posttoday

เห็ด (มัชรูม) ปรุงให้ดีก็อร่อย

27 พฤษภาคม 2560

DNA ของมัชรูมมาจากชื่อของเราคือ เห็ด เห็ดทำอะไรก็อร่อย ไม่ว่าจะเป็นเห็ดราคาถูกหรือราคาแพง จากเห็ดนางฟ้าถึงเห็ดทรัฟเฟิล หากเราทำให้ดีมันก็อร่อย

โดย...ภวัต เล่าไพศาลทักษิณ

“DNA ของมัชรูมมาจากชื่อของเราคือ เห็ด เห็ดทำอะไรก็อร่อย ไม่ว่าจะเป็นเห็ดราคาถูกหรือราคาแพง จากเห็ดนางฟ้าถึงเห็ดทรัฟเฟิล หากเราทำให้ดีมันก็อร่อย เหมือนกับการทำคอนเทนต์ของเรา ที่เราทำเพื่อให้คนดูพอใจมาตลอด นี่จึงเป็น DNA ของเรา” อรรฆรัตน์ นิติพน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัชรูม เทเลวิชั่น กล่าว

อรรฆรัตน์ เริ่มเข้าสู่ธุรกิจการทำรายการโทรทัศน์ตั้งแต่ปี 2000 หลังจากจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในปี 1998 และได้เข้ามาช่วยพี่ชายคือ อัมรินทร์ นิติพน ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้เป็นเพียงนักแสดงและนักร้องที่มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังเป็นนักกีฬากอล์ฟทีมชาติไทย และทำรายการโทรทัศน์ด้วย ทำให้อรรฆรัตน์มีโอกาสเข้าไปทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับกอล์ฟอย่าง Golf sport for fun เป็นครั้งแรก

ด้วยทีมงานเริ่มต้นเพียง 3 คน เขาออกตระเวนเยี่ยมและแนะนำสนามกอล์ฟชั้นดีทั่วประเทศกว่า 170 สนามในเวลา 3 ปี และเป็นการเพาะบ่มให้เขาได้ต่อยอด เกิดความคิดใหม่ๆ ในการทำรายการโทรทัศน์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ

จากที่เคยเป็นนักแสดง ผ่านงานภาพยนตร์มา 5 เรื่อง และละคร 6 เรื่อง อรรฆรัตน์เปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนทำงานทั้งเบื้องหลังรายการต่างๆ และเป็นพิธีกรด้วยตัวเองในรายการโทรทัศน์อีกหลายรายการที่เขาเป็นทั้งผู้คิดคอนเซ็ปต์ และลงมือทำทุกอย่างด้วยตนเอง โดยริเริ่มจากการทำในสิ่งที่อยากจะทำ เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยว การพบปะผู้คน และขยายขอบเขตการทำงานออกไปสู่การทำโฆษณา นำมาสู่การตั้งบริษัท มัชรูม ขึ้นในปี 2004

จนถึงขณะนี้มัชรูมผ่านประสบการณ์การทำรายการโทรทัศน์มาแล้ว 116 รายการ การทำโฆษณา 1,200 ชิ้น รวมทั้งหมดมีการออกอากาศมากกว่า 4,000 ชั่วโมง ปัจจุบันมัชรูมขยายกิจการจากพนักงาน 3 คน เป็น 95 คน และมีรายการที่ยังออกอากาศอยู่ในขณะนี้ 8 รายการ ทำโฆษณาในปีนี้ 70 ชิ้น จัดกิจกรรมสัมมนาทั้งในและต่างประเทศ และกำลังจะขยายไปสู่การผลิตละคร โดยเป็นละครชื่อเดียวกับรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของมัชรูม คือ “อายุน้อย 100 ล้าน” (Young Self Made Millionaire) ซึ่งยังได้มีการตั้ง "อายุน้อยร้อยล้าน อคาเดมี" ขยายขอบเขตการทำธุรกิจออกไปอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดโรดโชว์สัมมนาธุรกิจยุคใหม่ จัดทริปธุรกิจ Business Matching ให้กับทั้งผู้ประกอบการไทย และรุกเข้าสู่ตลาดซีแอลเอ็มวีด้วย

เห็ด (มัชรูม) ปรุงให้ดีก็อร่อย

อรรฆรัตน์ กล่าวว่า จากการทำรายการ "อายุน้อยร้อยล้าน" มาตั้งแต่ปี 2012 ทำให้เขาได้โอกาสสัมภาษณ์ผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยมาแล้วประมาณ 300 คน ได้เห็นแนวคิด และเกิดความเชื่อว่าทุกคนก็สามารถทำธุรกิจเพื่อไปสู่เป้าหมายยอดขาย 100 ล้านบาทได้

“ผมเริ่มทำรายการนี้ จากที่เห็นรายการอื่นๆ จุดกระแสให้คนดูเกิดไอดอลในหลายรูปแบบ รายการโทรทัศน์ที่ทำให้คนอยากเป็นนักแสดง นักร้อง มีมากแล้ว ผมอยากทำรายการที่ให้คนดูเห็นไอดอลที่เป็นนักธุรกิจบ้าง จุดเด่นที่เลือกมาคือ นักธุรกิจอายุน้อย หน้าตาดี ขายได้เกิน 100 ล้านบาท เกิดเป็นการสัมภาษณ์คนเก่งออกโทรทัศน์ แม้รายการแบบนี้จะไม่ได้ถูกใจทุกคน แต่จะมีคนที่มองเห็นประโยชน์ และจุดประกายความฝันให้คนดูได้ และในขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาตัวผมเองไปด้วย”

ปัจจุบันรายการ "อายุน้อยร้อยล้าน" มีพันธมิตรในประเทศซีแอลเอ็มวีที่ซื้อรายการของมัชรูมไปออกอากาศ และกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาเป็นรายการของแต่ละประเทศในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะออกอากาศในทุกประเทศที่ซื้อแฟรนไชส์ไปในไตรมาส 3 ของปีนี้ และอรรฆรัตน์เชื่อว่าจะทำให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้ของนักธุรกิจระดับเอสเอ็มอีของประเทศในภูมิภาคนี้ ที่จะเกิดการจับคู่ เจรจาธุรกิจกันได้ต่อไป โดยมีมัชรูมเป็นตัวเชื่อม

นอกจากนี้ มัชรูมยังได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดด้วย โดยในปัจจุบันมีบริษัทขนาดเล็กที่มัชรูมดูแลด้านมีเดียและพีอาร์ให้ 15 ราย ด้วยความเชื่อที่ว่า แม้บริษัทเหล่านี้จะมีงบประมาณน้อย แต่มัชรูมก็สามารถวางแผนการตลาดที่เหมาะสม เพื่อให้พวกเขาก้าวสู่ความสำเร็จได้

“ผมได้เรียนรู้ว่าอุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเสมอ แต่มันเป็นสิ่งที่สามารถผ่านไปได้ ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ในชีวิต ปัญหาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เข้ามา แต่ทุกคนก็สามารถทำธุรกิจได้ แต่การจะไปสู่ยอดขาย 100 ล้าน ต้องมีโนว์ฮาว ต้องรู้จักธุรกิจของตัวเอง รู้กลไกทางการเงิน เข้าใจทุน และมีความชัดเจนในผลิตภัณฑ์”

เห็ด (มัชรูม) ปรุงให้ดีก็อร่อย

อรรฆรัตน์ ยกตัวอย่างธุรกิจที่มัชรูมเข้าไปช่วยเหลือและประสบความสำเร็จ เช่น ผู้ประกอบการที่ผลิตถุงสำหรับใส่นมให้กับแม่ที่เพิ่งคลอดลูกแล้วต้องปั๊มน้ำนมเก็บไว้ แต่ไม่มีถุงบรรจุที่มีคุณภาพดีพอ แต่ผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายของมัชรูมรายหนึ่ง ซึ่งอายุเพียง 29 ปี มองเห็นปัญหาและเกิดเป็นโอกาสในการผลิตถุงเก็บน้ำนมแม่ที่มีคุณภาพยี่ห้อ ท็อตเลอร์ (Toddler) ซึ่งปัจจุบันมียอดขายปีละกว่า 300 ล้านบาท โดยไม่ต้องพึ่งห้างค้าปลีกขนาดใหญ่

“ทุกคนมีโอกาสก้าวไปสู่ยอดขาย 100 ล้านตั้งแต่อายุยังน้อย ผมเชื่ออย่างนั้น” อรรฆรัตน์ ย้ำความเชื่อของเขา

ทว่า อรรฆรัตน์ ไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จมาตลอด ในวัยเรียนเขายอมรับว่าเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง ตั้งแต่เรียน ป.3 เขาไม่เคยทำการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ ก่อนจะจบการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ด้วยเกรดเพียง 2.1 และเลือกเข้าเรียนกฎหมาย เพราะคิดว่าจะได้ไม่ต้องเข้าห้องเรียน แต่สามารถอ่านหนังสือเองแล้วไปสอบได้

แม้จะไม่ชอบห้องเรียน อรรฆรัตน์ในวัยเด็กกลับชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับหนทางสู่ความสำเร็จของผู้คน นิตยสารที่แม่ของเขาวางไว้ในห้องน้ำเป็นประตูสู่โลกกว้าง ไม่ว่าจะเป็นคู่สร้างคู่สม พลอยแกมเพชร สกุลไทย ฯลฯ ล้วนแต่พัฒนาให้เขาก้าวมาสู่สิ่งที่เป็นในวันนี้

ปัจจุบันหนังสือที่เขาอ่านและชอบมากที่สุดคือ “ทำไมเราเลี้ยง Pig แต่กิน Pork” ที่เขียนโดย นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา หนังสือที่ว่าด้วยการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นอีกแนวหนึ่งที่อรรฆรัตน์ให้ความสนใจ แต่ไม่ได้พัฒนาออกมาเป็นรายการโทรทัศน์ เพราะเห็นว่า เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เป็นเนื้อหาที่ยังไม่พร้อมสำหรับสปอนเซอร์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้รายการโทรทัศน์อยู่รอด แต่ไม่ว่าอย่างไร เขามีความเชื่อว่ารายการโทรทัศน์ในประเทศไทยกำลังดีขึ้น และมีสาระประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ

“สำหรับมัชรูมเรามองตัวเองว่าเราเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เราสามารถนำเสนอคอนเทนต์ได้ในทุกแพลตฟอร์ม เราทำทุกรายการด้วยความคิดที่ว่าอยากให้คนดูได้ประโยชน์” ด้วยแนวคิดแบบนี้ เขายอมรับว่ากว่าจะประสบความสำเร็จได้ มัชรูมต้องผ่านบททดสอบมากมาย ผ่านวันเวลาที่ทีมงานเล็กๆ ของเขาต้องร้องไห้กันแทบทุกวัน ทำงานเหน็ดเหนื่อยโดยไม่เคยมีวันหยุด เพื่อให้อยู่รอดกับการทำรายการโทรทัศน์ที่ไม่ตามกระแส แต่ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหน เขาไม่เคยคิดที่จะเลิกทำงานที่รัก

“สำหรับผมมันอาจจะมากกว่ารัก คือแค่รักมันยังไม่พอ ต้องบ้าด้วย ไม่งั้นอยู่ไม่ได้ และผมรู้สึกขอบคุณทีมงานก่อตั้งทุกคนที่ทำให้เรามาถึงวันนี้” อรรฆรัตน์ยิ้ม เมื่อเขานึกย้อนไปถึงช่วงก่อตั้งบริษัท ทีมงาน 3-4 คน ต้องผลัดกันเป็นทั้งคนขับรถ ถ่ายทำ ตัดต่อ เดินทางไปทั่วประเทศแบบไม่มีวันหยุด ไม่คำนึงถึงครอบครัว กล้าทำรายการต้นทุนต่ำที่อาจจะไม่กำไร แต่สนุกที่จะทำ รายการที่หากมาคิดในวันนี้ คงไม่มีโอกาสแม้แต่จะทำข้อเสนอให้ผ่านการวิเคราะห์ตัวเลข

เห็ด (มัชรูม) ปรุงให้ดีก็อร่อย

ผมเปลี่ยนไปจากตอนที่อยุ 26 ปีที่เริ่มทำงาน มาถึงอายุ 40 วันนี้ ผมมองตัวเลขด้วย ในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กร เราไม่ได้ทำเพื่อสนุกอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน แต่เรามีพนักงานที่ต้องจ่ายเงินเดือน ต้องขึ้นเงินเดือนทุกปี เราต้องมีโบนัสให้พนักงาน ต้องมีอุปกรณ์การทำงานที่ดี และเราก็ยังมีหุ้นส่วนธุรกิจ ดังนั้นผมมีหน้าที่ต้องทำตัวเลข ทำรายได้ ทั้งหมดนี้ผมเปลี่ยนมาจากการเติบโตและเรียนรู้”

อรรฆรัตน์ เชื่อว่าการเป็นคนชอบเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ คือจุดแข็งของตัวเอง เขามั่นใจว่าการเรียนรู้ให้มากจะทำให้ผลงานออกมาดี นอกจากนั้นจุดแข็งที่เขาพอใจในตัวเองอีกประการหนึ่งคือ เป็นคนที่ปล่อยให้เรื่องไม่ดีผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่โกรธนานเกิน 1 วัน ไม่ปล่อยให้ตัวเองเสียใจ หรือผิดหวัง แต่ต้องผ่านไปและไม่ยึดติด

“ผมมีฮีโร่คือ คุณประภาส ชลศรานนท์ นักเขียนในดวงใจที่ผมอ่านหนังสือของเขามาตั้งแต่เด็กๆ และวันนี้คุณประภาสเป็นผู้บริหาร เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ เจ้าของช่องเวิร์คพอยท์ที่ผมได้เวลาออกอากาศรายการอายุน้อยร้อยล้าน แต่ถึงจะได้ร่วมงานในเครือข่ายเดียวกัน ผมก็ยังไม่มีโอกาสได้พบคุณประภาส ซึ่งหวังว่าวันหนึ่งจะได้พบ”

อรรฆรัตน์ เชื่อในเรื่องของการเรียนรู้ผ่านผู้คนที่มีความสามารถ และเชื่อว่าการถ่ายทอดประสบการณ์จะเป็นการจุดประกายความสำเร็จให้ผู้ที่ได้เรียนรู้ต่อ แม้ว่าผู้ชมรายการโทรทัศน์ทั่วไปจะไม่ได้พบตัวจริงของบุคคลแถวหน้าเหล่านั้น แต่มัชรูมจะเป็นตัวกลางในการนำประสบการณ์ ทั้งความสำเร็จที่เป็นตัวอย่าง และความล้มเหลวที่เป็นบทเรียน มานำเสนอให้ผู้ชมได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ผ่านทุกแพลตฟอร์มของมัชรูม ทั้งรายการโทรทัศน์ การจัดสัมมนา การจัดทริปธุรกิจ เพื่อหวังจะทำให้เกิดนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีทางลัดในด้านแนวคิด และกระบวนการไปสู่ความสำเร็จ

อรรฆรัตน์ ย้ำคำพูดของเขาที่มักจะพูดเสมอว่า ทุกคนมีโอกาสเป็นอายุน้อยร้อยล้านได้เสมอ