posttoday

ย้อนวันวาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

06 ธันวาคม 2559

เมื่อครั้งปี 2338 หรือหลังจากสร้างกรุงเทพฯ ได้ 13 ปี พระมหาพิชัยราชรถ และพระเวชยันตราชรถ

โดย...อณุสรา ทองอุไร ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช

เมื่อครั้งปี 2338 หรือหลังจากสร้างกรุงเทพฯ ได้ 13 ปี พระมหาพิชัยราชรถ และพระเวชยันตราชรถ ได้ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ผู้ทรงศักดิ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า มาตลอด 5 รัชกาล จนครั้งสุดท้ายพระมหาพิชัยราชรถได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยกรมรถไฟหลวงในเวลานั้น โดยเพิ่มล้อกลางขึ้นมาอีกหนึ่งล้อเพื่อรับน้ำหนักราชรถได้ดีขึ้น หลังจากใช้งานมากว่าร้อยปี แต่ก็ไม่ได้ใช้งานแต่ประการใด และก็มิได้เชิญออกมาอีกเลย ซึ่งต่อมาการประดิษฐานพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่ได้ใช้ราชรถองค์นี้

หน้าที่หลักตกแก่พระเวชยันตราชรถ ที่ทำหน้าที่มาอีก 3 รัชกาลต่อมา โดยถูกเรียกชื่อตามราชประเพณีว่า พระมหาพิชัยราชรถ แทนชื่อเดิมในงานออกพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 โดยครั้งสุดท้ายใช้ในการอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2528

ย้อนวันวาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

 

จนกระทั่งปี 2539 พระมหาพิชัยราชรถได้ถูกซ่อมแซมอีกครั้งโดยกรมสรรพาวุธทหารบก จนสามารถใช้งานได้อีกครั้งในงานออกพระเมรุ “สมเด็จย่า” สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระเวชยันตราชรถก็ได้กลับมาใช้ชื่อเดิม เพราะพระมหาพิชัยราชรถองค์เดิมสามารถใช้งานได้แล้ว ซึ่งในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 พระมหาพิชัยราชรถได้ออกมาใช้ทรงพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และครั้งสุดท้ายใช้ทรงพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งออกพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง ในเดือน เม.ย. 2555

มัณฑนา ยุบล เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ชำนาญงาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอด 234 ปี ที่ราชรถทั้งสององค์ถูกสร้างขึ้นมา พระมหาพิชัยราชรถได้ถูกใช้งาน 17 ครั้ง พระเวชยันตราชรถ 11 ครั้ง โดยปกติแล้วในโรงเก็บราชรถจะมีการก่ออิฐโบกปูนทุกครั้งหลังจากการนำราชรถทั้งสององค์ไปเก็บ เนื่องจากเป็นธรรมเนียมที่ถือกันว่าโบกปูนปิดเสียเลย จะไม่เป็นการนำราชรถออกมาใช้ให้เร็วจนเกินไปนัก

ย้อนวันวาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มัณฑนา ยุบล

 

นอกจากราชรถทั้ง 2 องค์แล้ว ยังมีราชรถน้อยอีก 5 องค์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เช่นเดียวกัน มีสัณฐานและรูปทรงคลับคล้ายกันแต่มีขนาดย่อมกว่า ใช้เป็นรถพระ รถโปรย และรถโยง นำหน้ารถทรงพระบรมโกศ ต่อมาในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ยกเลิกประเพณีโยงและโปรยในการพระราชพิธีพระบรมศพ ปัจจุบันจึงคงใช้ราชรถน้อยเป็นรถพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรมนำขบวน

สำหรับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และถือว่าเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณี นอกจากนี้ วัดแห่งนี้ยังเป็นสุสานหลวงแห่งจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์

พระครูปลัดสัมพิพัฒนเมธาจารย์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กล่าวว่า รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นหลังจากเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเพียง 1 ปี เมื่อปี 2412 และใช้เวลาในการก่อสร้างและรังสรรค์ความประณีตงดงามประกอบเป็นเวลาหลายสิบปี จึงเรียบร้อยบริบูรณ์ และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 ด้วยเช่นกัน เพราะพระองค์ไม่สร้างวัดใหม่เนื่องด้วยเห็นว่ามีวัดเยอะแล้ว แต่ทรงให้ทุนในการทะนุบำรุงปฏิสังขรณ์วัดซึ่งสมเด็จพระราชบิดาทรงสร้าง แทนการสร้างวัดใหม่

ย้อนวันวาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระครูปลัดสัมพิพัฒนเมธาจารย์

 

พระอารามหลวงแห่งนี้ มีความงดงามอยู่ที่การวางผังบริเวณงานสถาปัตยกรรมไว้อย่างสมบูรณ์ลงตัว มีพระมหาเจดีย์เป็นแกนกลางของวัด ประกอบไปด้วยพระวิหารทิศทั้ง 4 และชักพระระเบียงโอบล้อมเป็นวงกลม ที่น่าสังเกตยิ่งก็คือเหตุที่มีพื้นที่จำกัด และมีพระวิหารทิศตลอดจนพระระเบียงล้อมพระเจดีย์ ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้พระเจดีย์จมหายไป

นอกจากนั้น ผิวภายนอกของอาคารทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่กำแพงแก้วล้อมไพที ซึ่งยกระดับการก่อสร้างให้สูงกว่าพื้นดิน ล้วนแต่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์อันสูงค่าและงดงามวิจิตรยิ่ง ไม่มีพระอารามใดในราชอาณาจักรไทยนี้จะเสมอเหมือน

ย้อนวันวาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

 

นอกเขตมหาสีมาของพระอารามด้านทิศตะวันตกยังมีสุสานหลวง ประกอบไปด้วยสถูปเจดีย์และสถาปัตยกรรมรูปแบบต่างๆ แปลกตางดงาม เป็นที่ประดิษฐานและบรรจุพระบรมราชสรีรังคาร อังคารพระบรมวงศานุวงศ์ บาทบริจาริกา ตลอดจนสมาชิกในราชสกุลที่สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“มีเจดีย์อยู่หลายองค์ แต่มีพระเจดีย์ทอง 4 องค์ที่เป็นของพระมเหสี คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาเทวี (พระนางเรือล่ม) สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จแม่รัชกาลที่ 6) สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จย่า รัชกาลที่ 9) และพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี (เสด็จแม่ของกรมพระนครสวรรค์) และยังมีพระบรมราชสรีรังคารของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงอีกหลายพระองค์ ถือว่าเป็นสุสานหลวงแห่งรักแห่งเดียวในประเทศไทย”

ย้อนวันวาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

 

ความสำคัญของวัดแห่งนี้ก็คือ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ประมุขแพ่งพระบวรพุทธศาสนาถึง 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระศรีอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

นอกจากนั้น ยังเคยเป็นที่ประทับแรมของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก เมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณร

พระประวัติและประวัติแห่งท่านเหล่านี้ ที่ส่วนใหญ่มีส่วนในการทะนุบำรุงให้ชาติไทยเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน ทำให้สุสานหลวงแห่งนี้เป็นสถานที่น่าศึกษา

ย้อนวันวาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ