posttoday

RSV ไวรัสร้าย มากับสายฝน

25 ตุลาคม 2559

เข้าสู่ฤดูฝน มักจะพบเด็กๆ ป่วยเพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลง เด็กมักจะได้รับเชื้อโรคง่ายกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus (RSV)

โดย...กันย์ ภาพ   คลังภาพโพสต์ทูเดย์

เข้าสู่ฤดูฝน มักจะพบเด็กๆ ป่วยเพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลง เด็กมักจะได้รับเชื้อโรคง่ายกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus (RSV) ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ส่งผลรุนแรง ถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อ ซึ่งไวรัสชนิดนี้ยังไม่มียารักษาและวัคซีน

พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน แพทย์ด้านโรคระบบทางเดินหายใจเด็ก โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจอักเสบในผู้ป่วยทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับอาการว่าจะเป็นมากในช่วงวัยไหน พบในเด็กอายุน้อยตั้งแต่วัยทารก จนถึงช่วงวัยเข้าอนุบาล

ประเทศไทยมักมีการระบาดช่วงฤดูฝน โดยเด็กๆ จะติดเชื้อไวรัส RSV จากการรับเชื้อผ่านทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จากการสัมผัส หรือละอองน้ำมูกของผู้ป่วยคนอื่น และมีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน ซึ่งสามารถเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ส่วนบนจนถึงส่วนล่าง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ และอาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีอาการปอดบวม ไอ หอบได้ง่าย เด็กจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย บางครั้งเป็นมาก จะหายใจดัง “วี้ด” ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการหายใจล้มเหลวได้

นอกจากนั้น ยังส่งผลให้เด็กบางคนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหอบหืดในอนาคตได้อีกด้วย เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก แต่สิ่งที่พ่อแม่สามารถสังเกตเห็นว่าลูกอาจจะติดเชื้อ RSV ได้แก่ ลูกมีอาการไอมาก ไอถี่ มีเสมหะเยอะและเหนียวข้น หายใจหอบเหนื่อย หายใจแรง หน้าอกบุ๋ม อาจมีเสียงหายใจดังวี้ดๆ ไม่กินอาหาร ไม่ดื่มน้ำ ไม่ดื่มนม มีไข้สูง มักจะซึม หรือหงุดหงิด กระสับกระส่าย

ปัจจุบันยังไม่มียารักษา RSV โดยเฉพาะ การรักษาอาการติดเชื้อไวรัส RSV จึงต้องรักษาไปตามอาการที่ป่วย คือ ให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ให้ยาลดน้ำมูก ในเด็กเล็กหรือเด็กที่มีอาการหนักอาจต้องนอนโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือ ให้ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ เคาะปอด และอาจจะต้องช่วยดูดเสมหะ หรือถ้ามีอาการรุนแรงมากก็จะต้องได้รับออกซิเจนหรือใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ

สิ่งที่จะช่วยให้ลูกน้อยไม่ป่วยจากโรคนี้ คือ การมีร่างกายที่แข็งแรงและรู้จักวิธีหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ด้วยวิธีการล้างมือบ่อยๆ หลังจากทำกิจกรรม หรือก่อนกินอาหาร เพราะไวรัส RSV สามารถติดต่อได้จากน้ำลาย น้ำมูก ไอ จาม ไม่ควรให้ลูกอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด