posttoday

กิติกร เพ็ญโรจน์ เสิร์ฟรสดราม่า ในมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์

18 พฤษภาคม 2560

ประสบความสำเร็จกับรายการอาหารเชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย แล้วยังเคยปลุกปั้นรายการแข่งขันในรูปแบบเรียลิตี้

โดย...มัลลิกา ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

ประสบความสำเร็จกับรายการอาหารเชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย แล้วยังเคยปลุกปั้นรายการแข่งขันในรูปแบบเรียลิตี้ อย่าง ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย สุภาพบุรุษบอยแบนด์ และรายการปั้นฝันสนั่นเวที (The Trainer) ถึงวันนี้ หนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์ แห่งเฮลิโคเนีย เอชกรุ๊ป ทุ่มเงิน 70 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์รายการจากประเทศอังกฤษ “มาสเตอร์เชฟ” (MasterChef) ลงจอช่อง 7 ราวเดือน มิ.ย.นี้

ในยุคทีวีดิจิทัลที่ผังรายการหลายช่องฉายซ้ำวนไปมา ผู้จัดผู้ผลิตร่วงกันระนาว เม็ดเงินโฆษณาจากเอเยนซีก็สวนทางกับจำนวนช่องดิจิทัลเกิดใหม่ การลงทุน 70 ล้านบาท/1 รายการ มีจำนวน 17 ตอน ในขณะที่รายการส่วนใหญ่ผลิตกันในขณะนี้ใช้เงินลงทุนราว 1 ล้านบาท/ตอน ทำไมเขายังกล้าลงทุน ฟังคำตอบ

“ผมโกรธมากที่รัฐบาลเปิดช่องมาเยอะขนาดนี้ เมื่อปีที่แล้วธุรกิจทีวีกำลังดี รายการกำลังพัฒนา พอรัฐบาลเปิดช่องทำโดยไม่ได้คิดอะไรมาก ทำให้ทุกคนไม่กล้าลงทุน ทำให้คุณภาพรายการประเทศไทยตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด ทุกคนพยายามเซฟคอร์สไม่ให้เข้าเนื้อ แต่เราเชื่อในรายการมาสเตอร์เชฟเราทำรายการอาหารเชฟกระทะเหล็ก เราลองถูกลองผิดมาแล้ว ถ้าเราไม่กล้าลุงทุนก็ไม่ซัคเซส

70 ล้านบาทแพง แต่รายการเราถ่ายทำแบบเรียลิตี้ การลงทุนตัวเลข 70 ล้านบาทที่ประมาณการไม่ต่ำกว่านี้ รวมค่าซื้อลิขสิทธิ์ รูปแบบรายการตามลิขสิทธิ์เราต้องเนรมิตสตูดิโอให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต อันนี้รายการต้องเตรียมทั้งหมด เราไปเช่าโกดังเปลี่ยนให้เป็นแพนทรี รูม ให้ 24 คนใช้พื้นที่แข่งขันได้ จัดเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ลงทุนฉาก มีงบออกไปถ่ายทำข้างนอกอีก ค่าวัตถุดิบแต่ละตอนประมาณ 2-3 แสนบาท”

กิติกร เพ็ญโรจน์ เสิร์ฟรสดราม่า ในมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์

สร้างชื่อจากรายการบันเทิงเป็นสะพานให้คนหนุ่มสาวก้าวสู่ฝัน แต่ตอนนี้ หนุ่ม กิติกร ขอลุยเป็นเจ้ารายการประเภทอาหาร

“ส่วนตัวผมมีแพสชั่น 2 อย่าง คือ ดนตรีกับอาหาร ทำรายการเกี่ยวกับเพลง เดอะ เทรนเนอร์ เอเอฟ มาแล้ว พอมาทำเชฟกระทะเหล็ก ทำมา 5 ปี เราเห็นโอกาส ตอนนี้รายการเพลงมีเยอะ แต่ผู้ผลิตรายการอาหารที่แข็งแรงมีไม่เยอะ เราโฟกัสที่โซเชียลออนไลน์มีเดีย เราเป็นบริษัทที่มีคอนเทนต์ด้านอาหารที่แข็งแรงที่สุด

ในส่วนของคนดูผมเชื่อว่ายังต้องการรายการประเภทนี้ ผมยกตัวอย่างในเพจเชฟกระทะเหล็ก เราพยายามเอาเรื่องนั่นนี่มาโปรโมทไม่มีใครส่งต่อ แต่ลงคลิปสอนทำอาหาร สูตรอาหาร มียอดวิวเป็นล้าน แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันเทรนด์คนทำอาหารเยอะ เหมือนสมัยก่อนถามผมโตมาอยากเป็นอะไร ผมอยากเป็นนักร้องเพราะเท่ มาถามเด็กปัจจุบันตอบอยากเป็นเชฟ เทรนด์การเป็นเชฟกำลังมา เพราะฟู้ด คือ อาร์ตฟอร์มประเภทหนึ่ง ที่สามารถบอกตัวตน อย่างอยากเป็นนักร้องร็อก นักร้องป๊อป ตอนนี้อยากเป็นเชฟอินโนเวทีฟ ทวิสต์ ไชนีส หรือตอนนี้ก่อนที่ทุกคนจะรับประทานอาหารก็ต้องถ่ายรูปอาหารเป็นคอนเทนต์ที่มาแน่”

มาถึงรายการใหม่ มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ (MasterChef Thailand) ที่เชื่อว่าจะโกยเรตติ้งได้เหนือเชฟกระทะเหล็ก เพราะมีรสชาติดราม่าที่ถูกจริตกับผู้ชมไทย เข้าถึงฐานผู้ชมได้กว้างกว่า เปิดตัวพิธีกรแล้ว คือ ป๊อก-ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์ และกรรมการที่จะมาเติมรสดราม่า ชูความแซ่บข้นให้กับรายการ ประกอบด้วย ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล และเชฟเอียน-พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย

“เราทำเชฟกระทะเหล็กมา 5 ปี มีเชฟมาออกรายการกว่า 250 คน คือแทบจะมาหมดประเทศ จึงคิดว่าน่าจะขยายตลาดต่อ นอกจากเชฟเราเน้นไปที่คนธรรมดาที่อยากเป็นเชฟ จึงเป็นที่มาของมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ มาสเตอร์เชฟเป็นแบรนด์รายการเดียวที่ประสบความสำเร็จมาแล้วกว่า 50 ประเทศ เรตติ้งรายการชนะละครหรือรายการใหญ่ๆ มาแล้วทั้งนั้น

กิติกร เพ็ญโรจน์ เสิร์ฟรสดราม่า ในมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์

สมัยผมทำเอเอฟก็เอาคนธรรมดากลายมาเป็นนักร้อง อันนี้เหมือนกันเราเอาคนที่ไม่รู้เรื่องการทำอาหาร แต่รักในการทำอาหาร อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เราไม่ได้ต้องการคนทำอาชีพเชฟ เราต้องการโฮมคุก คนที่ทำอาหารอยู่กับบ้านอยากมีเวที คนที่มีสูตรจากคุณย่าคุณยาย คนชอบทำอาหารชวนเพื่อนมาจัดปาร์ตี้ที่บ้าน เราอยากให้มาในรายการนี้ ในแง่ของรายการจะแมสกว่าเชฟกระทะเหล็ก เสน่ห์อยู่ที่คนธรรมดากลายมาเป็นมาสเตอร์เชฟภายใน 17 สัปดาห์”

รายการที่จะจับกลุ่มคนดูขนาดใหญ่ ต้องรูปแบบรายการเรียลิตี้ “รูปแบบการแข่งขันเหมือนเรียลิตี้โชว์ รอบแรก เราคัดจากคนทั่วประเทศลดเหลือ 100-150 คน ดูจากคุณทำอาหารเป็นไหม คาแรกเตอร์คุณเป็นอย่างไร มุ่งมั่นเป็นเชฟขนาดไหน หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าขั้นตอนการถ่ายทำ มีคณะกรรมการ 3 ท่าน แต่ละคนทำจริงมาให้คณะกรรมการกิน คณะกรรมการก็จะมีทั้งตบจูบ

ไปตบเขาทำไม เราต้องการดราม่า แต่เราต้องมีเหตุผลของดราม่า ถ้าคุณมาอยู่รายการนี้ คุณอยากเป็นเชฟ ต้องเคารพอาชีพเชฟ เชฟมีหน้าที่รับผิดชอบต่ออาหารทุกคำที่เข้าปากคนกิน อยากโชว์อยากดังไปไกลๆ ก็เป็นอารมณ์นี้ จากนั้นถูกตัดออกเหลือ 30 คน ต่อไปก็มีสกิลเทสต์ ทดสอบความสามารถขั้นพื้นฐานของเชฟ เช่น ซอยหอมในเวลากำหนด ต่อไปคุกกิ้งเทสต์ เช่น ให้ไข่ 1 ฟอง ทำให้เป็นอาหารชั้นหรู คัดเหลือ 15-16 คน ก็เหมือนเข้าบ้านเอเอฟ แต่ละวีกก็จะตัดออกจนเหลือคนสุดท้าย”

รายการเรียลิตี้ต้องไม่เขียนสคริปต์ แต่การจะเกิดดราม่าต้องมีแฮตทริก “เรื่องของดราม่าเป็นการดึงเรตติ้งส่วนหนึ่ง มันคือรายการทีวี มันมีจุดให้เกิดความน่าสนใจ แต่จุดนั้นต้องถูกบิลต์จากเรื่องจริง ไม่ใช่นึกจะด่าไม่มีเหตุผล ถูกบิลต์จากความเป็นจริงของอาชีพนั้นๆ เชฟอยู่กันหลายๆ คน ยิ่งกว่าเฮลล์ คิตเช่น บรรยากาศของการทำครัวเป็นแบบนั้น เราจำลองออกมา ทำดราม่าเบสออนความเป็นจริงของอาชีพ ต้องดราม่าอย่างมีเหตุผลคนดูจะรับได้ ถ้าไม่มีเหตุผลคนดูจะรับไม่ได้

ต้องมีดราม่า 30 เปอร์เซ็นต์ ประเทศอื่นก็มีดราม่า รายการสมัยปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงจากสมัยก่อน อย่างเชฟกระทะเหล็กเป็นคอนเทสต์ ไม่ลงดีเทลดราม่าของคนแข่งขัน ยกตัวอย่าง โหดมันฮา คน 100 คนวิ่งเข้าฐานแล้วหายไปเรื่อยๆ เราไม่รู้เลยแต่ละคนเป็นใคร ความยากของเกมเป็นยังไง เพราะมันคือคอนเทสต์

กิติกร เพ็ญโรจน์ เสิร์ฟรสดราม่า ในมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์

แต่รายการประเภทใหม่ที่เกิดขึ้น จะดึงความน่าสนใจของคนที่เข้าแข่งขันเข้ามา อย่างมาสเตอร์เชฟซึ่งเปรียบเสมือนละครจริงของคนเหล่านั้น ด้วยฟอร์แมตทุกประเทศทำหมด อยู่ที่ว่าเราจะทำดราม่าเลเวลไหนที่เหมาะสมกับคนไทย

การดึงความดราม่าของผู้เข้าแข่งขันนำเสนอให้คนดูประทับใจ ลุ้นเอาใจช่วย การทำแบบนี้ทำได้ 2 จุด หนึ่ง คือ โจทย์ที่ให้มันยากขนาดไหน เช่น ฉันไม่เคยเห็นคาเวียร์จะเอามาทำอะไร ทำผิดด่าว่าโง่อีก โจทย์ทำให้เกิดความดราม่า เครื่องมือที่ 2 คือ กรรมการ แต่กลับมาจุดเดิม กรรมการต้องด่า ต้องว่า ต้องชม อยู่ในความเหมาะสมกับอาชีพที่เขาแข่งขัน

คนทำเรียลิตี้แล้วเขียนสคริปต์ไม่ซัคเซส ผมก็เคยทำเจ๊งแล้ว เพราะว่าประเด็นที่หนึ่ง คนที่อยู่ในรายการคือคนธรรมดาไม่ใช่ดารา ใส่สคริปต์ไม่ได้ แล้วเรียลิตี้มันคือความจริง เราเอาความหลอกไปบอกว่าจริงก็เจ๊ง สองไม่มีจรรยาบรรณ

ดังนั้นความดราม่าอยู่ที่พล็อตไม่ใช่สคริปต์ พล็อตคือโจทย์ที่เราให้ เรารู้ว่าผู้เข้าแข่งขัน ใครเก่งเรื่องอะไร เราจะใส่โจทย์อะไรให้คนนี้ร้องไห้ เป็นขั้นตอนของการคิดรายการ วิธีการทำเรียลิตี้คือใส่โจทย์ให้เกิดความคับแค้นใจของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน”

มั่นใจว่ารายการมาสเตอร์เชฟในรูปแบบเรียลิตจะต้องถูกจริตกับผู้ชม เพราะรายการแนวนี้กำลังเป็นที่นิยม

“วิวัฒนาการของรายการเปลี่ยนไป สมัยก่อนถ้าเป็นรายการคุกกิ้งคอนเทสต์ทั่วไป มีแค่คนชอบดูรายการอาหารเท่านั้น แต่พอเป็นเรียลิตี้เขาดูคนแข่งด้วย ไม่ได้ดูแค่อาหาร ทำให้กลุ่มของผู้ชมกว้าง ทำให้รายการเรียลิตี้แข็งแรงขึ้น ซึ่งมันทำให้คนชอบดูละครมาดูด้วย เพราะเป็นละครของชีวิตจริง ผมว่าเรียลิตี้ก็ยังมา ที่จริงมันเข้าเมืองไทยมาสักพัก แต่ไม่ซัคเซสเพราะพวกเราคนทำรายการเองไม่มีโนว์เลจ โนว์ฮาวในการทำ ผมคิดว่าตอนนี้หลายบริษัทรู้แล้วว่าจะบิลต์ดราม่ายังไง”