posttoday

ฉัตรชัย ศิริไล โลกที่ต้องก้าวตามให้ทัน

28 มีนาคม 2560

“ไม่มีอะไรในโลกที่ได้ผลออกมาร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างมันย่อมมีข้อผิดพลาด เพราะเราต้องทำงานกับทีม กับลูกค้า กับคู่ค้า

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล

“ไม่มีอะไรในโลกที่ได้ผลออกมาร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างมันย่อมมีข้อผิดพลาด เพราะเราต้องทำงานกับทีม กับลูกค้า กับคู่ค้า เราจึงต้องมีจุดที่เราต้องถอยคนละก้าว มีจุดที่ยอมรับได้ ถึงจะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย หากทุกคนจะเอาแต่ได้ทั้งหมดมันจะเกิดปัญหาและทำให้องค์กรไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้” ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ เริ่มต้นบทสนทนา

“ย้อนไปตั้งแต่สมัยผมเรียนหนังสือ ผมมีเป้าหมายอยู่อย่างหนึ่งในชีวิตคืออยากเป็นหมอ เพราะในยุคสมัยที่ข่าวอีสเทิร์นซีบอร์ดกำลังดัง เด็กเอนทรานซ์ส่วนใหญ่อยากจะเลือกเรียนอยู่ 2 คณะก็คือ วิศวกร กับแพทย์ ส่วนตัวผมไม่ชอบทำงานตากแดด (หัวเราะอารมณ์ดี) เลยขอเลือกเรียนหมอดีกว่า

เอนทรานซ์ยุคนั้นจะมีให้เลือก 6 คณะ 3 คณะแรกผมเลือกคณะแพทยศาสตร์หมดเลย ที่เหลืออีก 2 อันดับ ผมก็เลือกคณะที่เกี่ยวกับประมง คิดว่าไม่ได้เรียนหมอก็จะไปเป็นประมง อันดับสุดท้ายเลือกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (สถิติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าคะแนนของเราสามารถลงได้ก็ไปลงเอาไว้ ปรากฏว่าผลสอบออกมาไปติดที่คณะสุดท้าย

ผมก็เลยคิดว่า ก็จะลองเรียนรู้ไปก่อน ถึงเวลาสอบเอนทรานซ์ใหม่อีก 1 ปีค่อยสอบหมอใหม่ แต่พอเรียนไปเรียนมากลายเป็นว่าเราตั้งใจที่จะเรียนให้จบ เพราะว่าเราเลือกสาขาการประมวลผลสถิติด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งเราก็ชอบและสนใจด้านคอมพิวเตอร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ฉัตรชัย ศิริไล โลกที่ต้องก้าวตามให้ทัน

 

เรียนจบก็เข้ามาทำงานธนาคารได้ทุนเรียนต่อปริญญาโทวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ สหรัฐอเมริกา สมัยนั้นการเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ในต่างประเทศจะเรียนกันค่อนข้างหนัก ทำงานอยู่แล็บประมาณตี 3 กลับถึงหอพักโดยใช้รถบัสของทางมหาวิทยาลัยประมาณตี 4 แล้วก็ตื่น 7 โมงเช้า เพื่อเดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัยต่อแล้วก็เลิกประมาณตี 3 ชีวิตก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ประมาณ 2 ปี

สิ่งที่ผมได้จากการเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ระบบการจัดการความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือคำว่า อาร์ต ออน ไซน์ หรือการมีศิลปะบนวิทยาศาสตร์ จริงอยู่ว่าการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์สอนให้เรารู้จักวิธีการคิดออกมาให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด คือถ้ามีคะแนนร้อยคุณจะต้องทำให้ได้เต็มร้อย แต่ในชีวิตของการทำงานจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะว่าเราไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียว จึงต้องมีจุดยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่มีทางที่ทุกคนจะเห็นเหมือนคุณ และไม่มีสิ่งใดจะได้ผลสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราคิดว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องทำให้เต็มที่ เพราะระบบการสอบของมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ในข้อสอบแต่ละข้อ หากคุณทำได้จะได้บวกจากคะแนนปกติไปอีก 20 คะแนน แต่หากทำไม่ได้จะกลายเป็นติดลบ 20 ที่อื่นเป็นแบบนี้หรือเปล่าผมไม่ทราบ แต่ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าระบบการคิดคะแนนแบบนี้เป็นระบบคิดคะแนนที่ดี ทำให้เราต้องตอบอย่างเต็มที่ มั่วไม่ได้ เพราะถ้ามั่วคือติดลบ ถ้าทำเต็มที่เต็มกำลังจะได้คะแนนบวกเพิ่มไปอีก ข้อไหนไม่ได้พักไว้ก่อนไปทำข้ออื่นแล้วกลับมาตอบใหม่ ตั้งใจคิดคำตอบออกมา ติดนิสัยมาจนถึงวันนี้ที่ไม่ว่าจะทำอะไรต้องเต็มที่เสมอ”

ไม่ใช่เพียงแค่หลักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ผู้บริหารหนุ่มเลือกมาใช้ เทคนิคจากงานอดิเรก เช่น การต่อจิ๊กซอว์และมุมมองในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารงานธนาคาร ก็ช่วยให้เขานำพาองค์กรให้เดินหน้าประสบความสำเร็จให้เป็นองค์กรสมัยใหม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ฉัตรชัย ศิริไล โลกที่ต้องก้าวตามให้ทัน

 

“ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตคนเราค่อนข้างมาก ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือร่นระยะทางความเร็ว ความรู้ ให้สั้นลง เดี๋ยวนี้เด็กๆ อยากจะรู้เรื่องอะไรสักเรื่องแค่เข้าอินเทอร์เน็ตก็ได้ข้อมูลเพียงพอที่จะทำให้เขามีความรู้มากพอๆ กับผู้ใหญ่ ดังนั้นเราจะต้องยอมรับและใช้เทคโนโลยีให้ตรงตามจุดประสงค์ และเรื่องอายุก็ไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนรู้อีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีเริ่มปรับตัวให้เข้ากับชีวิตเราได้มากขึ้น

องค์กรของเราเองก็เช่นกันที่ต้องปรับให้ทันตามเทคโนโลยี แต่ความเปลี่ยนแปลงคงจะไม่เกิดในทันทีทันใดภายในหนึ่งเดือน ยิ่งเป็นองค์กรใหญ่ยิ่งต้องใช้เวลานาน แต่เราก็เลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องพัฒนาตัวเองให้ทันโลก ยิ่งการทำงานในสายการเงินแล้วยิ่งได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

สิ่งที่ธนาคารทำ ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีด้านการเงินเข้ามาร่วมให้บริการ อย่างเช่นการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านแอพพลิเคชั่น และอนาคตต่อไปอาจจะมีระบบการจองคิวล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ลูกค้าเสียเวลาเข้ามารอครึ่งค่อนวันเหมือนแต่ก่อน เพื่อลดคำว่าเสียเวลาลงให้มากที่สุด แต่การเข้ามาของเทคโนโลยีก็หมายความว่าพนักงานของเราทุกคนก็ต้องปรับตัวให้ก้าวทันตามเทคโนโลยีที่เข้ามาด้วยเช่นกัน เพียงแต่จะต้องเป็นไปในรูปแบบที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

การทำงานก็เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ ทุกอย่างมันไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในครั้งเดียวหรือเห็นภาพภายในครั้งเดียว สิ่งที่เราทำก็คือหาชิ้นส่วนที่เป็นขอบเพื่อสร้างกรอบการทำงานออกมา รู้ว่าขอบเขตของรูปอยู่ตรงจุดไหนบ้าง จากนั้นก็ค่อยไปแยกส่วนทีละชิ้น บ้าน ท้องฟ้า ต้นไม้ และน้ำทะเล หรือขึ้นอยู่กับว่าเราต่อภาพอะไร จากนั้นแยกภาพส่วนใดส่วนหนึ่งออกมาต่อข้างนอกให้สำเร็จ แล้วก็นำมาต่อให้เสร็จเป็นส่วนๆ

ฉัตรชัย ศิริไล โลกที่ต้องก้าวตามให้ทัน

 

ส่วนไหนที่คุณหาไม่เจอ ส่วนใดที่คุณยังไม่สามารถต่อได้เลย เวลานั้นให้คุณถอยออกมาก่อน การทำงานก็เช่นกัน เวลาที่เราทำงานแล้วเราเจอปัญหาไม่ว่าจะพยายามแก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้ อยากหาทางออกก็ไม่เจอ ให้ถอยออกมาก่อนแล้วค่อยกลับเข้าไปใหม่ ก็เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์ จะมีชิ้นส่วนบางชิ้นที่เราหาอย่างไรก็ไม่เจอ ให้พักไว้ก่อนแล้วเดินไปเข้าห้องน้ำ ไปกินข้าว ทำสมองให้กลับมาปลอดโปร่ง

เมื่อเดินกลับมาหาใหม่ คุณจะพบว่า ในทุกครั้งคุณจะพบจิ๊กซอว์ที่เป็นปัญหา ในการทำงานของเราก็เช่นกัน หากจะพูดในแง่ของการทำงานเป็นทีมก็สามารถทำได้เช่นกัน การทำงานเป็นทีมเราต้องแยกให้ชัดเจนว่าทีมไหนที่จะต่อกรอบ ทีมไหนจะหาชิ้นส่วนภายในภาพ เมื่อทุกทีมทำภาพเสร็จแล้วก็นำมาต่อรวมกันเป็นภาพใหญ่ที่สวยงาม แต่ปัญหาอย่างหนึ่งในการทำงานเป็นทีมก็คือจะมีบางชิ้นส่วนที่ก้ำกึ่งคาบเกี่ยวระหว่างการทำงาน ซึ่งมันจะเป็นชิ้นส่วนปัญหา ให้แยกมาพักไว้แล้วค่อยคิดกันทีหลัง เพราะว่าถ้าเกิดคุณมัวเสียเวลาในการแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อยู่ตลอดทำงานอย่างไรก็จะไม่มีวันสำเร็จ

ถ้าเวลานี้คุณต่อรูปนี้ไม่ได้ คุณก็ไปต่อรูปอื่นค่อยๆ เป็นรูปร่าง เมื่อคุณทำไปเรื่อยๆ วันละเล็กวันละน้อยมันจะประสบความสำเร็จในภาพที่คุณต้องการ มีคำกล่าวที่เขาชอบว่ากันว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว การต่อจิ๊กซอว์หรือการวางแผนในการทำงานให้ประสบความสำเร็จก็เช่นเดียวกัน มันต้องใช้เวลา

ในการบริหารงานผมตั้งเป้าไว้ 4 ปี เราจะต้องเห็นอะไรในองค์กร แล้วก็แบ่งออกไปว่าในแต่ละปีเราจะต้องเห็นอะไร แล้วสื่อสารกับทุกคนในองค์กรให้เห็นภาพเดียวกัน ในการทำงานผมจะบอกลูกน้องเสมอว่าแผนเปลี่ยนได้ แต่เป้าหมายเปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าในสถานการณ์จริงมันมีตัวแปรอย่างอื่นมากมายที่ทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมาย ดังนั้นแผนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อทำให้งานของเราเดินหน้าไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการ

ฉัตรชัย ศิริไล โลกที่ต้องก้าวตามให้ทัน

 

ในการทำงานของผมจะมีเป้าหมายสูงสุดที่เราตั้งไว้ว่า ถ้าทำได้ก็คือกำไรและเกิดถึงจุดนึงที่เราตั้งอยู่ แต่ถ้าเกิดไม่ถึงจุดที่เราตั้งไว้แต่ว่ายังอยู่ในระดับที่เราพอใจว่าสามารถทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่เรารับได้ ยิ่งในฐานะเบอร์หนึ่งขององค์กรเวลาเกิดปัญหาเราจะเสียกำลังใจไม่ได้ และเวลาที่เราจะทำงานอะไรก็ตาม เราต้องทำให้เต็มที่เต็มร้อยเต็มความสามารถที่มี

เพราะชีวิตมีอยู่ 2 อย่างที่เราเอาคืนไม่ได้ก็คือเวลากับความตาย ถ้าเราทำไม่เต็มที่อย่ามาทำให้เสียเวลาชีวิต เพราะว่าเวลาผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย มันย้อนกลับคืนแก้ไขไม่ได้ ถามว่าในชีวิตมีสิ่งไหนที่เรารู้สึกเสียดายไปบ้างที่ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปเอาได้ ก็ต้องบอกว่าเป็นช่วงชีวิตที่ผมอายุประมาณ 29 ปี

ตอนนั้นผมเป็นเลขาฯ ผู้จัดการใหญ่ ประมาณทุ่มสองทุ่มผมยังนั่งทำงานอยู่ที่ออฟฟิศ มองกระจกลงไปข้างล่างเห็นเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกันลงไปเตะบอลบ้าง ก็ออกไปเดินช็อปปิ้ง รับประทานอาหารกับครอบครัว กับคนรัก ซึ่งผมไม่ได้มีชีวิตแบบนั้น แต่ผมก็ได้ชีวิตที่ดีอีกด้านหนึ่งกลับมา

หากจะบอกจริงๆ แล้วในชีวิตของคนเราไม่ได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการ ได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก็อาจจะต้องยอมเสียอีกสิ่งหนึ่งไปเป็นเรื่องธรรมดา ขอให้ทำให้ดีที่สุด ทำเต็มที่ในทุกสิ่งที่เราได้ทำก็พอ”