posttoday

จิวเวลรี่ในฝัน ดรุโณทัย วัชโรทัย

13 กันยายน 2560

น่าชื่นใจกับแบรนด์ดาวรุ่งวงการเครื่องประดับไทย ได้ผลตอบรับดีมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

น่าชื่นใจกับแบรนด์ดาวรุ่งวงการเครื่องประดับไทย ได้ผลตอบรับดีมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ แหวนรูปสัตว์ตัวน้อยๆ นกหลากหลายชนิดโบยบินอยู่รอบซุ้มกุหลาบ เจ้าหนูตัวจิ๋วหน้าตาน่าเอ็นดูกำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความรัก ปีนป่าย มวลดอกไม้หลากสีเป็นแบบฉบับของความรักโรแมนติก สะท้อนความอ่อนหวานโชว์ในรูปแบบเครื่องประดับหลากหลาย แหวน กำไล ต่างหู สร้อยข้อมือ โดยเน้นเทคนิคการลงยาให้เกิดสีสันสวยงามน่าทะนุถนอม 

ดรุโณทัย วัชโรทัย ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ชาร์มมิ่ง เรียลลิสม์ (Charming Realism) เริ่มวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้า ดิ เอ็มโพเรียม เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่ผ่านมาผลงานดีไซน์ในช่วงแรกได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำในวัยเด็ก ทยอยตามมาด้วยอีก 3 แบรนด์ใช้ชื่อเจ้าตัวดีไซเนอร์เอง ดรุโณทัย (Darunotai) เกิดขึ้นในช่วงของการค้นหาตัวเอง ลายเส้นน่าหลงใหลพัฒนามาเป็นความงาม แบรนด์ เมจิคัล เรียลลิสม์ (Magical Realism) แตกไลน์ออกมาทำกระเป๋าคลัตช์ใส่กิมมิกให้เก๋ไก๋ขึ้นกว่าเดิมและแบรนด์ “Lost at sea” กำลังจรัสแสงโกอินเตอร์หลายๆ ประเทศในยุโรป โชว์ผลงานนักออกแบบจิวเวลรี่ดาวรุ่งที่น่าจับตามอง ไม่เคยละทิ้งความฝัน

 

 

จิวเวลรี่ในฝัน ดรุโณทัย วัชโรทัย

 

 

ความรักเครื่องประดับเริ่มตั้งแต่วัยรุ่น “มะปราง” ดรุโณทัย เล่าย้อนภาพสาวน้อยช่างแต่งตัววัย 15 ปี หลังเลิกเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุดหมายคือย่านช็อปปิ้งสยามสแควร์ ไปเดินเล่นระหว่างรอพี่สาวที่เรียนจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ทุกๆ วันร้านเครื่องประดับคือสถานที่ที่พี่น้องสองสาวไปขลุกกันได้ทั้งวันความรักจิวเวลรี่ดีไซน์เริ่มจริงจังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปรึกษาคุณพ่อ (พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย) แนะนำเลือกเรียนเป็นวิชาชีพโดยไปเรียนออกแบบเป็นปริญญาตรีใบที่ 2หลังจบปริญญาตรีด้านอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดรุโณทัย จึงตัดสินใจไปเรียนต่อจิวเวลรี่ดีไซน์ Central St.Martins College of Art and Design ประเทศอังกฤษ และคว้าปริญญาตรีใบที่ 2 มาสำเร็จ ระหว่างเรียนได้เริ่มสร้างสรรค์งานจิวเวลรี่มาโดยตลอด ดรุโณทัย คว้ารางวัลชนะเลิศจาก The Worshipful Company of Tinplate Workers alias Wire Workers สมาพันธ์เก่าแก่ที่สุดในเกาะอังกฤษคว้าผลงานชนะเลิศจากการประกวด หัวข้อ Bauhaus ได้รับการคัดเลือกให้วางจำหน่ายในพิพิธภัณฑ์ Barbican และมหาวิทยาลัยนำผลงานไปโชว์ในพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert เสน่ห์ของจิวเวอรี่ ชิ้นน้อยใหญ่ สิ่งละอันพันละน้อยล้วนเกิดจากประสบการณ์และความชื่นชอบส่วนตัว ถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวให้กลายเป็นเรื่องเล่าสุดคลาสสิก จนเกิดเป็นเครื่องประดับแบรนด์ ชาร์มมิ่ง เรียลลิสม์“พอเรียนจบอักษรฯ ปรางคิดแผนลุยสร้างแบรนด์เครื่องประดับเลยค่ะ แต่พอลองเริ่มทำชิ้นแรกๆ ก็รู้เลยค่ะ ว่าเราไม่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งพอในงานด้านเทคนิกการผลิต ส่งผลให้การดีลกับช่างทำเครื่องประดับใช้วิชาชีพของเขา เอาเปรียบเราได้ 

จึงเป็นเหตุผลที่คุณพ่อบอกว่าการรู้ลึกรู้จริงเราจะไม่เสียรู้ใคร จึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาตรีอีกใบเรื่องช่างคือความยากที่สุดของคนทำงานออกแบบ คือ เรามีความเป็นศิลปิน ช่างก็มีความเป็นศิลปินเช่นกัน ปรางยังจำแหวนค็อกเทลริงวงแรกที่ออกแบบได้เลยค่ะ จู่ๆ มีพลอยหัวใจประดับหัวแหวนโดยที่เราไม่ได้ดีไซน์ ช่างก็ให้เหตุผลเรื่องการค้ำเรือน เป็นหัวใจที่งงมาก (หัวเราะ) แหวนวงนี้เป็นครูที่ให้ทั้งประสบการณ์ด้านการสื่อสารกับช่าง การประนีประนอม เพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการ หัวใจในการทำงานคือการรับฟังค่ะ ช่างคือครูของเรา

ตอนนั้นก็ต้องพับโปรเจกต์ไปด้วยความอ่อนประสบการณ์ ขอไปเรียนเก็บความรู้ก่อน คุณพ่อก็สนับสนุนลูกเต็มที่ให้ไปเรียนที่สถาบันออกแบบที่เซนต์มาร์ตินส์" ดรุโณทัย เริ่มสนทนาพร้อมรอยยิ้มอ่อนหวานสมกับรูปลักษณ์เครื่องประดับของเธอ

คอลเลกชั่นแรก A Little Romance ความรักของสัตว์น่ารักตัวจิ๋ว นำเสนอเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ ผู้เล่าตัวน้อย ถ่ายทอดเรื่องราวความรักหลากหลายรสชาติ 8 คอลเลกชั่น ผลงานการออกแบบเล่าประกอบบทกวี เรื่องราวความรักเล็กๆ ในช่วงฤดูร้อน

"การตั้งชื่อแบรนด์ชาร์มมิ่ง เรียลลิสม์ เป็นภาษาวรรณคดี เกี่ยวเนื่องกับศิลปะ และภาพยนตร์ ปรางได้ยินคำนี้ครั้งแรกตอนเรียนอักษรศาสตร์ คำนี้เป็นความเชื่อว่าสิ่งมหัศจรรย์สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง ซึ่งในมหัศจรรย์ในการออกแบบ คือ Craft คือแรงงาน คือฝีมือของคน ไม่ว่าคอมพิวเตอร์จะพัฒนาไปได้ไกลสักแค่ไหน แต่ความละเอียด ความอ่อนหวานจะคงอยู่ในงานฝีมือแต่ละชิ้นเซนต์มาร์ตินส์ฝึกให้ทำจิวเวลรี่โดยไม่ใช้การหล่อ คือ ไม่ใช้วิธีการทางอุตสาหกรรมเลยค่ะ แต่ใช้วิธีในแบบการขึ้นมือ สอนการทุบ การเชื่อม การพับแผ่นทองเหลืองดึงลวดปั้นให้เป็นชิ้นงาน โจทย์คือให้ทำสร้อยข้อมือแต่ไม่ให้ทำกำไล ชิ้นส่วนต้องเคลื่อนไหวได้ เพื่อที่จะฝึกเกี่ยวกับการทำกลไกของจิวเวลรี่ แต่ละชิ้นงานเน้นลายเส้นและฝีมืออันประณีตจากแบรนด์แรกแฟชั่นแอกเซสซอรี่ ปรางจึงสนใจไฟน์จิวเวลรี่แบรนด์ ดรุโณทัย นำเสนอสู่วงการเครื่องประดับอีกหนึ่งแบรนด์ค่ะ”

ชาร์มมิ่ง เรียลลิสม์ แบรนด์แรกความฝันสะท้อนให้เห็นในรูปแบบเครื่องประดับหลากหลาย แหวน กำไล ต่างหู และสร้อยข้อมือ เทคนิคการลงยา แบรนด์แรกได้ใจตลาดเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี แบรนด์ต่อมา ดรุโณทัย ได้ใจตลาดยุโรปไปทันที

“เครื่องประดับคือความท้าทายใจการสวมใส่ การเปิดตัวแบรนด์ใหม่จึงมีการพัฒนาการออกแบบเล่นกับลายเส้นมากขึ้น การคิดคำนวณน้ำหนักการเลือกใช้วัสดุที่ใช้โลหะและใช้เทคนิคที่เรียกว่า Electroforming ทำเครื่องประดับชิ้นใหญ่แต่ได้น้ำหนักเบา ด้วยวิธีทำแกะต้นแบบงานมือจากขี้ผึ้งแล้วฉาบโลหะด้วยความร้อนให้ขี้ผึ้งละลาย สวมใส่ได้ทั้งวัน ตั้งแต่เช้าใส่สร้อยคอชิ้นนี้ไปทำงาน ตกเย็นใส่ไปทำงานได้สบายๆ ไม่หนักไม่เมื่อยคออะไรเลย รับรองค่ะ"

จิวเวลรี่น้องใหม่ไฟแรงพร้อมลุยความสดใส น่ารัก ของเครื่องประดับแต่ละชิ้นกว่าจะตกผลึกสร้างแบรนด์ใหม่สู่วงการได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก ดรุโณทัย บอกการตีโจทย์เพื่อสร้างแบรนด์เพิ่มความรู้ด้านธุรกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลการเติบโตขยาย 4 แบรนด์ไม่หยุดยั้ง

 

 

จิวเวลรี่ในฝัน ดรุโณทัย วัชโรทัย

 

 

“โลกการตลาดหมุนไปเร็วมากค่ะ ประเภทของการสื่อสารใหม่ๆ เข้ามา เริ่มแรกธุรกิจ ปรางทุ่มสร้างเว็บไซต์หนักมาก ทั้งกราฟฟิกสวยจัดเต็ม คนก็เข้ามาดูเยอะนะคะ และไปได้ดีในประเทศอื่นๆ ยกเว้นบ้านเราค่ะ (หัวเราะ) คนไทยนะคะ จะซื้อของก็ต้องขอเจ๊าะแจ๊ะให้รู้ว่ามีตัวตนจริง อยากได้ความมั่นใจในสินค้าขอพูดคุยสักนิดหนึ่ง ทำให้ช่องทางการขายในไลน์ ไปได้ดีกว่ามาก ซึ่งมองอีกมุมนี่คือการสร้างฐานลูกค้าที่มั่นคงมากค่ะ ถ้าเขาติดเราได้การได้พูดคุยสื่อสารกับคนใช้เครื่องประดับของเรา ก็ได้โจทย์การดีไซน์แหวน กำไล สร้อยชิ้นใหม่ๆ อีกด้วยค่ะ สมัยก่อนตอนเรียนอักษรศาสตร์ อายุ 22 ปี ทำแหวนนำร่องทดลองตลาดเล็กๆ ก่อน ก็คิดว่าคนใส่แหวนของเราต้องเป็นสาวหวาน ละเมียดละไม ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ซึ่งก็เหมือนกับตัวปรางเองค่ะ ปรางก็มีงานอดิเรก เขียนนิยาย แต่งกลอน ทำขนม อ่านหนังสือ เย็บผ้า ซึ่งก็นำเสนอผ่านเครื่องประดับหวานสวยละเมียดละไม

อีกมุมผู้หญิงเราจะเป็นอะไร แต่งตัวสไตล์ไหนก็ได้ค่ะ ตามที่เราอยากเป็น อย่างส่วนตัวปรางก็ใส่เครื่องประดับแบบจัดเต็มทุกวันเลย (หัวเราะ) หลากหลายสไตล์มาก ทั้งไข่มุกหวานๆ พังก์ร็อกปักหมุดเยอะๆ ชอบทุกแบบก็ยิ่งทำให้รู้เลยค่ะ ว่าผู้หญิงสมัยนี้บุคลิกเปลี่ยนไปได้ตามวาระและโอกาส การแต่งตัวหลากหลายรูปแบบ ไม่มีกรอบกำหนดตายตัวอีกแล้ว

ตอนเรียนเซนต์มาร์ตินส์ ปีที่ 3 อาจารย์มีคำถาม...เครื่องประดับคืออะไร?

ซึ่งตอนอยู่เมืองไทยได้ออกแบบแหวน เราคิดแค่เครื่องประดับคือส่วนหนึ่งของการแต่งตัว แต่ในห้องเรียนการได้คลุกคลีอยู่กับเครื่องประดับหลายๆ แบบ คำตอบคือแหวนวงเดียวเป็นอะไรได้มากกว่านั้น มากกว่าเพิ่มการแต่งกายให้สวยครบ แต่คือความรัก ในความหมายเป็นสิ่งให้แทนใจ คือสิ่งที่เราซื้อให้คนพิเศษ จิวเวลรี่ให้ความรู้สึกด้านบวกเสมอค่ะ ความประณีตและการเลือกใช้อัญมณีมีมูลค่า ก็ยิ่งทำให้เครื่องประดับชิ้นนั้นกลายเป็นความอมตะ

ปรางมีความสุขกับการใช้เครื่องประดับมากๆ ก็คิดว่าใช่แล้ว นี่คือสิ่งที่เราอยากทำเป็นอาชีพจริงจังแน่ๆ ในงานที่จริงจัง จึงคิดสร้างสรรค์นอกจากดีไซน์แล้ว คำตอบอีกข้อคือความประณีตค่ะ นกแต่ละตัว หนูแต่ละตัว หน้าตาไม่เหมือนกันเลย ทุกตัวมีบุคลิกแตกต่าง ความประทับใจไม่ใช่กำไลที่ช่างหวาน ช่างเต็มไปด้วยกุหลาบ แต่ต้องมีความลึกซึ้งกว่านั้น ผู้หญิงที่เลือกแหวนวงนี้ เพราะชอบหน้าตานกตัวนี้ เป็นรีเลชั่นของคนกับเครื่องประดับที่เธอสวมได้ด้วยนะคะ”  ดรุโณทัย บอกพร้อมรอยยิ้มหวานสดใสไม่แพ้แอกเซสซอรี่แบรนด์ ชาร์มมิ่ง เรียลลิสม์

ดีไซเนอร์ทุกคนกลัวการก๊อบปี้อยู่แล้ว แต่ในแง่การตลาดถ้าสามารถสร้าง Brand awareness มีเอกลักษณ์ชัดเจน จากการลอกเลียนก็จะกลายเป็นอีกมุมที่จะกระจายตลาดกว้างขึ้นได้ด้วย ขณะเดียวกันฐานลูกค้าเดิมก็จะมีความภักดีติดตามแบรนด์ไปอีกเรื่อยๆ สิ่งสำคัญที่สุดของการบุกเบิกแบรนด์ใหม่ คือ เราต้องไปนั่งในใจลูกค้าให้ได้ คือ เป้าหมายสุดมุ่งมั่นในเวลานี้