posttoday

อัจฉริยะ...ไม่มีที่สิ้นสุด

22 พฤษภาคม 2559

ขณะเดินเข้าไปออกตั๋ว ณ บ็อกซ์ออฟฟิศ ภาพอดีตของเด็กผู้หญิงตัวกลมๆ ซึ่งขมขื่นใจเสมอในชั่วโมงเรียน

โดย...แหนง-ดู

ขณะเดินเข้าไปออกตั๋ว ณ บ็อกซ์ออฟฟิศ ภาพอดีตของเด็กผู้หญิงตัวกลมๆ ซึ่งขมขื่นใจเสมอในชั่วโมงเรียนคณิตศาสตร์ก็ตามมาหลอกหลอน ต้องอาศัยความกล้าหาญอยู่ไม่น้อยกับการตัดสินใจเข้าไปนั่งดูหนัง The Man Who Knew Infinity ซึ่งนำเรื่องราวของ รามานุจัน นักคณิตศาสตร์ชื่อดังมาถ่ายทอดบนจอ เพราะไม่มากก็น้อยหนังย่อมมีเรื่องราวของคณิตศาสตร์ ที่จวบจนวันนี้ยังคงเป็นศาสตร์ซึ่งเรายากจะเข้าใจและจินตนาการไม่ถึง แต่ความอยากดูก็มีพลังมากกว่าความกลัวไม่รู้เรื่อง ก่อนจะพบว่าคณิตศาสตร์ในหนังไม่นับเป็นเรื่องขื่นขมใจเกินไป ทว่าเรื่องราวชีวิตของนักคณิตศาสตร์ผู้เป็นแก่นแกนของเรื่องนั้นดูจะขมขื่นกว่า  

ชื่อของ ศรีนิวาสะ รามานุจัน (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1887-1920) บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะเจ้าของทฤษฎีคณิตศาสตร์เช่นทฤษฎีจำนวน อนุกรมอนันต์ (Infinite Series) และเศษส่วนต่อเนื่อง เป็นผู้ที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงวงการอย่างแท้จริง สิ่งที่ทำให้เขาผู้นี้โดดเด่นและแตกต่างคือ รามานุจันไม่เคยรับการศึกษาด้านคณิตศาสตร์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในสถาบัน แต่กลับได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีอัจฉริยภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า เลออนฮาร์ด ออยเลอร์, คาร์ล ฟรีดริช เกาส์, ไอแซก นิวตัน หรือ อาร์คิมีดีส ผู้เป็นตำนาน

รามานุจัน (เดฟ พาเทล) มาจากครอบครัวยากจนทางตอนใต้ของอินเดีย เขาสนใจเรื่องตัวเลขมาตั้งแต่ยังเด็ก และด้วยหนังสือตรีโกณมิติทำให้เขาได้ดุ่มเดินเข้าไปในป่าแห่งคณิตศาสตร์ ซึ่งลึกและกว้างราวไม่มีจุดสิ้นสุด รามานุจันเรียนดีจนได้รับทุนเข้าไปศึกษามหาวิทยาลัย แต่ก็ถูกให้ออกในเวลาต่อมา เพราะนอกจากคณิตศาสตร์แล้ว เขาไม่ได้สนใจวิชาอื่นๆ เลย รามานุจันยังคงลุ่มหลงตัวเลขไม่เสื่อมคลาย ต่อมาสามารถสร้างทฤษฎีอันน่าทึ่งด้วยตัวเอง เมื่อเรื่องราวของเขาข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงอังกฤษ ศาสตราจารย์ จี.เอช. ฮาร์ดี (เจเรมี ไอออนส์) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ก็เชื้อเชิญชักชวนให้รามานุจันเดินทางไปยังสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนั้น ชายหนุ่มละทิ้งแม่และภรรยาไว้เบื้องหลัง เพื่อออกเดินทางไกลโดยมุ่งหวังให้โลกได้รู้จักสิ่งที่เขาคิด

อัจฉริยะ...ไม่มีที่สิ้นสุด

 

ณ สถาบันอันเก่าแก่ในอังกฤษ รามานุจันถูกกีดกันเหยียดหยาม เพราะความแตกต่างทางสีผิวเชื้อชาติ รวมทั้งปูมหลังทางด้านการศึกษา เขาไม่ได้รับการยอมรับ เพราะทฤษฎีของเขายังพิสูจน์ไม่ได้ รามานุจันต้องต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขารัก โดยมี จี.เอช. ฮาร์ดี โอบอุ้มก่อนจะได้เป็นสมาชิกราชสมาคมแห่งลอนดอน และสมาชิกวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

หนังทำให้เรารู้จักกับอัจฉริยะผู้นี้มากขึ้น คณิตศาสตร์ที่ใส่มาก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างคาด ทั้งยังทำให้เห็นจุด “โรแมนติก” ของศาสตร์นี้อีกต่างหาก !!!

และที่ออกจะเป็นเรื่องส่วนตัวนิดหนึ่งคือ หนังเรื่องนี้ทำให้เราได้สัมผัส เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาระดับตำนาน ซึ่งเราได้คลุกคลีกับทฤษฎีของเขาสมัยเป็นนักศึกษาสาขาวิชาปรัชญาอยู่หลายเทอม

ถามว่า The Man Who Knew Infinity น่าดูไหม ตอบว่า น่าดู ถามว่า ดีไหม ตอบว่า ดี

และถ้าได้เติมหรือเพิ่มดีกรีในบางจุดเข้าไปน่าจะทำให้ดีกว่านี้ น่าดูกว่านี้ได้ ด้วยหนังยังไม่ขยี้ให้สุดถึงจุดไคลแมกซ์ทั้งในมุมดราม่า ซึ่งคาดว่าจะต้องน้ำตาหลั่งไหลเพราะเห็นใจในชีวิตของรามานุจัน แต่ก็ไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแค่ทำให้น้ำตาซึมๆ

อัจฉริยะ...ไม่มีที่สิ้นสุด

 

ฉากที่เรารู้สึกร่วมกับรามานุจันที่สุดคือ เมื่อเขาร้องไห้หน้ารูปปั้น ไอแซก นิวตัน ที่เรารู้สึกอ้างว้างเดียวดายไร้หนทางของเขาได้อย่างลึกซึ้ง รวมทั้งฉากที่ชายหนุ่มผู้โดดเดี่ยวต้องเจ็บป่วยอยู่เพียงลำพัง

หนังเน้นในเรื่องราวมิตรภาพของรามานุจัน กับ จี.เอช. ฮาร์ดี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นมิตรภาพที่เปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งมันก็ยังคาใจเล็กๆ ว่าน่าจะลงรายละเอียดส่วนนี้ให้มากกว่าที่เป็น ขณะที่เรื่องความรักความผูกพันความคิดถึงระหว่างสามี-ภรรยาซึ่งมีอยู่ แต่ไม่ได้เน้น หากเติมลงไปอีกหนึ่งก็จะเกิดเป็นแง่มุมซาบซึ้งประทับใจ แต่ที่ออกพอดีแล้วไม่ต้องมากไปกว่านี้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่และเมียของ รามานุจัน ที่ตอนจบทำให้ต้องร้องในใจว่า “อ้อ ... มันเป็นอย่างนี้นี่เอง”

The Man Who Knew Infinity เชิดชูมิตรภาพประสานักวิทยาศาตร์ ซึ่งหัวใจและความรู้สึกก็มีไม่ต่างจากคนอื่นๆ ทว่าการเปิดเผยหรือแสดงออกมาอาจจะไม่เหมือนกันเท่านั้น นี่ยังเป็นหนังซึ่งให้กำลังใจผู้คนในเรื่องการพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง (และผลงาน) ต่อให้คนทั้งโลกมองผ่าน แต่ตัวตนและคุณค่าที่แท้จริงจะไม่เปลี่ยนแปลงตามมุมมองของผู้อื่น และถ้าเราสามารถพิสูจน์มันได้ ถึงโลกจะไม่รัก แต่โลกจะต้อง “ยอมรับ”