posttoday

ห้องหุ่น ยิ่งจริง ยิ่งน่ากลัว

06 กรกฎาคม 2557

ถ้านึกถึงละครจำพวกผีหลอก วิญญาณหลอน จำได้ว่าหนึ่งในนั้นจะต้องมี “ห้องหุ่น”

โดย...นายใจดี

ถ้านึกถึงละครจำพวกผีหลอก วิญญาณหลอน จำได้ว่าหนึ่งในนั้นจะต้องมี “ห้องหุ่น” อยู่ด้วย จำได้ว่าน่ากลัว แต่กลัวอย่างไรนั้นก็ออกจะลืมๆ เลือนๆ ไปบ้าง จนกระทั่งมีภาพยนตร์ชื่อ “ห้องหุ่น” ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้นี่เอง จึงทำให้นึกย้อนไปถึงความหลอนความน่ากลัวของห้องหุ่นอีกครั้ง

ก่อนที่จะนึกเล่าเรื่องเก่า ต้องเท้าความถึงเรื่องใหม่ที่จุดประกายความคิดก่อน เพราะถ้าคนที่ไม่เคยดูละครเรื่องห้องหุ่นมาก่อนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน บทประพันธ์เดียวกัน ซึ่งในภาคละครน่ะใช่ แต่สำหรับเวอร์ชั่นภาพยนตร์ต้องบอกว่าคนละเรื่องเดียวกัน เพราะภาพยนตร์ห้องหุ่นเป็นการตีความใหม่ของ “กัลป์ กัลย์จาฤก” ผู้กำกับรุ่นหลานบริษัท กันตนา เจ้าของลิขสิทธิ์บทประพันธ์ห้องหุ่น ซึ่งประพันธ์โดย “ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก”

ห้องหุ่น ยิ่งจริง ยิ่งน่ากลัว

 

ห้องหุ่นเวอร์ชั่นภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวตัวละครรุ่นลูกรุ่นหลานของ “เดช สัตยาภา” (ตัวละครในเวอร์ชั่นละคร) เมื่อ นพ (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) ได้สูญเสียน้องสาวตัวเองไปหลังจากที่เธอได้สั่งปั้นหุ่นขี้ผึ้งรูปตัวเอง จนเขาเริ่มพบว่า ใครก็ตามที่มีรูปปั้นหุ่นตัวเองจะมีอันเป็นไปก่อนเวลาอันควร ดังนั้นการกลับมาครั้งนี้ของห้องหุ่นจึงไม่ใช่การรีเมก แต่เป็นการตีความใหม่ ตัวละครใหม่ ทว่ายังมีบางส่วนเป็นกิมมิกให้พออ้างอิงกับต้นฉบับ โดยเฉพาะนักแสดงที่เป็นหุ่นก็นำมาจากนักแสดงในเวอร์ชั่นละครอยู่หลายตัว

มาถึงห้องหุ่นเวอร์ชั่นละคร ที่เคยถูกสร้างมาแล้วถึง 3 ครั้ง ทางช่อง 7 สี

ห้องหุ่น ยิ่งจริง ยิ่งน่ากลัว

 

ในปี 2519 ผู้สร้างคือ ค่ายดาราฟิล์ม (ดาราวิดีโอในปัจจุบัน) ตอนนั้นยังเรียกเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ เพราะถ่ายทำระบบฟิล์ม พากย์เสียงตามหลัง นักแสดงในยุคนี้ต้องบอกว่าเรียกแขกได้มากจริงๆ อย่าง ชัย ราชพงษ์ ก็กำลังเป็นพระเอกขึ้นหม้อจากละครแนวจักรๆ วงศ์ๆ ไหนจะมี เสกศักดิ์ สันติพงษ์ สุชีรา สุภาเสพย์ สองนักแสดงที่เล่นละครชวนขนหัวลุกมาแล้วหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมี ศิรดา ศิริวัฒน์ มนฤดี ยมาภัย ศศิวรรณ นันทิยารักษ์ ฯลฯ

ครั้งที่ 2 ปี 2532 ผู้สร้างคือ ดาราวิดีโอ (เจ้าเดิม) นำแสดงโดย บดินทร์ ดุ๊ก ปิยะดา เพ็ญจินดา ธนาภรณ์ รัตนเสน ชไมพร จตุรภุช วรานันต์ ยูสานนท์ นักแสดงในเวอร์ชั่นนี้ล้วนคัดนักแสดงดังแห่งยุค แม้กระทั่งเล่นเป็นหุ่นแม้บทจะไม่เด่นก็ยังใช้ดาราดัง

ครั้งที่ 3 ปี 2546 ผู้สร้างคือ กันตนา นำแสดงโดย อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร จีรนันท์ มะโนแจ่ม อภิรดี ภวภูตานนท์ ฐาปกรณ์ ดิษยนันทน์ เจมี่ บูเฮอร์ ฯลฯ ครั้งล่าสุดต้องยอมรับว่านักแสดงหน้าใหม่เยอะเหลือเกิน บวกกับกระแสตอนนั้นมีละครรีเมกออกมาหลายเรื่อง นักแสดงหน้าใหม่ก็เยอะ ทำให้บทบาทหุ่นในเวอร์ชั่นนี้ลดความขลังลงไป ความน่ากลัวลดน้อยลง

ห้องหุ่น ยิ่งจริง ยิ่งน่ากลัว

 

จะว่าไปแล้วในเรื่องของเทคนิคของใหม่ดีกว่าของเก่า แต่ความน่ากลัวนั้น เท่าที่ยังจำฝังใจของเก่านั้นได้คะแนนความน่ากลัวไปกว่ามาก เพราะความสมจริง ทั้งแสงสี และการขยับเขยื้อนของหุ่นปั้นที่สร้างความหลอน แค่ใช้เทคนิคเขย่ากล้องก็ได้ภาพของหุ่นที่สั่นไหวอย่างน่าสะพรึงกลัว ต่างจากการใช้เทคนิคพิเศษ นี่แหละเสน่ห์ของความสมจริงที่ไม่ต้องใช้ซีจีเข้าช่วย

นึกได้ถึงความน่ากลัว ที่มาดูจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “หุ่นปั้น” ทุกๆ ตัว ในห้องชั้นใต้ดินของบ้าน ที่กลายเป็นห้องหุ่นเพราะมีหุ่นหลายตัว หลายเพศ หลายยศถาบรรดาศักดิ์มาอยู่รวมกัน จะไม่ให้ตกใจกลัวได้ไงในห้องที่มีแสงสลัวๆ หุ่นที่ควรจะยืนแข็งทื่อแต่กลับกะพริบตา คอหมุนซ้ายขวาได้ บทจะหลับตาลืมตาโพลงขึ้นมาก็ไม่ให้ทันตั้งตัว

หุ่นที่จำได้แม่นอีกตัว คือ หุ่นท่านเจ้าคุณ ที่นั่งบนม้านั่งโยกๆ นั้นไง พอจำกันได้ไหม ไม่ได้เป็นตัวเอกหรอกแต่มีซีนแกเมื่อไรกอดอกตั้งใจหลับตาข้างเพื่อไม่ให้เผลอตกใจกลัวตามทุกทีสิน่า

แต่ต้องบอกอีกว่าที่กลัวๆ น่ะ ไม่ได้กลัวหุ่นผีดุหรอกนะ เพราะหุ่นในเรื่องห้องหุ่นเป็นหุ่นดี ที่ออกมาหลอกหลอนเพื่อช่วยปกป้องนางเอก (อมรา) จากนางร้าย (พรรณราย) นั้นเอง เข้าตำรา “คนดีผีคุ้ม” แต่กลัวเพราะตกใจหุ่นนี้ล่ะ

ยุค 2519 กับ 2532 นอกจากละครดังแล้ว เพลงประกอบละครชื่อ “ห้องหุ่น” ก็ดังไม่แพ้กัน แต่งโดย “มนัส ปิติสานต์” เรียกว่าเป็นเจ้าพ่อแต่งเพลงผีเลยก็ว่าได้ เพลงละครแนวอื่นก็มีแต่ง แต่เพลงแนวผีนี้คนจำชื่อได้แม่น ส่วนคนร้องคือ “ประภาศรี ศรีคำภา” รายนี้ก็ร้องเพลงประกอบละครเยอะเหมือนกัน

ดนตรีเพลงห้องหุ่นคนจำได้ทันที เพราะเริ่มต้นก็ชวนขนหัวลุกกับเสียง หัวเราะหึๆ ในลำคอของชายแก่ ซ้ำยังต่อด้วยเสียงร้อง ตั๊บแกๆ อีกตะหาก

“ในห้องหุ่น เหมือนถิ่นอาถรรพ์

ทุกตัวหุ่นปั้น ราวกับมันมีชีวิตจริง

รูปปั้นชาวนา รูปปั้นเจ้าหญิง

หุ่นปั้นรำพึงรำพัน อยากให้รูปนั้นมีชีวิตจริง

คนปั้นรำพึงรำพัน จนวิญญาณมาเข้าสิง

โอยหลงรักเป็นบ้า น่าสงสารจริง...”

เนื้อเพลงนี้พอจะบอกเนื้อเรื่องของห้องหุ่นได้คร่าวๆ แล้วลองจิตนาการตามกันดูสิว่า หุ่นปั้นที่ควรจะแข็งโป๊ก ไม่มีชีวิต แต่กลับมีชีวิตในร่างกายที่ไม่มีเลือดเนื้อ จะชวนหลอนเพียงใด...