิษสุนัขบ้า ในสัตว์เลี้ยง

26 มกราคม 2560

เนื่องจากในระยะนี้ พบการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงอยู่บ่อยๆ

โดย...นสพ.ชัยวลัญช์ ตุนาค ผอ.โรงพยาบาลสัตว์ ด็อก & แคท เฮลท์ เซนเตอร์ ระยอง

เนื่องจากในระยะนี้ พบการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงอยู่บ่อยๆ โดยพบการระบาดในสุนัขมากเป็นอันดับ 1 ส่วนสัตว์อื่นๆ เท่าที่มีรายงาน การพบโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ แมว โค และช้าง ถึงแม้บ้านเราจะกำหนดให้สัตว์เลี้ยงทุกตัวที่มีเจ้าของต้องพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนกับสัตวแพทย์ ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่ายังพบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเสมอมา โดยเฉพาะในกลุ่มสุนัขและแมวที่มีเจ้าของจะพบโรคนี้มากกว่า สุนัขที่ไม่มีเจ้าของเสียอีก ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าเป็นเพราะเหตุใด คงต้องมีการศึกษากันต่อไป

แต่วันนี้หมอจะมาแชร์ข้อมูลของโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อให้ทุกท่านได้ช่วยกันดูแลหากพบว่าสัตว์เลี้ยงของเรา หรือที่เราพบมีอาการของโรคจะได้ช่วยกันดูแลครับ

โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ หรือโรคหมาว้อ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ได้เกิดจากอากาศร้อนอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจนะครับ ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั้งปี แต่ที่พบการระบาดมากในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากว่าเป็นช่วงปิดเทอมเด็กๆ ออกมาวิ่งเล่น และอีกสาเหตุคือ สุนัขจะผสมพันธุ์กันมากในเดือน พ.ย.-ธ.ค. เนื่องจากเป็นฤดูผสมพันธุ์ และตั้งท้องประมาณ 58-63 วัน ก็จะคลอดลูก ประมาณราวเดือน มี.ค.-เม.ย.

ในฤดูผสมพันธุ์สุนัขจะกัดกันมากกว่าฤดูอื่นจึงมีโอกาสได้รับเชื้อ เมื่อเข้าฤดูร้อนครบระยะฟักตัวพอดี จะแสดงอาการและแพร่เชื้อในน้ำลาย จึงเห็นได้ว่าลูกสุนัขจะมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าสุนัขโต และแม่สุนัขเองก็จะหวงลูกและกัดคนมากขึ้น

โรคนี้เกิดได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) ทุกชนิด เช่น สุนัข แมว กระต่าย ชูการ์ไกรเดอร์ หนู กระรอก ค้างคาว โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ช้าง ม้า เป็นต้น แต่ที่พบโรคพิษสุนัขบ้าเป็นหลักในบ้านเรา ได้แก่ สุนัขและแมว เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงกันมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ นั่นเอง

การติดต่อของโรคนี้ ช่องทางหลักๆ คือการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคนี้ เนื่องจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าจะขับออกมาทางน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคนี้ หากเราโดนกัด เชื้อที่อยู่ในน้ำลายจะเข้าทางบาดแผลที่กัดนั่นเอง แต่ถ้าสัตว์ที่เป็นโรคนี้มาเลียเรา แล้วเรามีบาดแผลพอดี ก็จะติดเชื้อได้ แต่ถ้าไม่มีบาดแผลหรือรอยถลอก โอกาสติดเชื้อก็น้อยลงนะครับ แต่มีข้อระวังคือ เชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาทางน้ำลายได้ตั้งแต่ 1-7 วัน ก่อนที่สัตว์จะแสดงอาการป่วยเสียอีก ทำให้เราไม่ทราบว่าสัตว์ตัวนั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้าและมีโอกาสติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดไม่ควรไปสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์แปลกหน้าที่เราไม่ทราบประวัติจะดีที่สุดครับ

โรคนี้มีระยะฟักตัวหลังจากถูกกัดประมาณ 3-8 สัปดาห์ ไม่เกิน 6 เดือน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่โดนกัด เพราะเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าจะเดินทางไปตามเส้นประสาท และเมื่อไปถึงสมอง ผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยจะแสดงอาการทางระบบประสาท นั่นหมายความว่าหากโดนกัดบริเวณปลายเท้าจะมีระยะฟักตัวนานกว่าโดนกัดบริเวณหน้า และหลังจากที่สัตว์เริ่มแสดงอาการ จะตายภายใน 10 วัน ซึ่งอาการจะมีทั้งแบบดุร้าย และแบบซึม

อาการของสัตว์ที่ติดเชื้อจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรก สุนัขจะมีอารมณ์และนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เคยร่าเริง ขี้เล่น จะเปลี่ยนเป็นซึม ไม่ร่าเริง ดูหงอยๆ สุนัขที่เคยตื่นกลัว ไม่เคยคลุกคลีกับเจ้าของจะเข้ามาหาหรืออยากจะคลุกคลีด้วย ระยะนี้สุนัขอาจจะมีไข้เล็กน้อย ม่านตาจะขยายโตกว่าปกติ และเริ่มมีการตอบสนองต่อแสงลดลง สุนัขจะแสดงอาการระยะนี้ประมาณ 2-3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะตื่นเต้น

อาการระยะตื่นเต้น ระยะนี้สุนัขจะเริ่มมีอาการทางประสาท เช่น กระวนกระวาย ตื่นเต้น หงุดหงิด ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะสิ่งของไม่เลือก ที่สำคัญ เมื่อดูที่ม่านตาจะพบว่ารูม่านตาจะขยายกว้าง เริ่มออกวิ่งโดยไร้จุดหมาย แสดงอาการดุร้าย ถ้ากักขังจะกัดกรงอย่างรุนแรงจนเลือดกบปาก หรือฟันหัก โดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด เสียงเห่าหอนจะผิดไป เนื่องจากเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อกล่องเสียง สังเกตบริเวณลิ้นจะพบ
สีแดง ลิ้นห้อย คางห้อยตก นํ้าลายไหล ขย้อนอาหารคล้ายมีอะไรติดอยู่ในลําคอ กลืนน้ำและอาหารไม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า โรคกลัวน้ำ สาเหตุเพราะเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนและการกิน โดยสุนัขจะแสดงอาการระยะนี้ประมาณ 1-7 วัน ก่อนเข้าสู่ระยะอัมพาต

อาการระยะอัมพาตจะสั้นมาก จะมีอาการขาอ่อนเปลี้ย โดยเฉพาะขาหลัง เนื่องจากความสัมพันธ์ในการทำงานของกล้ามเนื้อเปลี่ยนไป สุนัขจะล้มลงแล้วลุกไม่ได้ เกิดเป็นอัมพาตขึ้นทั่วตัวอย่างรวดเร็วแล้วตาย

โดยทั่วไปพบว่าสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ จะแสดงอาการในระยะตื่นเต้นให้เห็นเด่นชัด หรือเรียกว่าเป็นบ้าแบบดุร้ายมากกว่าแสดงอาการในระยะอัมพาต หรือบ้าแบบซึม

การป้องกัน ในสัตว์เลี้ยงป้องกันโดยพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนกับสัตวแพทย์เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุครบ 3 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อมีอายุครบ 6 เดือน หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นซ้ำทุกปี อย่าให้ขาดนะครับ

การรักษา ในสัตว์เลี้ยงหรือคนที่ติดเชื้อและป่วยด้วยโรคนี้จะไม่มีทางรักษา เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัส

ดังนั้น หากท่านมีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ ควรพาสัตว์เลี้ยงของท่านไปพบสัตวแพทย์ เพื่อปรึกษาในเรื่องของการเลี้ยงดู การป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งสัตวแพทย์จะให้คำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะนอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ แล้ว ในเรื่องของการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องดูแลอีกมากมาย