posttoday

หนึ่งโอกาส หนึ่งการพานพบ ดร.ณัชร สยามวาลา

13 เมษายน 2560

เวทีเป็ดเปลี่ยนโลกได้คัดเลือกเป็ด 14 คน ขึ้นไปพูดเรื่องที่ตัวเองถนัด ว่าด้วยสิ่งที่ทำจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้อย่างไร

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

เวทีเป็ดเปลี่ยนโลกได้คัดเลือกเป็ด 14 คน ขึ้นไปพูดเรื่องที่ตัวเองถนัด ว่าด้วยสิ่งที่ทำจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้อย่างไร หนึ่งในนั้นคือ ดร.ณัชร สยามวาลา ผู้ที่ถูกจั่วหัวว่า นักเขียน นักดาบ ผู้ค้นพบว่าสุดยอดการต่อสู้คือ การต่อสู้ภายใน

เขาเริ่มศึกษาเรื่องการเจริญสติตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันเป็นนักเขียนและวิทยากรหัวข้อ “สติกับการพัฒนาภาวะผู้นำและทรัพยากรบุคคล” หรืออย่างเวทีเป็ดเปลี่ยนโลกนับเป็นเวทีทอล์กโชว์ครั้งแรก ซึ่งเขาได้ยกเรื่องการสื่อสารภายในขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ

“การสื่อสารภายใน หมายถึง การตั้งความฝัน พูดกับตัวเอง ความคิด และการเจริญสติสมาธิ เพราะการที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนโลกจะต้องเริ่มจากการสื่อสารภายในอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารสามารถเปลี่ยนโลกได้จริง ดังนั้นทุกคนต้องเริ่มจากการตั้งความฝันว่าจะทำอะไร”

การเจริญสติเบื้องต้นจะทำให้ตนรู้ทันใจตัวเองมากขึ้น เป็นทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น แต่จะได้ผลดีที่สุดหากฝึกเป็นเวลานาน จะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ถึงระดับโครโมโซม และจะทำให้ค้นพบศักยภาพภายในที่ตนยังไม่รู้ว่ามี

การเจริญสติทำให้เขามีพลังให้สามารถอ่านหนังสือ 365 เล่ม ใน 365 วัน และทำให้กล้าทำความดี เช่น กล้าเปิดเพจเฟซบุ๊ก (ดร.ณัชร สยามวาลา Nash Siamwalla, PhD) ซึ่งต้องทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ กล้าพูดให้กำลังใจทหารหนุ่มที่บาดเจ็บ และกล้าที่จะถวายหนังสือเขียนแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9

“การทำสติยังทำให้เรารอดตาย” เขากล่าวต่อ “หลังจากเข้ารับการผ่าตัดและมีโอกาสที่จะไม่รอดชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว แต่ช่วงวินาทีนั้นระหว่างความเป็นและความตาย สติที่ฝึกมาแล้วในระดับชาวบ้านธรรมดามันเข้ามาช่วยเราในช่วงรอยต่อที่กำลังจะตายได้อย่างดีเลย

ถ้าถามว่าหากตายตอนนั้นจะไปดีไหม ไปดีแน่นอนเพราะจิตสงบนิ่งเหมือนทะเลยามเช้าแม้ว่าร่างกายจะเจ็บปวดก็ตาม เหมือนกับว่ามีธรรมะมาสอนตอนที่กำลังจะตาย และเกิดความรู้ความเข้าใจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้เห็นอริยสัจสี่ สองข้อคือทุกข์และสมุทัย และทำให้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ที่เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุธรรมเป็นเรื่องจริงและพิสูจน์ได้จริง เพราะกระบวนการนั้นเป็นไปได้จริงๆ คนเรามักมองพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธรูป แต่แท้จริงแล้วพระองค์เป็นคนธรรมดาที่สามารถตรัสรู้และบรรลุธรรม ดังนั้นทุกคนจึงสามารถเป็นเช่นนั้นได้หากได้รับการฝึกเจริญสติ”

เป้าหมายในชีวิตของเขาคือ การเผยแพร่การเจริญสติให้คนเข้าใจ จับต้องได้ เข้าถึงง่าย และให้คนรับรู้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ซึ่งหลายคนมองว่า ดร.ณัชรเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ แต่เบื้องหลังพลังมหาศาลเหล่านั้นเป็นเรื่องของสติล้วนๆ

การเจริญสติไม่ใช่เป็นการนั่งสมาธิเพียงอย่างเดียว แต่สามารถฝึกสติได้ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน กล่าวคือ รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร รู้การเคลื่อนไหวของกาย ไวต่อการเปลี่ยนแปลง และรู้เท่าทันกาย รู้เท่าทันใจในปัจจุบันขณะ และเมื่อกำลังสติและสมาธิสมส่วนเมื่อไหร่ ปัญญาทางโลกและปัญญาทางธรรมจะผุดขึ้นมาเอง

“เวลาเข้าไปร้านหนังสือจะเห็นเรื่องฮาวทูเยอะมาก ทั้งการพัฒนาตัวเอง ทำอย่างไรให้มีความสุข ทำอย่างไรให้ร่ำรวย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนต้องการพัฒนาตัวเอง คนต้องการความสุขในชีวิต แล้วอะไรล่ะคือความสุข ความสำเร็จ เราจึงนำเรื่องสติและเรื่องทางธรรมะมาตอบ”

หนึ่งโอกาส หนึ่งการพานพบ ดร.ณัชร สยามวาลา

ยกตัวอย่างหนังสือเรื่อง ออกกำลังใจ เกี่ยวกับวิธีการหาความสุขง่ายๆ ในชีวิตประจำวันในมุมมองของการฝึกสติที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ทันที และเรื่อง สำเร็จทางโลกเพราะสุขทางธรรม เกี่ยวกับธรรมวิทยาศาสตร์ หลังจากได้เรียนทางไกลด้านศาสตร์แห่งสุข (The Science of Happiness) กับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ เพราะการทำทาน การให้ เป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกาย สุขภาพ สมอง และความอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ในระดับชีววิทยา

เมื่อย้อนกลับไปในประวัติการศึกษา ดร.ณัชร เป็นแค่เด็กนิเทศศาสตร์คนหนึ่ง ที่รู้ว่าชอบอะไรเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ ขณะเดียวกันก็จะชอบรู้เรื่องนอกคณะ เริ่มจากการเป็นเด็กศิลป์-ภาษาที่มีความฝันอยากเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ แต่คณะนิเทศศาสตร์ในสมัยนั้นเปิดรับทักษะของเด็กสายวิทย์-คณิต เขาจึงตัดสินใจลงติวคณิตศาสตร์ 2 เดือนก่อนสอบ และเลือกคณะนิเทศศาสตร์เป็นอันดับ 1 ปรากฏว่าสามารถเข้าคณะที่ตั้งใจได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยในสายศิลป์-คำนวณ

“ที่มาของการเป็นเด็กนิเทศเป็นเรื่องสนุก เพราะไปด้วยความบ้าบิ่น ไปด้วยใจล้วนๆ และความฝันที่อยากเขียนลงหนังสือพิมพ์ก็เป็นจริงตั้งแต่ปี 1 ได้ลองเขียนประสบการณ์รับน้องเป็นภาษาอังกฤษส่งไปที่เครือบางกอกโพสต์ และได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ดังนั้นถ้าเด็กอยากเป็นอะไร ผู้ใหญ่ควรให้การสนับสนุน เพราะถ้าเขารักที่จะทำอะไรและได้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใช่จะช่วยกล่อมเกลาให้เขากล้า”

เมื่อเข้าสู่การศึกษาปริญญาโท เขาตัดสินใจไปสหรัฐ เพื่อศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์และการทูต โรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด และนับเป็นอีกครั้งที่เขาพิสูจน์ได้ว่า หากมีความฝัน มีแรงบันดาลใจอันแรงกล้า และตั้งใจทำอย่างจริงจัง สิ่งที่เรียกว่าปาฏิหาริย์ก็จะเกิดขึ้นกับคนคนนั้น

นอกจากนี้ เขาได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นครั้งใหม่หลังจากทำงานไปได้ราว 10 ปี ว่า เริ่มสงสัยใคร่รู้ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมจากการได้เห็นคนรอบข้างทำให้ดู

“ได้ลองไปปฏิบัติธรรมครั้งแรกที่บ้านไรวา ตอนนั้นรู้สึกเลยว่าเราได้เจอวิชาที่สุดยอดมาก เราเรียนมาหลายสาขาแต่ไม่มีสาขาไหนที่น่าตื่นเต้นเท่าสาขานี้ เพราะการปฏิบัติธรรมคือวิชาการใช้ชีวิต จะทำยังไงถึงจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีความทุกข์น้อยลง

จำได้ว่าเมื่อกลับจากคอร์สปฏิบัติแล้วมาอยู่ในสิ่งแวดล้อม แต่ตัวเรากลับมีความสุขมากขึ้น และนอกจากจะมีความสุขแล้วยังโกรธด้วยว่า ทำไมประเทศไทยไม่ทำให้วิชานี้เป็นสิทธิพื้นฐานของคนทั้งประเทศ เพื่อคนไทยจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”

การปฏิบัติธรรมคือ การลงมือทำอย่างพระพุทธเจ้าตั้งแต่ตื่นจนนอน แต่เป็นวิชาที่ยากและจำเป็นต้องมีอาจารย์ดี เขาค้นพบอาจารย์เหล่านั้นที่มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ ที่ได้กลับไปปฏิบัติธรรมบ่อยครั้ง เหมือนคนทั่วไปที่ติดใจในรสชาติของอาหารแล้วอยากกลับไปกินที่ร้านเดิมบ่อยๆ นอกจากนี้ ดร.ณัชรยังมีความประสงค์เผยแพร่วิชานี้ไปสู่คนทั่วไปในฐานะนักนิเทศศาสตร์

“อยากทำโฆษณาให้การวิปัสสนา โดยพระพุทธเจ้าไม่ต้องจ้าง แต่เราเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่หลวงปู่หลวงตาที่คนรู้จักแล้วใครจะเชื่อ จึงเป็นที่มาให้อยากไปเรียนปริญญาเอกต่อในสาขาวิปัสสนา เพื่อพิสูจน์ว่าการวิปัสสนานั้นดีอย่างไร มีความเป็นสากล ข้ามกาลเวลา ข้ามทวีป และทุกคนสามารถใช้ได้อย่างไร”

ก่อนไป ดร.ณัชรคิดที่จะทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การวิปัสสนากับเซน” เพราะเซนคือวัฒนธรรมที่อยู่ในชีวิตจิตใจของคนญี่ปุ่น เรียกได้ว่าการเจริญสติหรือการวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน คือสิ่งที่อยู่ในทุกศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น ประกอบกับได้รู้จักการทำสมาธิแบบเคลื่อนไหวแบบเซน และการฝึกดาบซามูไรโดยบังเอิญ เขาจึงได้เรียนรู้และฝึกฝนการฟันดาบภายใต้การเจริญสติ

จากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น และทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาทของการเจริญสติในการพัฒนาภาวะผู้นำในซามูไรโบราณของญี่ปุ่น”

เขายังได้เพียรฝึกฝนการฟันดาบอย่างจริงจัง จนได้เป็นนักกีฬาทีมชาติไทยลงแข่งชิงแชมป์โลก และได้กลับมาเขียนหนังสือเรื่อง วิถีดาบ วิถีเซน อย่างที่ตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่ม

“การวิปัสสนาจะช่วยขัดเกลาและกล่อมเกลาเราไปให้เรากลายเป็นผู้ให้มากขึ้น อยากช่วยเหลือคนมากขึ้น และในที่สุดสิ่งที่อยากทำทุกอย่างก็ได้ทำ ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จบปริญญาเอกด้านสังคมวิทยา ได้เขียนหนังสือ ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเรื่องของการมีศีลและการฝึกเจริญสติ ถ้ามีสองสิ่งนี้ไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็จะสำเร็จ”

ปัจจุบัน ดร.ณัชรใช้ชีวิตเต็มที่มาตลอด 50 ปี โดยไม่มีวันไหนที่เขาไม่นึกถึงความตาย เพราะเมื่อตนไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร คำพูดที่ใช้กับคนที่รัก หรือการกระทำที่มีต่อเขาจะอ่อนโยนและจริงใจอย่างเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง

“คำขวัญประจำใจของตัวเองเป็นสุภาษิตของเซนประโยคหนึ่งคือ อิจิโกะ อิจิเอะ หมายความว่า หนึ่งโอกาส หนึ่งการพานพบ มันเป็นประโยคอันทรงพลังที่ทำให้รู้ว่า เราต้องทำให้การพบกันทุกครั้งกับทุกคนกับทุกกิจกรรมเป็นครั้งที่ดีที่สุด เพราะทุกครั้งคือครั้งเดียวเสมอ และโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นอีกอาจไม่มีอีกแล้ว” เขากล่าวทิ้งท้าย

ฉะนั้น หนึ่งโอกาส หนึ่งการพานพบ ไม่ว่าจะทำอะไร จงทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพราะนั่นอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะได้ทำ และนั่นเป็นครั้งเดียว ณ ขณะนั้นก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง