posttoday

ดร.ดนุวัศ สาคริก ผมไม่มีความฝัน มีแต่เป้าหมาย

22 กุมภาพันธ์ 2560

หากเปรียบเป็นเมล็ดพันธุ์ “ผศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก” ต้องเรียกว่าเป็นลูกไม้หล่นใต้ต้น

โดย...กองทรัพย์ ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

หากเปรียบเป็นเมล็ดพันธุ์ “ผศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก” ต้องเรียกว่าเป็นลูกไม้หล่นใต้ต้น เพราะเป็นหลานปู่ ศ.ระพี สาคริก บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย และอดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ คุณพ่อเป็นอดีต สส.กรุงเทพมหานคร การเติบโตในครอบครัวข้าราชการ อาจจะมีส่วนหล่อหลอมให้เขาอยากทำงานรับใช้สังคมโดยไม่รู้ตัว สำหรับชายหนุ่มคนนี้ความปรารถนาของเขาไม่ใช่การทำงานผ่านรูปแบบข้าราชการ แต่อยู่ในรูปแบบของการให้ความรู้และพัฒนาคนในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย

“ผมมองว่าการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยให้อิสระทางความคิด ทั้งยังอยู่ในฐานะที่ได้ช่วยคนในรูปแบบของการให้ความรู้ เส้นทางของผมจึงค่อนข้างชัดเจนว่า คือเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพราะตอนที่เรียนอยู่ประเทศอังกฤษ ผมจะกลับมาเมืองไทยเกือบจะทุกปิดเทอม ทำให้มีโอกาสฝึกงานกับองค์กรภาคธุรกิจชั้นนำของเมืองไทยอยู่หลายแห่ง ทำให้ผมรู้ว่าการทำงานในระบบบริษัทไม่เหมาะกับผม ดังนั้นผมก็เลยคิดว่าเส้นทางการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยน่าจะเหมาะกับแนวทางและจุดยืนของผม” ดร.ดนุวัศ เล่าถึงเหตุผลของการเลือกมาเป็นอาจารย์ และด้วยดีกรีปริญญาตรี BSc.(Hons) Economics, University of Essex และปริญญาโท MSc. Economics, Finance, and Management, University of Bristo จากประเทศอังกฤษ ทำให้เริ่มต้นเส้นทางอาจารย์ทั้งในมหาวิทยาลัยเอกชนและรัฐบาลได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสามสิบปี

ดร.ดนุวัศ สาคริก ผมไม่มีความฝัน มีแต่เป้าหมาย

เป้าหมายของหนุ่มคนนี้ไม่ได้หยุดแค่นั้น เขาเรียนต่อระดับปริญญาเอก ในสาขาวิชานโยบายสาธารณะ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งในขณะศึกษาปริญญาเอกก็ได้รับทุน Graduate Exchange Fellowship, School of Public and Environmental Affairs จาก Indiana University Bloomington ปัจจุบัน ดร.ดนุวัศ กลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่ NIDA และทำงานเพื่อภาคประชาชนร่วมกับทำงานในมหาวิทยาลัย ณ วันนี้เขาเป็นคนหนุ่มที่ได้ทำสิ่งรักและตั้งใจของตัวเอง

“ตอนเด็กๆ ก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ไม่ได้คิดว่าอยากจะเป็นอะไร เรียนไปตามระบบไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ความคิดมาเปลี่ยนตอนไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ ทำให้เราเห็นโลกในอีกมุมหนึ่ง เห็นว่าระบบการศึกษาที่ดีทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนโดยเฉลี่ยในประเทศนั้นๆ มีมาตรฐานสูง แล้วอะไรล่ะที่จะนำพามาตรฐานประชากรไปสู่จุดนั้น สิ่งนั้นคือการศึกษา ผมจึงคิดว่าอาชีพอาจารย์น่าจะเป็นสิ่งที่ตรงกับตัวผม มากกว่าที่จะไปทำงานเป็นพนักงานบริษัท ผมมองว่า การพัฒนาคนในประเทศด้วยการศึกษาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพ” น้ำเสียง แววตาและคำพูดที่ออกมานั้น ชัดเจนสะท้อนให้เห็นถึงความคิดและความมุ่งมั่น

เมื่อถามว่า อะไรทำให้อาจารย์หนุ่มอย่างเขา ทำงานในอาชีพที่ท้าทาย และได้ทำประโยชน์ด้วยการสอนหนังสือ... “คณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่ผมสอนอยู่ เชื่อมโยงทุกมิติของการบริหารงานภาครัฐ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน ดังนั้น มันสำคัญในการสร้างคนและการพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยจึงต้องเป็นแหล่งผลิตคนที่พร้อม ทั้งความรู้และความคิดที่ดี ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด แต่อย่างน้อยต้องเป็นคนที่มีทัศนคติที่อยากออกไปพัฒนาสังคม

ดร.ดนุวัศ สาคริก ผมไม่มีความฝัน มีแต่เป้าหมาย

หลายคนถามว่าได้แนวทางการทำงานมาจากคุณปู่และคุณพ่อหรือเปล่า จริงๆ แล้วท่านทั้งสองแทบไม่ได้สอนอะไรมากนัก หรือพูดคุยกันว่าเราจะต้องโตมาเป็นอะไร ท่านปล่อยให้เราคิดเอง แต่ท่านให้ข้อคิดและที่สำคัญคือทำตัวเป็นแบบอย่างในการเป็นข้าราชการและการเป็นพลเมืองดี ตั้งแต่เรื่องความรักชาติ ซื่อสัตย์ ขยัน ประหยัด และที่สำคัญคือการไม่เอาเปรียบคนอื่น ผมเห็นท่านทำมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต และผมยึดหลักตรงนี้มาใช้กับลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัย

ในระดับที่ผมสอนเริ่มจากปริญญาโทและปริญญาเอก ดังนั้นคนที่มาเรียนจะเป็นคนที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการอะไร ดังนั้นเขาจะคาดหวังกับสิ่งที่เราจะสอนอยู่แล้ว วิธีการสอนของผม ผมอาศัยว่าเป็นคนช่างสังเกต ตั้งแต่เรียนในห้องเรียนที่อังกฤษ เราก็จะเก็บข้อมูลมาว่าอาจารย์ที่สอนเก่งเขาทำอย่างไร ทำอย่างไรให้นักศึกษาสนใจและมีส่วนร่วมในห้องเรียน คนที่เป็นอาจารย์ต้องทำการบ้าน สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนการสอน

ผมไม่อยากให้คนที่มาเรียนเสียเงินค่าเรียนและเสียเวลาเปล่า ทฤษฎีจะต้องแน่น ขณะเดียวกันก็ต้องอัพเดทความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในโลก เราสอนรัฐประศาสนศาสตร์ ที่ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายภาครัฐ ทฤษฎีเก่าๆ ก็ต้องรู้ แต่เหตุการณ์การเมืองโลกที่เกิดขึ้นนอกตำราเกิดขึ้นได้ตลอด จึงจำเป็นต้องรู้และนำมาประยุกต์ในการสอนได้” จังหวะการพูดที่คล่องแคล่ว และท่วงทำนองที่น่าฟังของน้ำเสียง ชัดเจนทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เชื่อได้ไม่ยากว่า เขาจะเป็นขวัญใจของนักศึกษาแน่นอน

ดร.ดนุวัศ สาคริก ผมไม่มีความฝัน มีแต่เป้าหมาย

ช่วงที่ผ่านมาการทำงานย่อมมีอุปสรรคต่างกันไป ดร.ดนุวัศ กล่าวว่า ชีวิตต้องอยู่ในความสมดุล ซึ่งเขามองว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นหลักการนำมาใช้ได้กับทุกมุมของชีวิต เมื่ออยู่ในสมดุล ชีวิตก็จะมีภูมิคุ้มกัน และผ่านปัญหาได้เร็ว

“ผมว่าหลักการนี้เป็นสิ่งสำคัญคืออย่าคิดว่าตัวเองเป็นสุดยอดของที่สุด เพราะจะทำให้เราประมาท ความประมาทเป็นหนทางสู่ความตาย ยิ่งงานที่เราคิดว่าให้อิสระ เรายิ่งต้องมีวินัย งานอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ แบ่งเวลาสำหรับการเรียนรู้ของตัวเอง เวลาสำหรับงานสอน เวลาสำหรับการศึกษาวิจัย ผมภูมิใจกับอาชีพนี้ทุกครั้งที่ได้ยินหรือเห็นผลการประเมินหรือได้รับฟีดแบ็กจากนักศึกษาว่าชื่นชอบวิธีการสอนของเรา หรือความรู้ที่ได้รับจากเราพวกเขาสามารถนำไปใช้ในงาน หรือเกิดประโยชน์กับตัวเขาเองหรือชุมชนที่เขาอยู่

“ชีวิตผมไม่มีความฝัน มีแต่เป้าหมาย” นิยามสั้นๆ ในการใช้ชีวิตของ ดร.ดนุวัศ แต่ใช่ว่าชีวิตเขาจะเต็มไปด้วยเรื่องเคร่งเครียดตลอดเวลา เขายังมองว่าครอบครัวยังเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด

“ยิ่งครอบครัวเข้าใจในสิ่งที่เราทำ เรายิ่งต้องให้เกียรติเขา เอาใจใส่และดูแลเขาให้สมกับความเข้าใจนั้น ดังนั้นผมจะแบ่งเวลาให้ลงตัวที่สุดสำหรับเวลาครอบครัว เป้าหมายด้านการทำงานของผมคือ การทำให้นิด้ากลายเป็นที่รู้จักในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและจากต่างประเทศ ผลิตนักศึกษาที่จะไปทำงานในภาครัฐให้มีทัศนคติและความรู้ที่พร้อมสำหรับการพัฒนาประเทศ

ส่วนตัวผมจะต้องผลิตผลงานด้านวิชาการอย่างน้อยหนึ่งชิ้น ส่วนสมดุลเรื่องส่วนตัวตั้งเป้าว่า อยากออกกำลังกายให้มากขึ้น มีเวลาท่องเที่ยวเดินทางกับครอบครัว ได้ทำอาหารที่ชอบได้บ่อยขึ้น” นักวิชาการรุ่นใหม่ เล่าด้วยแววตาที่เป็นประกาย