posttoday

เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทุกวันนี้กินผัก-ผลไม้ มีสารพิษที่ตกค้างในตัวคุณบ้างไหม!

21 มกราคม 2559

ผู้บริโภคอย่างเราๆ เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทุกวันนี้กินผัก-ผลไม้ อิ่มสารอาหารหรืออิ่มสารพิษกันแน่

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : คลังภาพโพสต์ทูเดย์/ โพสต์กราฟฟิก

ผู้บริโภคอย่างเราๆ เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทุกวันนี้กินผัก-ผลไม้ อิ่มสารอาหารหรืออิ่มสารพิษกันแน่ รู้หรือไม่ว่า จากการสุ่มตรวจยาฆ่าแมลงในเลือดทั่วประเทศพบว่า 1 ใน 3 ของเกษตรกรมียาฆ่าแมลงตกค้างในระดับมีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัย ขณะที่ผู้บริโภคกลับพบยาฆ่าแมลงตกค้างในกระแสเลือดมากกว่าเกษตรกรเสียอีก!

ข้อมูลจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ระบุถึงการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของไทย ซึ่งนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณนำเข้า 75 ล้านกิโลกรัมในปี 2548 เพิ่มเป็น 172 ล้านกิโลกรัม และมีมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านบาทในปี 2556

เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทุกวันนี้กินผัก-ผลไม้ มีสารพิษที่ตกค้างในตัวคุณบ้างไหม!

 

172 ล้านกิโลกรัมไปอยู่ที่ไหนบ้าง จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนของสำนักควบคุมพืชและวัสดุทางการเกษตร ที่ระบุถึงการรายงานชนิดของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งในผักผลไม้เพื่อการส่งออก เป็นรายชื่อวัตถุอันตรายทางการเกษตรกว่า 400 ชนิด และเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อันตรายร้ายแรง 155 ชนิด

“หนึ่งในนั้นอาจกำลังวางอยู่ในจานตรงหน้าเรา และเรากำลังจะหยิบเคี้ยวพิษภัยเข้าสู่ร่างกาย หรือแม้กระทั่งหยิบเคี้ยวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แล้วสารพิษตกค้างจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะไปอยู่ที่ไหนเล่า ถ้าไม่ใช่ในตัวเราท่านทุกคน”

เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทุกวันนี้กินผัก-ผลไม้ มีสารพิษที่ตกค้างในตัวคุณบ้างไหม!

 

ผู้พูดประโยคนี้คือ ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทย-แพน) เธอเล่าว่า สิ่งที่ไทย-แพนกำลังทำคือความพยายามขับเคลื่อนการยกเลิกและการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง (ดูรายละเอียดในเว็บไซต์ www.thaipan.org) ยุทธศาสตร์หลักคือการเดินไปทั้งโครงสร้าง ไม่เฉพาะเกษตรกร แต่ทุกภาคส่วนที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เดินหน้าสังคมไทยที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สถิติการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าเป็นห่วงคือ นำเข้าแล้วใช้ไม่ถูกต้อง เช่น นำเข้าเป็นสารเคมีเพื่ออุตสาหกรรมแต่หลุดไปใช้เพื่อการเกษตร หรือนำเข้ามาเพื่อใช้กับไม้ดอกไม้ประดับ แต่หลุดไปใช้กับพืชกินใบหรือในอาหาร ทำให้มีการตกค้างในอาหารหรือในผลผลิตสูงมาก คำตอบคือการแยกเคมีเพื่อการเกษตรออกมาจาก พ.ร.บ.วัตถุอันตราย วิธีนี้จะทำให้มาตรฐานการใช้เคมีเพื่อการเกษตรสามารถควบคุมได้

เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทุกวันนี้กินผัก-ผลไม้ มีสารพิษที่ตกค้างในตัวคุณบ้างไหม!

 

อีกด้านหนึ่งคือผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการผลักดันความปลอดภัยทางอาหารเช่นกัน นั่นหมายถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ขณะเดียวกันคือความเข้าใจต่อข้อมูล หลายครั้งและหลายกรณีที่ความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น การล้างผักที่ถูกต้อง หลายคนยังเข้าใจผิด หลายคนยังสับสน เช่น ล้างด้วยวิธีนั้นวิธีนี้แล้วจะปลอดภัย หากจริงๆ แล้วคือความรู้ว่าสารพิษอะไรต้องล้างอย่างไร และล้างด้วยอะไร

“น้ำส้มสายชู เกลือ เบกกิ้งโซดา ผงถ่าน หรือด่างทับทิม ฯลฯ ต้องรู้ว่าจะใช้อะไรล้างอะไร คาร์บาริลในแอปเปิ้ลล้างไม่ออก อะซีเฟตในผักตระกูลกะหล่ำก็ล้างไม่ออก รวมทั้งสารพิษบางชนิดที่เป็นนัน-ซิสเต็มมิกซึ่งล้างออกได้เพียงบางส่วน สารพิษตกค้างแม้ผ่านการล้างแล้ว เพราะสารพิษได้ดูดซึมเข้าไปในเนื้อของผลไม้เรียบร้อยแล้ว” ปรกชลเล่า

กรณีของพืชผักหรือผลไม้นำเข้าที่มีสารพิษตกค้าง ปรกชลระบุว่า แนวทางคือการหาทางออกร่วมกัน ยิ่งเปิดเออีซี สินค้าพืชผักการเกษตรจะไหลบ่า หากไม่มีมาตรการหรือความเข้มงวดในการกำกับใช้กฎหมายที่ดีพอ นอกจากสินค้าจะมีปัญหาแล้ว เรื่องความปลอดภัยของสารปนเปื้อน พิษและสารเคมีก็น่าเป็นห่วง

เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทุกวันนี้กินผัก-ผลไม้ มีสารพิษที่ตกค้างในตัวคุณบ้างไหม!

 

“ไทยยังมีระบบการคัดกรองการนำเข้าผักผลไม้ที่ย่อหย่อน เปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน เช่น เวียดนาม ที่เข้มแข็งกว่ามาก มิพักต้องกล่าวถึงมาตรฐานของสหภาพยุโรป ที่นั่นใช้ระบบ Rapid Alert System ตรวจสอบผักผลไม้นำเข้า การสุ่มตรวจถ้าเจอสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานจะรีเจกต์หรือปฏิเสธการนำเข้าทันทีที่ด่าน ข้อมูลนี้จะถึงกันหมดทั่วสหภาพฯ ภายใน 24 ชั่วโมง รวมทั้งผู้บริโภคที่สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ด้วย”

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหมดไปจากกระบวนการจัดการด้านอาหารคือ การจับมือกันแบบ Multi-Sectoral เชื่อมทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน

“ตัวอย่างที่เครือข่ายฯ ทำคือการขยับจากภาคเกษตรไปสู่ภาคของสุขภาพ แล้วจับมือกับการคุ้มครองผู้บริโภค ล่าสุดจับมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เชื่อมต่อกลไกให้เกิดการปฏิบัติ  สังคมต้องรับรู้และเดินหน้าไปพร้อมกัน”

เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทุกวันนี้กินผัก-ผลไม้ มีสารพิษที่ตกค้างในตัวคุณบ้างไหม!

 

ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า ต่างประเทศใช้สารเคมีในภาคการเกษตรสูง แต่เป็นการใช้ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด ใช้แล้วปลอดภัย หากเทรนด์คือการค่อยๆ ลด ค่อยๆ เลิก หันมามุ่งทางเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ใช้ปุ๋ยจากชีวภาพมากขึ้น คล้ายกับประเทศไทยเหมือนกัน กระบวนการในเรื่องนี้ต้องใช้เวลาและความอดทน รวมทั้งองค์ความรู้ (Evidence Base Policy)

ตบท้ายด้วยปรกชลที่สรุปว่า หนึ่งในกุญแจสำคัญคือผู้บริโภคเอง ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเรียกร้องกินแต่คะน้าหรือกะหล่ำปลีทุกวันเป็นเรื่องที่ต้องหยุด หาความรู้และกินผักผลไม้ตามฤดูกาลกันบ้าง ใช่! การเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่จะยากจนเกินการ จากการสุ่มตรวจครั้งล่าสุด ผู้บริโภคมากกว่า 60% มีระดับยาฆ่าแมลงในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยง-ไม่ปลอดภัย รู้อย่างนี้...รีบเปลี่ยนดีกว่า สนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ แล้วอย่าลืมส่งเสียงดังๆ ให้รัฐรู้ถึงความต้องการว่า เราต้องการอาหารที่ปลอดภัย เราเป็นผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่ไม่ปนเปื้อน

ตระหนักรู้ว่าเราเองคือผู้กำหนด เป็นผู้บริโภคเชิงรุก แล้วลุกขึ้นมาจากพฤติกรรมเดิมๆ กันเถอะ!

เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทุกวันนี้กินผัก-ผลไม้ มีสารพิษที่ตกค้างในตัวคุณบ้างไหม!

 

3 อันดับสารเคมียอดนิยมในไทย

คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) สารกำจัดแมลงที่มีการนำเข้าสูงสุด โดยในปี 2557 มีปริมาณนำเข้า 2 ล้านกิโลกรัม (ไม่รวมผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารผสม) การออกฤทธิ์ กินตาย ถูกตัวตาย ผลกระทบเกิดที่ระบบประสาท ส่งผลให้มีความผิดปกติทางอารมณ์ ซึมเศร้า ทำลายสารสื่อประสาทที่เซลล์ประสาท ส่งผลต่อพัฒนาการทางประสาทของทารก เป็นพิษต่อสมอง มีผลไปตลอดชีวิต

คลอร์ไพริฟอส มักพบตกค้างในคะน้า ถั่วฝักยาว ถั่วหวาน ถั่วลันเตา ถั่วแระ ถั่วแขก บร็อกโคลี่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักโขม ผักฉ่อย ผักกาดฮ่องเต้ มะเขือม่วง พริก พริกแดง พริกชี้ฟ้า พริกแห้ง ผักชี ผักชีฝรั่ง ผักแพว กะเพรา สะระแหน่ ขึ้นฉ่าย กระเทียม ข้าวโพด มันเทศ มันฝรั่ง มะนาว ส้ม แอปเปิ้ล ฝรั่ง แตงโม สตรอเบอร์รี่ ราสพ์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ องุ่น ทับทิม ลิ้นจี่ สาลี่ กล้วย แก้วมังกร

พาราควอต (Paraquat) ในปี 2557 มีปริมาณนำเข้า 21 ล้านกิโลกรัม พาราควอตมีพิษสูงและไม่มียาต้านพิษ หากใช้พาราควอตในการเก็บเกี่ยว เช่น ถั่วเขียว มีโอกาสสูงที่จะพบการตกค้างในผลผลิต เป็นสารเคมีไม่ระเหยจึงแขวนลอยเป็นอนุภาคอยู่ในอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ไอ ปัญหาสายตา ท้องเสีย ระคายเคือง ปวดหัว คลื่นไส้ ถ้าสัมผัสโดยตรงจะชักนำให้เซลล์ตาย ผิวหนัง ตา ปอดเสียหาย ทำลายเซลล์ประสาท รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ ไต ตับ หัวใจ

พาราควอตตกค้างยาวนาน โดยมีค่าครึ่งชีวิตในน้ำ 2-820 ปี (FAO, 2008) ในดิน 10-20 ปี (UNEP, 2011) ในประเทศไทยมีรายงานการตกค้างของพาราควอตในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสงคราม แม่น้ำปากพนัง และแม่น้ำจันทบุรี พบการตกค้างของพิษในสัตว์น้ำ

ไกลโฟเซต (Glyphosate) สารกำจัดวัชพืชยอดนิยม ที่ในปี 2557 ปริมาณนำเข้า 63 ล้านกิโลกรัม คิดเป็น 40% ของสารกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด มูลค่าการนำเข้า 4,531.25 ล้านบาท แต่มูลค่าการตลาดสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี นิยมใช้กำจัดวัชพืช หากใช้ในภาคการเกษตรจะปนเปื้อนแหล่งน้ำ น้ำใต้ดิน และน้ำดื่ม มักพบตกค้างในถั่วเหลืองจีเอ็มไอ นมโค น้ำผึ้ง และซอสถั่วเหลือง เหนี่ยวนำเซลล์มะเร็ง จับกับโลหะหนักก่อโรคไต และเป็นพิษต่อระบบประสาท