posttoday

สำเร็จ เมืองพทุธ ซ้อมๆๆๆ สู่พระเอกสตันต์

05 มีนาคม 2559

เป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่ในขณะนี้สำหรับ “มวยลิงต้องห้าม” ศิลปะการต่อสู้แบบมวยโบราณ ซึ่งเป็นตัวชูรสใน “วานรคู่ฟัด” ภาพยนตร์แอ็กชั่นสายพันธุ์ไทย

โดย...นกขุนทอง ภาพ ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

เป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่ในขณะนี้สำหรับ “มวยลิงต้องห้าม” ศิลปะการต่อสู้แบบมวยโบราณ ซึ่งเป็นตัวชูรสใน “วานรคู่ฟัด” ภาพยนตร์แอ็กชั่นสายพันธุ์ไทย ที่รวมตัวทีมงานนักบู๊ผู้คร่ำหวอดในสายงานสตันต์แมนมานานกว่า 10 ปี “สำเร็จ เมืองพุทธ” เป็นอีกหนึ่งคนที่ผ่านงานเป็นตัวประกอบ เป็นหนึ่งในพระเอกหลายคนต่อเรื่อง เป็นผู้ร้ายในหนังเกาหลี ผู้ช่วยกำกับคิวบู๊ ออกแบบท่าต่อสู้ มาถึงวันนี้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “พระเอก” ได้สำเร็จสมชื่อ

“เข้าวงการนี้ด้วยจากแคสติ้งกับพี่พันนา ฤทธิไกร ติด 1 ใน 8 คน เซ็นสัญญากับค่ายสหมงคลฟิล์ม 10 ปี ช่วงแรกฝึกหลักสูตรของพี่พันนา เช้าฝึกยิมนาสติก บ่ายมวยไทย บ่ายแก่กระบี่กระบอง เย็นแอ็กชั่น จน 3 เดือนผ่านไปทำเวิร์กช็อป มีงานก็ปล่อยไป ทำงานสตันต์ ปีๆ หนึ่งมีหนังที่ทำกันหลายเรื่องก็ไปแจมเรื่องนั้นนี้ สตันต์กับเอ็กตร้าต่างกัน ทักษะ ค่าตัวก็ต่างกัน แล้วสตันต์เองแต่ละคนก็มีทักษะที่ต่างกัน บางคนถนัดตกตึกก็รับบทตกตึก บางคนถนัดโดนรถชนกระเด็นก็รับบทนั้นไป และผมเขยิบมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับแอ็กชั่นก่อน ทุกคนต้องได้ออกแบบแอ็กชั่น มีโอกาสมาอยู่เบื้องหน้าครั้งแรกหนังเรื่อง โคตรโส โครตโส ปี 2010 ตอนนั้นเป็น 1 ในพระเอก”

สำเร็จ เมืองพทุธ ซ้อมๆๆๆ สู่พระเอกสตันต์

เป็นเวลา 15 ปี ที่เขาใช้ร่างกาย ทักษะการต่อสู้ ทำงานเลี้ยงชีพ แม้จะเชี่ยวชาญ รู้ว่าอะไรควรทำอย่างไร แต่การฝึกซ้อมยังสำคัญ ไม่ว่าจะกระโดดตีลังกากลับหลังได้แต่ถ้าขาดการฝึกซ้อมก็อาจพลาด เคยกระโดดเตะสูงถ้าไม่ซ้อมก็ยกขาเตะไม่สูงเท่าที่เคยทำมา ดังนั้น “ห้องซ้อม” จึงเป็นสถานที่ที่เขาคลุกอยู่มากกว่าบ้านเสียอีก

ห้องซ้อม ล่าสุดอยู่ที่ตึกรีเจ้นท์ ศรีนครินทร์ เป็นของบริษัท เก้าไทยทะยาน เจ้าของโปรเจกต์หนังวานรคู่ฟัด ที่สำเร็จเข้าร่วมทีมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นับหนึ่งมาด้วยกัน

“ทุกวันผมยังฝึกอยู่ อย่างมวยเราเป็นก็จริงแต่ความฟิตสภาพร่างกายเราต้องรักษาไว้ แอ็กชั่นต้องได้มาตรฐาน ตั้งแต่ทำงานนี้ผมยังไม่เคยหยุดซ้อมเลย ถึงแม้จะพัฒนาน้อยเพราะร่างกายอายุเรามากขึ้น แต่อย่างน้อยมันก็จะไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่เราเคยทำไว้ ผมมาฝึกเองคนเดียว นอกจากตอนที่ออกแบบท่าใหม่ๆ ถึงจะมาช่วยกันคิดท่า ฝึกกันหลายคน คนหนึ่งทำ คนหนึ่งดู ห้องฝึกไม่มีอะไรมาก โล่งๆ มีเบาะบาง-หนาไว้ฝึกยิมนาสติก ฝึกกระโดด มีกระสอบไว้เตะต่อย กระดูกงูไว้เซฟตี้รองรับแรงกระแทก มีแทมโพลีน ก่อนเปิดกล้องหนังผมก็ไปเรียนมวยไทยเพิ่ม เพราะเป็นมวยลิงต้องห้าม มีอยู่จริง เราไม่ได้อุปโลกน์ขึ้นมา เรียนกับ พ.อ.อำนาจ พุกศรีสุข พันเอกพิเศษที่สอนการต่อสู้ในกองทัพ ส่วนท่าของโขนเรียนกับครูมืด-ประสาท ทองอร่าม ตรงนี้เอามารวมกัน จากท่าโขนมาถอดเป็นท่าต่อสู้ก็ระดมกันออกแบบ แล้วก็ฝึกๆ จนมันเป็นท่วงท่าการเคลื่อนไหวของร่ายกายเราอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น ท่าหย่อง ท่ารำ ท่ายืน มาจากตัวหนุมาน ในหนังเราต้องการนำเสนอมวยลิงต้องห้ามชัดๆ ไม่ใช่มวยไทยที่เราคุ้นเคย หรือเทควันโด

สำเร็จ เมืองพทุธ ซ้อมๆๆๆ สู่พระเอกสตันต์

 

เราต้องเรียนให้ซึมซับให้มันอยู่ในกล้ามเนื้อเรา ผมฝึกอยู่ประมาณ 2 ปี ฟิตร่างกายก่อนฝึก 1 ปี ทำเวตเทรนนิ่ง วิ่ง ยิมนาสติกที่เราต้องใช้งานกับร่างกายเรา เล่นแอ็กชั่นมันเหนื่อยมาก แล้วหนังเราต้องการขายเรียลแอ็กชั่นต้องเล่นยาวๆ ไม่ใช่ 1 2 3 คัท ดังนั้นถ้าร่างกายไม่ฟิตไม่ไหวท่าก็ไม่สวยดูไม่แข็งแรงเพราะสลิงเราใช้เฉพาะคิวบนรถ ใช้ในการเซฟตี้ กันร่วง ช่วยในการพยุง แอ็กชั่นตีลังกา นอกนั้นแอ็กชั่นเราเล่นจริง ผมซ้อมวันละ 3-4 ชั่วโมง/วัน แต่ถ้าวันนัดดีไซน์ท่าก็ตั้งแต่ 10.00-17.00 น. เป็นแบบนี้อยู่กับมันตลอด 1 ปี การซ้อม มันคือประเด็นหลักของอาชีพสตันต์ แล้วเวลาซ้อมท่าใหม่ท่ายากที่เสี่ยงจะต้องซ้อมกับคนอื่นห้ามซ้อมคนเดียว ตั้งแต่ทำมาก็มีพลาดมีมาเรื่อยๆ แต่ไม่ได้หนัก เพราะทุกครั้งที่เราซ้อม จะถ่ายหนังอันตรายเราให้ความสำคัญกับการเซฟตี้ เราเลยไม่ได้กลัว เมื่อก่อนก็มองว่าอาชีพสตันต์เสี่ยงพอเรามาอยู่ได้เห็นระบบความปลอดภัย มีแบบแผนก็ไม่รู้สึกว่าอันตราย ชีวิตผมอยู่กับการซ้อมอยู่กับตรงนี้มากกว่าทุกที่ เวลาทำงานไปกองถ่าย เวลาว่างก็อยู่ที่ซ้อม แลกเปลี่ยนท่ากัน ซ้อมกัน กลายเป็นสังคมหนึ่ง คนหนังแอ็กชั่นมาคุยกัน” 

วานรคู่ฟัด เข้าโรงฉายไปเมื่อปลายเดือน ก.พ. แม้ในเมืองไทยจะลาโรงไปแล้ว แต่ในต่างแดนภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจ ถูกซื้อไปจัดฉายแล้วหลายประเทศ และจากการประสบความสำเร็จในการขายหนังนี่เอง ทำให้เกิดโปรเจกต์ “วานรคู่ฟัด 2” นับเป็นอีกมิติใหม่ของภาพยนตร์แอ็กชั่นไทยที่ผสมผสานศาสตร์โบราณและศิลปะการต่อสู้แบบไทย-จีนได้อย่างน่าสนใจ