posttoday

‘ตาเขม่น’ ขวาก็ร้าย ซ้ายก็ไม่ดี

16 กรกฎาคม 2558

คนไทยกับความเชื่อเรื่องโชคลางเป็นของที่อยู่คู่กัน สั่งสมตกทอดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ไม่เชื่อแต่ก็อย่าลบหลู่ ฟังหูไว้หูเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

โดย...พริบพันดาว

คนไทยกับความเชื่อเรื่องโชคลางเป็นของที่อยู่คู่กัน สั่งสมตกทอดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ไม่เชื่อแต่ก็อย่าลบหลู่ ฟังหูไว้หูเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

การเตือนของอวัยวะหรือกล้ามเนื้อในร่างกาย ที่คนไทยนำไปผูกกับความเชื่อทางโชคลางที่พบบ่อยและง่ายที่สุดก็คือ อาการตาเขม่น โดยนำไปผูกติดกับคำว่า ขวาและซ้าย

จนมีความเชื่อพูดกันติดปากว่า “เขม่นตาขวาจะร้าย เขม่นตาซ้ายจะดี”

เมื่อมาดูกันในเรื่องสุขภาพกาย โดยอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์ อาการตาเขม่นเป็นโรคชนิดหนึ่ง มีศัพท์ทางการแพทย์บัญญัติว่า ตากระตุก (Benign Essential Blepharospasm)

จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยคณะอนุกรรมการวิชาการ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ชี้ชัดถึงสาเหตุของอาการตากระตุกว่า เป็นภาวการณ์เกร็งตัวของกล้ามเนื้อหนังตา (Orbicularis Oculi) โดยไม่ตั้งใจ (Involuntary) จากการศึกษาคาดว่าน่าจะเกิดจากการประสานงานผิดปกติ (Miscommunication) ของเซลล์สมอง (ส่วน Basal Ganglia) และอาจจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย

เมื่ออ้างอิงจากศัพท์ทางการแพทย์ก็ดูเข้าใจยาก มาสังเกตอาการตาเขม่นหรือการกระตุกของตาโดยไม่ตั้งใจนั้น ก็คืออยู่ดีๆ กล้ามเนื้อหรือหนังตา (อาจจะซ้ายหรือขวา) มันก็กระตุกขึ้นมาเอง ทั้งด้านบนหรือล่างของหางตาก็ได้ แรกๆ ก็จะมีการกระตุกเกร็งหรือเขม่นของกล้ามเนื้อตาไม่มาก แล้วจะหายไปเอง แต่จะทำให้ผู้ที่มีอาการเขม่นตากะพริบตาถี่ขึ้นกว่าปกติไปโดยอัตโนมัติ

‘ตาเขม่น’ ขวาก็ร้าย ซ้ายก็ไม่ดี

 

หากเกิดความเครียดหรืออ่อนเพลีย รวมถึงการอยู่ในที่ที่มีแสงสว่างจ้า จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น กล้ามเนื้อหนังตาเกร็งจนต้องกะพริบตาแรงๆ บางคนถึงกับลืมตาไม่ขึ้นและมีกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกเกร็งร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้จะไม่เลือกซ้ายหรือขวาแล้ว อาจจะเป็นทั้งสองข้างเลยก็ได้

แน่นอน อาการตาเขม่นมักจะไม่เกิดขึ้นบ่อย นานๆ ทีจะมากระตุกให้รำคาญหรือคิดถึงเรื่องโชคลางกันสักที โดยส่วนมากมาแล้วก็จะหายไปเอง แต่ถ้ามีอาการบ่อยๆ หรือเป็นๆ หายๆ ก็จะนำไปสู่อาการตาเขม่นเรื้อรังได้

เมื่อรู้ตัวว่าตาเขม่นหรือกระตุก หลังจากดูว่าซ้ายหรือขวาร้ายหรือดีแล้ว ก็ควรจะบำบัดทันที การที่จะทำให้ภาวะตาเขม่นดีขึ้นหรือหายไปก็คือ การนอนหลับ การใช้สมาธิมุ่งมั่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การพูด การร้องเพลง ซึ่งจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายหรือพักผ่อนเต็มที่

โดยรวมอาการตาเขม่นก็จะไม่รุนแรงมากนัก โรคนี้ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า แต่หากกำเริบเสิบสานถึงขั้นรุนแรงก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยกันอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางคือ จักษุแพทย์ เพราะภาวะตากระตุกหรือเขม่นตามักพ่วงมากับโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการนี้ นั่นก็คือ เปลือกตาอักเสบ ตาแห้ง ขนตาผิดปกติ การติดเชื้อของตา กระจกตาอักเสบ ต้อหิน ต้อกระจก โรคจอประสาทตา

‘ตาเขม่น’ ขวาก็ร้าย ซ้ายก็ไม่ดี

 

หากตรวจพบโรคเหล่านี้ร่วมด้วยก็รักษาง่ายขึ้น เพราะค้นพบสาเหตุที่แน่ชัดซึ่งเป็นที่มาของภาวะตาเขม่น แต่ถ้าไม่พบว่ามีโรคตาอื่นเป็นต้นเหตุ ก็สรุปได้ว่าเป็นตากระตุกชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ (Benign Essential Blepharospasm) จะทำการรักษาโดยใช้ยากิน ซึ่งมีให้เลือกใช้หลายกลุ่ม แล้วแต่แพทย์จะเลือกใช้

ถ้าใช้ยากินไม่ได้ผลก็จะพิจารณาใช้ยาฉีด ที่นิยมในปัจจุบันคือ การฉีด Botulinum Toxin บริเวณที่มีอาการ เพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งได้ผลดีมาก ประมาณ 95% ของผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น โดยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 เดือน ก็จะต้องฉีดซ้ำ แต่บางคนอาจอยู่ได้ 6-9 เดือน ผลข้างเคียงพบได้บ้าง แต่เป็นอยู่ชั่วคราวจะหายไปเองได้ เช่น หนังตาตก ตาปิดไม่สนิท หนังตาม้วนเข้าในหรือม้วนออกนอก มองเห็นภาพซ้อน เป็นต้น

ผู้ป่วยตากระตุกบางคนใช้ยากินไม่ได้ผล พอมารักษาด้วยยาฉีดก็ไม่ได้ผล แพทย์ก็จะใช้วิธีการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเอากล้ามเนื้อหนังตาออก (Myectomy) ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้มากกว่าการผ่าตัดเส้นประสาท (Neurectomy) ที่พบภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า

เพราะฉะนั้นการมีอาการตาเขม่นมีการกระตุกกล้ามเนื้อของบริเวณรอบตา ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในภาวะนี้บางรายอาจเกิดเป็นประจำจนอาจติดเป็นนิสัยได้ โดยมักจะมีอาการกระตุกมากเวลาเครียดหรือกังวลใจ อย่ามัวแต่สังเกตว่า ขวาร้ายซ้ายดี แต่ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงจะดีกว่า...