posttoday

"ภูมิพลมหาราช" กษัตริย์ผู้เป็นกำลังของแผ่นดิน

23 ตุลาคม 2559

"ภูมิพลมหาราช" มีความหมายว่า กษัตริย์ ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทรงเป็นกำลังของแผ่นดิน

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

มหาราช หรือในภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า The Great ถือเป็นสมัญญานามต่อท้ายพระนามของกษัตริย์ หรือผู้ปกครอง ที่ได้ทำภารกิจอย่างมากมายช่วยเหลือผู้คนทั้งด้านการรบ การแก้ไขปัญหาภายในประเทศ ตลอดจนการรักษาเอกราชของประเทศ รวมทั้งคงไว้ด้วยความยุติธรรมอันเป็นแบบอย่างที่ดี

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรอย่างต่อเนื่องยาวนาน ​ทำให้ประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันยกย่องเทิดทูนให้พระองค์ทรงเป็น “มหาราช” ในใจของประชาชน แต่ตามขั้นตอนการเติม “มหาราช” ต่อท้ายพระนามนั้น ​ทางรัฐบาลกำลังดำเนินการจัดทำให้ถูกต้องตามกระบวนการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า การใช้คำว่า มหาราช นั้นจะเป็นไปตามกฎหมายและวิธีดำเนินการของรัฐบาล รัฐบาลที่ผ่านมาเคยเสนอพระองค์ท่านไปแล้ว พระองค์ท่านทรงยังไม่เห็นชอบ ยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมา พระองค์ท่านรับสั่งว่าเป็นเรื่องของประชาชนและรัฐบาลที่จะทำต่อไป

“ตอนนี้ยังใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่อยากใช้ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าพระองค์ทรงรับทราบแล้ว เรื่องเป็นมหาราชหรือไม่เป็นมหาราชเป็นเรื่องของรัฐบาลและประชาชนจะต้องทำถวายพระองค์ท่าน ซึ่งรัฐบาลอยู่ในขั้นตอนตรงนี้อยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ประชาชนชาวไทยพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา “ภูมิพลมหาราช” โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ได้อ่านประกาศถวายพระราชสมัญญาตอนหนึ่งว่า

“จึงขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตประกาศความสมานฉันท์ พร้อมเพรียงกันเฉลิมพระเกียรติ และถวายพระราชสมัญญาเป็น มหาราช” และ “...​ขอพระมหาราชเจ้าเผยแพร่พระบรมกฤษฎาเดชานุภาพ คุ้มเกล้า คุ้มกระหม่อม เหล่าพสกนิกร ตลอดจิรัฐิติกาล เทอญ”​

ทั้งนี้ ถือเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี พระองค์ที่ 3 ที่ได้รับพระราชสมัญญา “มหาราช” แต่เป็นมหาราชองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ได้รับพระราชสมัญญาจากมติของปวงชนชาวไทย โดยในการสำรวจประชามติ เมื่อปี 2530 มีการผูกพระราชสมัญญาขึ้น 15 พระราชสมัญญา ประชาชนจำนวน 34 ล้านคน เลือกพระราชสมัญญา “สมเด็จพระภูมิพลมหาราช” ขณะที่ 6 ล้านคนเลือก “สมเด็จพระภัทรมหาราช”

“ภูมิพลมหาราช” มีความหมายว่า กษัตริย์ ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทรงเป็นกำลังของแผ่นดิน

และ “ภัทรมหาราช” หมายความว่า กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นท่ี่รักของปวงชน ซึ่งก่อนวันฉัตรมงคล 5 พ.ค. 2530 เคยมีความพยายามที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาหลายครั้งแล้ว แต่เพิ่งจะเป็นผลเมื่อมีการสำรวจประชามติจนได้ฉันทามติจากประชาชน

ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เล่าว่า การถวายพระราชสมัญญานาม “มหาราช” เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอดีต หากจำไม่ผิดเกิดขึ้นครั้งแรกในราชวงศ์จักรี เป็นช่วงที่ฝ่ายนักประวัติศาสตร์ หรือฝ่ายข้าราชการเสนอสมัญญานามมหาราชแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงได้รับสมัญญานามมหาราช

พระองค์ต่อมาเป็นรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับสมัญญาว่า “ปิยมหาราช” แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก และแปลว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” เหตุผลที่เสนอสมัญญาว่ามหาราชเพราะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทำคุณงามความดีแก่แผ่นดินอย่างใหญ่หลวง

ศรีศักร กล่าวว่า การถวายพระราชสมัญญา พระเจ้าตากสินมหาราช เกิดขึ้นในรัฐบาลสมัย “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ได้ประกาศให้วันที่ 28 ธ.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยุคนั้นยังมีมติให้ถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และได้พร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

ทั้งนี้ ​ศิลป์ พีระศรี อดีตคณบดีคณะประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2497 และในวันที่ 28 ธ.ค. 2497 จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะต่อมาทางราชการกำหนดให้วันที่ 28 ธ.ค. เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นั่นคือความเป็นมาของการถวายสมัญญาพระมหากษัตริย์ไทย เช่นเดียวกับรัชกาลที่ 9 รัฐบาลปัจจุบันสามารถดำเนินการได้เหมือนสมัยจอมพล ป.

"ภูมิพลมหาราช" กษัตริย์ผู้เป็นกำลังของแผ่นดิน

6 มหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่

หากไล่เรียงตั้งแต่อดีตมีพระมหากษัตริย์ไทยที่มี "มหาราช" ต่อท้ายพระนามมีทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ 1.พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 2.สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3.สมเด็จ พระนารายณ์มหาราช 4.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 5.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 6.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 1822-1841 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ได้รับการยกย่องเป็น "มหาราช" ด้วยทรงบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง

ยุคนี้ถือเป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุด ของกรุงสุโขทัย ทั้งระบบการปกครองภายในแบบพ่อปกครองลูกก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ประชาชนอยู่ดีกินดี ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปวัฒนธรรม และวิชาการต่างๆ สืบทอดกันมากว่าเจ็ดร้อยปี

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระนามเดิมว่าพระนเรศ หรือ "พระองค์ดำ" เป็นพระราชโอรสในสมเด็จ พระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตรีย์ ครองราชย์เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2133 สิริรวมการครองราชสมบัติ 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก

นอกจากนี้ ยังได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทยอย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศเมียนมาตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปจนถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3  เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 27 ในสมัย กรุงศรีอยุธยา ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ สร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยา ได้รับเอาวิทยาการสมัยใหม่จากต่างประเทศมาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์ รวมทั้งวางระบบท่อประปาภายในพระราชวัง

ที่สำคัญยุคนี้สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง มีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา รวมทั้งมีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักร รวมทั้งรับราชการในตำแหน่งสูง หลายคน  อาทิ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) อีกทั้งยังได้ตั้งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2310 สวรรคตเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2325 พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ คือ การกอบกู้เอกราชจากเมียนมาภายหลังการ เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โดยขับไล่ทหารเมียนมาออกจากราชอาณาจักรจนหมดสิ้น

นอกจากนี้ ยังรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ขับไล่ข้าศึกออกไปจากอาณาเขตไทยและขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งพัฒนากฎหมายบ้านเมือง ฉบับใดยังเหมาะแก่กาลสมัยก็โปรดเกล้าฯ ให้คงไว้ ฉบับใดไม่เหมาะก็โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเพิ่มเติมก็มี ยกเลิกไปก็มี ตราขึ้นใหม่ก็มี และ ทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2325 ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 46 พรรษา ทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ  และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี 22 วัน สวรรคตเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2453 ด้วยโรคพระวักกะสิริรวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา พระองค์ได้รับสมัญญาว่า "ปิยมหาราช" แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก

พระราชกรณียกิจที่สำคัญคือการโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลิกทาสและไพร่ในประเทศไทย ตลอดจนการป้องกันการเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิฝรั่งเศสและจักรวรรดิอังกฤษ รวมทั้งนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ทั้ง ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ระบบเขตการปกครองใหม่ รวมทั้ง การสร้างรถไฟสายแรก  การก่อตั้งการประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การสื่อสาร การรถไฟ

ทั้งหมดนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของไทยได้ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สร้างคุณูปการให้กับประเทศสืบนับจนถึงปัจจุบัน