posttoday

ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล ย้อนอดีตกาล ละครสร้างชาติ

23 เมษายน 2559

จากพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เรื่อง “โคลงภาษิตนักรบโบราณ”

โดย...นกขุนทอง/วนิชชา ตาลสถิตย์

จากพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เรื่อง “โคลงภาษิตนักรบโบราณ” เรื่องราวเกี่ยวกับความรักชาติและอุดมการณ์ และพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “เวนิสวาณิช” เรื่องราวของความรักความภักดี ได้ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านละครเวที“ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” รวมถึงน้อมนำพระวิสัยทัศน์ในด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศ และพระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทรงได้รับการถวายพระเกียรติว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้นำศิลปะมาพัฒนาประเทศ จนรัชสมัยของพระองค์ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยุค “ละครสร้างชาติ”

อัญเชิญพระราชสมัญญานาม “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” มีความหมายว่า “มหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์” มาเป็นมงคลนามในการจัดสร้างละครเพลง “ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ได้ทรงสถาปนาธนาคารออมสิน และในวาระคล้ายวันสถาปนาธนาคารออมสินครบ 103 ปีในปีนี้

ละครสร้างชาติ

ธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ละครเพลงเฉลิมพระเกียรติธีรราชา เดอะ มิวสิคัล จะนำผู้ชมย้อนไปในยุคสมัยร่มเกล้ารัชกาลที่ 6 จะได้เห็นถึงความเป็นไปของบ้านเมืองและชาวสยามในเวลานั้น และได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ ความเป็นวิสัยทัศน์ที่ทันสมัยและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในเวลานั้นด้วย และยังทรงให้ความรู้เรื่องปลุกจิตสำนึกราษฎรในเรื่องอุดมการณ์ความเป็นชาติ “เป็นที่ทราบกันดีว่าในยุคสมัยของรัชกาลที่ 6 ถือเป็นยุคที่รุ่งเรืองทั้งในเรื่องของบ้านเมือง เศรษฐกิจ รวมไปถึงในเรื่องของศิลปะการแสดง ดังนั้นยุคสมัยดังกล่าวจึงถือว่าเป็นยุคแห่งการละคร ซึ่งก็ถือเป็นยุคที่รุ่งโรจน์รุ่งเรือง ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขภายใต้ร่มพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เรื่องราวในยุคสมัยนั้นจึงควรค่าแก่การถ่ายทอดวิถีชีวิตให้ประชาชนยุคปัจจุบันได้ประจักษ์กัน”

ธิษณา เดือนดาว กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์เอ็นแมทเทอร์ส ในฐานะผู้อำนวยการแสดง เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ละครเพลงธีรราชา เดอะ มิวสิคัล “เมื่อเราได้รับโจทย์ต้องทำละครเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เราใช้เวลาคิด 1 ปีเต็ม ทุกคนทราบดีว่ารัชกาลที่ 6 ท่านได้รับฉายานามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า สิ่งที่เราค้นพบในความเป็นปราชญ์ของท่านคือ ได้เห็นวิสัยทัศน์ในการปกครองบ้านเมืองในยุคที่เรียกว่ากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ ณ เวลานั้น อีกทั้งความมีพระทัยกว้างของพระองค์ท่าน การที่ท่านเป็นปราชญ์ และยังเมตตาให้มีการเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น ฉะนั้นแรงบันดาลใจจึงมาจากการพัฒนาประเทศอย่างมีองค์ความรู้และร่วมพลังสามัคคี ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร เราสามารถเอาอุดมการณ์ของเรามารับใช้ชาติได้ เหมือนคำว่า ละครสร้างชาติ เราต้องศึกษาก่อนว่าการสร้างชาติด้วยละครเป็นอย่างไร แล้วจึงกลั่นเป็นบทละครออกมา”

ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล ย้อนอดีตกาล ละครสร้างชาติ

 

ส่วนความพิเศษของละครเพลงเรื่องนี้ ผู้อำนวยการแสดง บอกว่ามี 3 ข้อ คือ 1.แนวคิดที่จะสื่อสารว่าธีรราชาคืออะไร และประเทศเราได้รอดพ้นในยุคสมัยที่ยากที่สุดได้อย่างไรจนสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งได้มือวางอันดับต้นๆ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ เขียนบทซึ่งเป็นงานที่หินมาก ทั้งการค้นคว้าข้อมูลอย่างหนัก และการทำให้เป็นละครที่มีพร้อมทั้งศิลป์และศาสตร์ 2.ได้ทีมงานคุณภาพ เพราะการทำละครเพลงเป็นงานที่ยากมาก ต้องใช้ผู้ชำนาญการหลายสาขา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น พล.ร.ต.วีระพันธ์ วอกลาง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พ.ศ. 2551 มาเป็นผู้อำนวยเพลงและวาทยกร รศ.จารุณี หงส์จารุ เป็นผู้กำกับและประพันธ์เพลงให้ไพเราะ อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลอง จ.แพร่ และเจ้าของพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ มาออกแบบเครื่องแต่งกาย ขวด-มนตรี วัดละเอียด เมกอัพอาร์ติสต์ที่แต่งหน้าการแสดงโขนพระราชทาน นอกจากนี้ยังได้นักแสดงที่มีประสบการณ์ละครเพลง หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ  รอน-ภัทรภณ โตอุ่น จิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว ปาน-ธนพร แวกประยูร แอ๊ด-ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย และความพิเศษที่ 3 คือ จะได้ฟังเพลงเพราะๆ จากละครเรื่องนี้อย่างเต็มอิ่มทั้งเพลงคุ้นหูอย่าง ความรัก จากบทพระราชนิพนธ์แปลเรื่องเวนิสวาณิช และยังมีเพลงที่แต่งใหม่ทั้งหมดอีก 25 เพลง

ผู้พาย้อนรอยอดีตกาล

พันพัสสา ธูปเทียน ผู้กำกับการแสดง จากประสบการณ์ที่เคยกำกับการแสดงละครเวทีมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เห็นว่าเรื่องนี้ท้าทายที่สุด “สำหรับนักการละครไทย เราถือว่ารัชกาลที่ 6 เป็นบิดาแห่ง
การละคร ฉะนั้นจึงเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับครูละครคนหนึ่ง และหลายๆ ท่านที่ได้มีโอกาสทำละครเรื่องนี้ รวมถึงเนื้อหาที่มีความท้าทายมาก เพราะว่าเราพูดเรื่องการสร้างชาติ ความภักดี และอุดมการณ์ แม้ว่ามุมมองต่างกัน แต่ท้ายที่สุดเราสามารถอยู่ร่วมกันและสร้างชาติไปด้วยกันได้อย่างไร”            

สำหรับการอัญเชิญบางบทบางตอนในพระราชนิพนธ์มาใช้ในการแสดง รศ.จารุณี หงส์จารุ ผู้กำกับและประพันธ์เพลง กล่าวถึงขั้นตอนทำงานว่า “มาจากทางการเขียนบทของ ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ ซึ่งได้อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์โคลงภาษิตนักรบโบราณ ได้แต่งเป็นเพลง เป็นชายเชื้อชาติแกล้ว ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 6 ซึ่งในเนื้อเพลงมีทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ภาษาไทยรวมอยู่ในเพลงเดียวกัน และยังอัญเชิญบทพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง เวนิสวาณิช เพลงความรัก มาอยู่ในละครเรื่องนี้ด้วย เราเชื่อมั่นว่าละครเรื่องนี้จะเป็นละครที่ทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา บทเพลง ทีมงาน ทำนอง การเรียบเรียง การเขียนคำร้อง เชื่อว่าจะประทับใจกับเนื้อหาที่กลั่นออกมาเป็นดนตรี”

ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล ย้อนอดีตกาล ละครสร้างชาติ

 

อีกหนึ่งคนที่บอกว่างานหินแต่สุดภาคภูมิใจ คือ ปริญญา ต้องโพนทอง ผู้ออกแบบและกำกับลีลา “เราจะต้องออกแบบลีลาท่าทางที่สะท้อนถึงขนบธรรมเนียมในยุคนั้น และต้องทำออกมาเป็นมิวสิคัล ไม่ว่าจะขยายด้วยแดนซ์มูฟเมนต์ ฉะนั้นภาพทั้งหมดจะเกิดการทำงานและออกแบบโดยนักแสดงสมทบและนักแสดงหลัก เรื่องนี้จะสนุกได้จากพลังของนักแสดงล้วนๆ มีความสวยของภาพการแสดง เราซ้อมกันมาอย่างหนักจริงๆเพื่อละครเรื่องนี้ครับ”

รับทราบเบื้องหลังกันไปแล้ว ถึงคราวนักแสดงผู้อยู่เบื้องหน้าที่ต้องถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้ชมได้ซาบซึ้งไปกับบทละคร

หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ รับบท ประยงค์ ลูกสาวของคุณหญิงเยื้อน (ปาน ธนพร) ประยงค์เป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า มีความคิดกึ่งเฟมินิสต์ คือ อยากทัดเทียมผู้ชาย ผู้หญิงสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากในยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทั้งบ้านเมือง สังคม วัฒนธรรม

จิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว รับบท เจ้าพระยาเสนาภักดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัว ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลด้านการเงินการคลัง และเป็นผู้กำกับดูแลงานใหญ่ที่จะเกิดขึ้นคือ งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ งานเอ็กซ์โปใหญ่ของประเทศ ถือว่าเป็นครั้งแรกในสยามประเทศที่จะเกิดงานใหญ่ระดับประเทศ ด้วยความเป็นขุนนางใกล้ชิดจะทราบคลื่นลมทางการเมือง หรือคลื่นใต้น้ำขณะนั้นซึ่งมาจากหลายกลุ่ม เจ้าพระยาฯ ผ่านชีวิตมาแล้วมากมายจนตกผลึก จึงทำหน้าที่คอยประนีประนอม และชี้นำกำกับเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทุกคนต้องยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตน และลดอัตตาของตนลงบ้าง เพื่อประเทศชาติและในหลวงของเรา

ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล ย้อนอดีตกาล ละครสร้างชาติ

 

แอ๊ด-ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย รับบท พระบริภัณฑ์รักษา เป็นผู้รับผิดชอบดูแลคลังออมสิน นิสัยสมถะ สุขุม รับใช้ในหลวงและประเทศชาติ เรามักพูดว่าคนเก่งกับคนดีเป็นอย่างไร การเป็นหัวหน้าคนเป็นอย่างไร บทคุณพระจะสะท้อนให้เห็นในเรื่องนี้

ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล จะนำผู้ชมย้อนกลับไปสัมผัสบรรยากาศในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เห็นความเป็นไปของบ้านเมืองในเวลานั้นผ่านตัวละครต่างๆ และได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ที่ทันสมัย และเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในเวลานั้น ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศ อีกทั้งยังทรงให้ความรู้และปลุกจิตสำนึกราษฎรในเรื่องอุดมการณ์ความเป็นชาติ ผ่านพระราชดำรัสและบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ เปิดให้ชมฟรีระหว่างวันที่ 18-22 พ.ค. ณ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์  รายละเอียดการเข้าชมเพิ่มเติมที่ www.gsb.or.th หรือ facebook :GSB society หรือแอด Application LINE ของธนาคารออมสิน