posttoday

วรรณพร พิมพิสุทธิ์ ทำอาหารให้เป็นเรื่องสนุก

07 กรกฎาคม 2560

ด้วยบุคลิกที่ดูห้าวนิดๆ ของ แบม-วรรณพร พิมพิสุทธิ์ ยามถอดผ้ากันเปื้อน วางมือจากตะหลิว มาสวมเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช

ด้วยบุคลิกที่ดูห้าวนิดๆ ของ แบม-วรรณพร พิมพิสุทธิ์ ยามถอดผ้ากันเปื้อน วางมือจากตะหลิว มาสวมเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ ทำให้แทบจินตนาการไม่ออกเลยว่า เธอคือ เชฟผู้อยู่เบื้องหลังสุดสร้างสรรค์ทั้งหมดของร้านอาหารสุดฮิปอย่าง ซาวา ไดนิง (Sava Dining) ร้านอาหารที่เป็นอีกหนึ่งความฝันของ หมู-พลพัฒน์ อัศวประภา ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง ซาว่า กรุ๊ป

แบม บอกว่า ถ้าย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีใครมาทักว่าวันนี้เธอจะเป็นเชฟ เธอคงเถียงขาดใจ เพราะจากเด็กที่ค่อนข้างเกเร ไม่ชอบเรียนหนังสือ ทำอาหารไม่เป็น แม้จะคว้าปริญญาตรีด้านการตลาดจากออสเตรเลียมาครองได้สำเร็จ แต่เป้าหมายของชีวิตยังไม่ชัด เธอจึงตัดสินใจก้มหน้าเรียนปริญญาโทต่ออีกใบ เพราะทางบ้านก็พร้อมสนับสนุน ทว่า สุดท้ายราวกับโชคชะตาเล่นตลก เมื่อเธอได้ไปลงเรียนคอร์สทำอาหารระยะสั้น และคอร์สนั้นก็ได้เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

“อย่างที่บอก เราไม่ใช่เด็กเรียน ออกจากขี้เกียจด้วย (หัวเราะ) ตอนที่เรียนปริญญาโทเรียนไปไม่ถึงเทอม ก็ตัดสินใจลาออก ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ใจดีคืนค่าเล่าเรียนให้ ตอนนั้นเลยไปลองลงคอร์สทำอาหาร ปรากฏจากทำอาหารไม่เป็นเลย เรียนแล้วดันชอบ จากคอร์สระยะสั้น เลยเรียนยาว 2 ปีจนจบ เรียนตั้งแต่พื้นฐานการหั่นผัก การเสิร์ฟ ล้างจาน

ตอนนั้นคุณพ่อโกรธมากนะ เพราะสมัยนั้นวงการอาหารยังไม่บูมอย่างทุกวันนี้ จบมายังไม่รู้เลยว่าจะไปทำงานอะไร จำได้ว่าตอนนั้นคุณพ่อไม่ส่งเงินให้เลย จากที่อยู่เมืองนอกเรียนอย่างเดียว ก็ต้องไปทำงานหารายได้ระหว่างเรียนไปด้วย”

พอเรียนจบ ด้วยความคิดถึงเมืองไทย อาหารไทย แบมจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน ช่วงแรกๆ ที่กลับมา เธอยังไม่ได้เร่งร้อนรีบหางาน แต่สุดท้ายโอกาสก็วิ่งเข้าหา เมื่อมีคนรู้จักแนะนำให้เธอลองไปสมัครงานที่ร้านอาหารเกรย์ฮาวด์ ซึ่งแบมยกให้เป็นโรงเรียนแห่งสำคัญในชีวิต

“ตอนนั้นทางเกรยฮาวด์มีเชฟอยู่แล้ว แต่ให้แบมไปเป็นเหมือนฟู้ด สไตลิสต์ ช่วยดูแลหน้าตาอาหาร ขนมหวาน การแต่งจาน การเลือกจานชามให้ดูดี การทำงานที่นี่ทำให้เเราได้เรียนรู้หลายอย่าง จากเดิมที่เรียนทฤษฎีมาแล้ว ผ่านงานภาคปฏิบัติมากบ้าง แต่ลงสนามจริง ทุกอย่างคือรื้อใหม่หมด เรียกว่ามาทำงานเป็นที่นี่เลยก็ว่าได้”

หลังจากทำงานที่นี่ได้ 2 ปี เชฟสาวสายห้าวก็ตัดสินลาออก แบมบอกว่า เพราะตั้งใจจะมาเรียนต่อด้านอาหารเพิ่มเติม บวกกับเริ่มรู้ตัวว่าด้วยอุปนิสัยที่รักอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ จึงไม่เหมาะกับการทำงานประจำ แต่สุดท้ายยังไม่ได้ทันได้ขยับขยายไปหาความรู้เพิ่มเติม โอกาสก็นำพาให้เธอได้จับพลัดจับผลู นำความรู้และประสบการณ์ที่มีไปช่วยเพื่อนที่กำลังจะเปิดร้านอาหารพอดี และเริ่มต้นเป็นฟรีแลนซ์อยู่ในแวดวงธุรกิจอาหารอยู่ร่วม 3 ปี ก่อนจะมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในชีวิต เมื่อเธอตัดสินใจสร้างครอบครัว

วรรณพร พิมพิสุทธิ์ ทำอาหารให้เป็นเรื่องสนุก

“ช่วงที่แต่งงาน มีลูก นี่แทบจะเฟดจากงานทั้งหมดไปเลย จังหวะนี้เองเป็นช่วงที่พี่หมู อาซาว่า ติดต่อมาว่าจะมีโปรเจกต์เปิดร้านอาหาร อยากให้เราไปช่วย ตอนแรกที่พี่หมูติดต่อมา แบมปฏิเสธไป เพราะกำลังท้องลูกคนที่สอง แต่พี่หมูบอกว่าเขารอได้ บวกกับตอนนั้นเราคุยแล้วค่อนข้างคลิกกัน สุดท้ายเลยได้มาร่วมงานกัน ช่วยกันคิดคอนเซ็ปต์ร้าน เมนูต่างๆ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เข้าปีที่ 3 แล้ว รวมเวลาเตรียมงานประมาณ 1 ปีด้วย”

แบมบอกเล่าถึง แรงบันดาลใจเบื้องหลังซาวา ว่าตั้งใจให้อาหารของร้านไม่มีสัญชาติ “เราไม่ใช่ร้านอาหาร ไทย จีน ฝรั่ง หรือฟิวชั่น เราไม่ได้ใช้เทคนิคมากมายอะไรในการสร้างสรรค์เมนู แต่ยังยืนอยู่บนหลักการทำอาหารพื้นฐาน คือ ต้ม ผัด แกง ทอด เพียงแต่เพิ่มความโมเดิร์นเข้าไปในอาหาร ด้วยการสไตลิ่งให้หน้าตาอาหารดูดี เพราะเราไม่ได้ตั้งใจเป็นร้านอาหารที่ขายแต่อาหาร เราตั้งใจมอบประสบการณ์มื้อพิเศษให้กับลูกค้าที่เข้ามา

กว่าจะออกมาเป็นเมนูแบบนี้ ผ่านการคิดร่วมกันของแบมและพี่หมูมาแล้ว ไอเดียที่เสนอกันแล้วโดนยิงตกไปก็เยอะ ช่วง 6 เดือนแรกที่ร้านเปิด แบมเข้าครัวเองทุกวัน อยู่ตั้งแต่ร้านเปิดจนปิด จนพอร้านเริ่มเข้าที่ถึงได้เริ่มถอยห่างมาดูภาพรวม เพื่อคิดเมนูใหม่ๆ”

เชฟคนเก่งซึ่งใช้อยู่ในแวดวงอาหารมานับสิบปีกล่าว พร้อมเฉลยถึงเหตุผลที่ทำให้ดัชนีความสุขเวลาเข้าครัวไม่เคยลดลงแม้แต่น้อย นั่นเพราะมีแรงขับเคลื่อนที่เรียกว่า แพสชั่น

“อาชีพเชฟถ้าไม่มีแพสชั่นแบมว่าอยู่ยาก ต่อให้ค่าตอบแทนสูงเท่าไร ก็ชดเชยความเหนื่อย ความกดดันที่ต้องเจอในห้องครัวไม่ได้ คนเป็นเชฟต้องใจรักจริงๆ สำหรับแบมเหตุผลทำให้อยู่ในอาชีพนี้ได้นาน เพราะความสุขของเราไม่มีอะไรมาก แค่เห็นคนที่กินอาหารของเราแล้วมีความสุขก็พอแล้ว”

จากนี้แบมบอกว่า นอกจากจะตั้งใจเป็นฟันเฟืองหนึ่งของร้านซาวาต่อไป เธอยังสนุกกับธุรกิจส่วนตัว อย่าง Food Agency ธุรกิจที่พร้อมให้บริหารในด้านอาหารแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการทำอาร์ตเวิร์กเมนูอาหาร คิดสูตร เป็นฟู้ดสไตลิ่ง ทำงานด้านโปรดักชั่นสำหรับร้านอาหาร หรือแบรนด์ต่างๆ

หากพอถามถึงความฝันที่จะทำร้านอาหารของตัวเองนั้น แบมปฏิเสธทันควัน “ไม่ค่ะ ไม่เคยคิดจะทำเลย เพราะยอมแพ้ในความเหนื่อยยาก ทุกครั้งที่มีลูกค้า หรือคนรู้จักบอกว่าจะเปิดร้านอาหาร แบมจะถามทุกครั้งว่าคิดดีแล้วเหรอ” แบมตอบอย่างอารมณ์ดี

“สำหรับแผนอนาคตไกลๆ ของแบม คือ กลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายทำไร่อยู่ต่างจังหวัด ที่บ้านเกิด จ.กาญจนบุรี ตอนนี้เหตุผลหลักที่เรายังอยู่ที่นี่ ก็เพราะลูกยังเรียนหนังสือ และเพราะงาน แต่เมื่อลูกโต เขาดูแลตัวเองได้ เราก็อยากไปใช้ชีวิตสงบๆ

ทุกวันนี้เวลามองย้อนกลับไป ยังขำว่าชีวิตเราลองผิดลองถูกมา ถ้าวันนั้นไม่ไปลองเรียนคอร์สอาหาร ก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร เพราะรู้ตัวอีกที ชีวิตนี้ก็อยู่ในห้องครัวเสียแล้ว"

วรรณพร พิมพิสุทธิ์ ทำอาหารให้เป็นเรื่องสนุก

สเต๊กวางุ

ส่วนผสม

1.เนื้อวางุ 200 กรัม

2.เกลือ พริกไทย เล็กน้อย

3.ข้าวเหนียว 150 กรัม

4.ผักเครื่องเคียง อาทิ โหระพา ผักชีลาว สะระแหน่ ผักชีใบเลื่อย ต้นหอม

ส่วนผสมน้ำจิ้มแจ่ว

1.น้ำมะนาวสด 2 ช้อนโต๊ะ

2.น้ำปลา 1 ครึ่งช้อนโต๊ะ

3.ข้าวคั่ว 1 ช้อนชา

3.พริกป่น 1 ช้อนชา

4.ต้นหอม ผักชีใบเลื่อยหั่นฝอย

วิธีทำ

1.นำเนื้อไปย่าง ตามความสุกที่ชอบ

2.นำข้าวเหนียวไปชุบไข่ แล้วย่างบนเตาให้ไข่พอเปลี่ยนสี

3.นำส่วนผสมน้ำจิ้มแจ่วทั้งหมดผสมเข้าด้วยกัน แล้วแต่งจานพร้อมเสิร์ฟ

เคล็ดลับความอร่อย

ข้าวคั่วถ้าจะให้หอม และเก็บไว้ได้นานตอนที่คั่วให้ใส่ข่าและตะไคร้ซอยลงไปด้วย จากนั้นพอตำละเอียดแล้ว ให้เก็บไว้ในกล่อง พร้อมตะไคร้และข่า