posttoday

ณัชชานันท์ พีระณรงค์ สอนภาษาอังกฤษจากชีวิต

20 เมษายน 2560

เรียกว่าตื่นมาก็เจอกับเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยีเลย สำหรับ “ดีเจนุ่น-ณัชชานันท์ พีระณรงค์”

โดย...มัลลิกา ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

เรียกว่าตื่นมาก็เจอกับเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยีเลย สำหรับ “ดีเจนุ่น-ณัชชานันท์ พีระณรงค์” ดีเจคลื่น 88.5 EDS จัดรายการช่วงเวลา 05.00-07.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เพราะตอนนี้ดีเจ หรือนักจัดรายการวิทยุ ต้องเปิดเพลงผ่านระบบ RCS หรือ Radio Computing Services (เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการสร้างศูนย์เก็บข้อมูล ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับดีเจ หรือแม้แต่การควบคุมเสียง หรือการเพิ่มหรือลดเสียงเพลงเข้าออกในรายการ ก็สามารถตั้งระบบอัตโนมัติได้ตั้งแต่เริ่มรายการไปจนจบ)

“ระบบ RCS ช่วยให้จัดรายการง่ายขึ้น สามารถเลือกเพลงได้ง่าย แต่เราอยู่หน้าไมค์ต้องมีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือใส่ซาวด์เอฟเฟกต์เวลาพูด เช่น เสียงปรบมือ หรือมิวสิกเบส เปิดเสียงเพลงคลอเบาๆ เวลาพูด คล้ายเสียงเปียโน ช่วยทำให้เสียงเราฟังแล้วไม่น่าเบื่อ”

นอกจากเป็นดีเจที่คลื่น 88.5 EDS ณัชชานันท์ ยังเป็นผู้ประกาศข่าว ช่อง 13 (ช่อง 3 แฟมิลี่) 2 รายการ คือ รายการมิดไนท์ แฟมิลี่ รายงานข่าวทั่วไปหลังเที่ยงคืน และรายการ วีคเอนด์ไลฟ์ วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 น. เป็นรายการข่าววาไรตี้ที่แทรกภาษาอังกฤษ จากรายการนี่เอง ทำให้ณัชชานันท์กลายมาเป็นครูนุ่นของน้องๆ ที่สอนภาษาอังกฤษผ่านแฟนเพจ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์

ณัชชานันท์ พีระณรงค์ สอนภาษาอังกฤษจากชีวิต

“ในรายการนี้ถือโอกาสสอนภาษาอังกฤษ เอาศัพท์จากข่าว เป็นกึ่งรายการสอนภาษา ส่วนตัวก็รับสอนภาษาอังกฤษ จัดเป็นไพรเวทคลาส หรือ 3-5 คน บางคนก็ติวเก็งข้อสอบเพื่อจะสอบเข้าสถาปัตย์อินเตอร์ แต่ส่วนมากที่นุ่นสอนจะเน้นคอร์สพูด”

Welcome to พื้นที่ภาษาอังกฤษจากสถานการณ์ชีวิตของนุ่นเอง ในแฟนเพจ ชื่อ Emglish afternoonz มียอดคนกดติดตามเกือบ 7 หมื่น และในทวิตเตอร์ @eng_afternooz มียอดฟอลโลว์ 2 แสนกว่า

“นุ่นถ่ายทำได้ทุกที ไปเที่ยวก็ถ่าย ทั้งในไทยต่างประเทศ แฟนๆ ได้เห็นวิวสวยๆ ด้วย อย่างไปประเทศอังกฤษ เช็ก อินที่ไหนก็ถ่ายด้วย หันมาสอนคนในกล้อง หรือขับรถป้ายแดงแล้วต้องจ่ายค่าปรับ ระหว่างรอเซ็น ก็สอนภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริง เจออะไรก็ถ่าย เรียกว่าเป็นการสอนการพูดในการใช้ชีวิตของนุ่น ภาษาอังกฤษตามชีวิตนุ่น

“อย่างตอนนี้คนสนใจอะไร ข่าวไหนดัง ก็ต้องสอนอิงกระแส เพราะเราเอาตัวเองมาอยู่ในโซเชียล เราต้องสนใจมันมากกว่าให้มันมาสนใจเรา ไม่งั้นเราจะอยู่ไม่ได้ โซเชียลมันคือสังคม ถ้าเราไม่พูดเรื่องเดียวกับเขา เราก็อยู่คนละโลก ก่อนนอนแม้จะเหนื่อยก็ต้องดูหน่อยว่าคนในโลกโซเชียลเขาคุยอะไรกัน สนใจอะไร คนฟอลโลว์เราเขาสนใจอะไร เรายืนจุดนี้เราต้องมองคนตามเราว่าเขาไปไหน เขาทำอะไร ถึงจะทำให้เราซัคเซส”

ณัชชานันท์ พีระณรงค์ สอนภาษาอังกฤษจากชีวิต

กว่าจะลงเป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ ไม่กี่นาที เธอใช้เวลาตั้งใจถ่ายทำ ตัดต่อหลายชั่วโมง เพื่อให้เป็นคลิปสอนภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด

“ใช้กล้องหน้า iPhone 7 Plus มีขาตั้งกล้องติดตัวตลอด แล้วใช้แอพพลิเคชั่น imovie ในการตัดต่อ ความถี่ในการลงทุกวัน นอกจากติดธุระยุ่งจริงๆ ก็จะหายไป 2-3 วัน แต่ไม่บ่อยค่ะ

“เวลาถ่ายนุ่นจะถ่ายไม่เกิน 5 นาที ก่อนตัดต่อ เพราะจากประสบการณ์คนจะไม่สนใจคลิปที่ยาว ดังนั้นของนุ่นจะใช้เวลาสั้นสุด 20 วินาที ยาวสุดไม่เกิน 2 นาที อย่างคลิป 20 วินาที สอนให้ออกเสียง เช่น get to /get through ตอนนี้จะสอนเยอะขึ้นหน่อย สอนให้เป็นประโยค สอนวิธีการพูด คลิปจะไม่ซ้ำกัน เพราะแต่ละวันนุ่นเจอเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน อย่างไปเที่ยวนี่ถ่ายเก็บไว้หลายๆ คลิป

“แล้วตอนมาตัดต่อคลิปก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมง เพื่อให้ได้คลิป 1 นาที ตอนถ่ายก็ไล่ไปเรื่อย ไม่ยาวมาก 5 นาที เราตัดเอง ใช้แอพพลิเคชั่น imovie  ตัดไม่ได้ยากนะ เพราะนุ่นเน้นความดิบของคลิป ตัดฉับๆ เปลี่ยนช็อต ไม่ได้สวยมาก เอาความรู้ ไม่มีเพลงประกอบ

“เวลาลงเฟซบุ๊กไม่ห่วง แต่เนเจอร์ของคนใช้ทวิตเตอร์ เป็นคนที่เสพอะไรเร็วกว่าเฟซบุ๊ก ต้องไวมาก มาเร็วไปไว คลิปต้องจบไม่เกินนาที ทวิตเตอร์จะเป็นประเด็นสังคม ไม่มีโชว์รูปเยอะ ดังนั้นเวลาตัดต่อนุ่นจะใช้เวลานาน คิดเผื่อคนใช้ทวิตเตอร์ คำสองคำก็จะตัด หวงเวลา 2-3 วินาที ที่เราเกริ่น หายใจก็ตัดออก ถ้ามีวิวสวยๆ ก็คงไว้แต่คำพูดต้องกระชับ แต่ถ้าวิวเป็นเมนหลักของเรื่องก็คงไว้ อย่างตอนไปลอนดอน เหมือนให้คนดูได้ไปเที่ยวกับเรา”

ณัชชานันท์ พีระณรงค์ สอนภาษาอังกฤษจากชีวิต

ทุกขั้นตอนละเอียด และใส่ใจมาก ยิ่งตอนใส่ซับไตเติล เธอจะพิถีพิถันมาก

“พอตัดต่อเสร็จ จะใส่ซับไตเติล ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ซับไตเติลจะไม่เขียนแบบภาษาเขียน แต่จะใส่สระผันเสียงแบบเจ้าของภาษา ออกเสียงท้ายยังไง เช่น Apologise ใส่ซับไตเติลว่า อะ-พ่อล-ล่ะ-จ่ายยส์ ออกเสียงให้ตรงตัวกับเสียงอังกฤษ

“ในขั้นตอนนี้นุ่นใช้แอพพลิเคชั่น mysubtitle โหลดวิดีโอตัดเสร็จลงในแอพนี้ เลือกช่วงจะขึ้นวินาทีนี้ถึงวินาทีนี้ ใช้เวลาทำนานกว่าตัดต่ออีก คลิปหนึ่งบางที 100 กว่าซับ ถ้าสั้นๆ ก็ 70 นุ่นใส่แทบจะทุกคำศัพท์ เวลาให้คำศัพท์ ก็จะให้การใช้ประโยชน์ไปด้วย อย่างคำว่า Crab ออกเสียงยาว แปลว่า ปู ออกเสียงสั้นๆ แปลว่า ห่วย แล้วมีรูปประโยคให้ด้วย

“หลังจากหลงซับไตเติลเสร็จแล้ว รีเช็กกลับไปดูที่ไอมูฟวี่อีกรอบ แล้วก็อัพเลย ไม่ค่อยใส่เอฟเฟกต์ หรือฟิลเตอร์ เราเอาความดิบ เวลาที่อัพลงประมาณเก้าโมงถึงสิบเอ็ดโมง เที่ยงถึงบ่าย อีกทีหลังหกโมงถึงสามทุ่ม เป็นช่วงที่คนเข้าเล่นเยอะ”

การอัพโหลดวิดีโอลงในแฟนเพจ ทวิตเตอร์ ไม่ได้มีรายได้เกิดขึ้น แต่ก็เป็นช่องทางที่ทำให้ผู้คนรู้จักนุ่นในบทบาทครูสอนภาษาอังกฤษ หลายคนติดตามเธอโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เธอเป็นดีเจ ผู้ประกาศข่าว หากแต่มีผู้ปกครองและน้องๆ ติดต่อเข้ามาเพื่อให้เธอสอนพิเศษ ซึ่งทำให้นุ่นมีรายได้ และเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เธอรักจะทำ