posttoday

นพ.อำนวย กาจีนะ ตั้งทีมร่วมกทม.ระวังไข้เลือดออก

28 พฤศจิกายน 2558

ฉบับนี้ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค จะมาเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับ “เครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในเมืองหลวง”

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

ฉบับนี้ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค จะมาเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับ “เครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในเมืองหลวง” เพื่อดูแลการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานครอย่างเข้มข้นมากขึ้น

คุณหมออำนวย บอกว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงวันที่ 17 พ.ย. มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศกว่า 111,826 ราย เสียชีวิต 108 ราย โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4,262 ราย และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ มากถึง 1 ใน 4 และยังมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

“สถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่ระบาดในประเทศไทยและใน กทม. เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราป่วยทั้งปีในปี 2557 แต่ยังน้อยกว่าอัตราป่วยในปี 2556 จากรายงานเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค” อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ

ด้วยเหตุนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ผนึกกำลังทุกภาคส่วนและชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชน เป็น “เครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในเมืองหลวง” สั้นๆ ว่า “Metro DengueNet” (เมโทร เดงกี่เนท) ต่อยอดการทำงานภายหลังจากมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระหว่าง 8 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร

รวมทั้งฟื้นฟูติดอาวุธความรู้การเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ร่วมมือกันแจ้งข้อมูล สอบถามประวัติผู้ป่วยที่เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรค นำไปสู่การสอบสวนและควบคุมโรคที่ตรงพื้นที่และรวดเร็วมากขึ้น พร้อมกับจัดทีมเพิ่ม 100 ทีม ให้ครอบคลุม

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายว่าเครือข่ายที่ขยายการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเน้นสอบถามประวัติที่พักอาศัยในระยะ 7 วันก่อนที่จะเริ่มมีอาการไข้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่อยู่ที่ถูกต้องแม่นยำ เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคในชุมชนที่พักอาศัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องไปพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายที่มีเชื้อได้ถูกสถานที่ อันจะส่งผลให้ลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก

“ความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรค การทำงานร่วมกันของประชาชน ชุมชน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อให้ประชาชน สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนบ้านใกล้เคียงในชุมชนปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกในที่สุด” นพ.อำนวย ระบุ

สำหรับในเขต กทม.หากประชาชนเป็นไข้สูงตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป หากกินยาแก้ไข้แล้วไข้ไม่ลด คลื่นไส้ อาเจียน หรือสงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือโทรสายด่วน กทม. 1555 เพื่อให้ กทม.จัดส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าตรวจสอบพื้นที่ กำจัดแหล่งพาหะของโรค