posttoday

เต้นเปลี่ยนชีวิต นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์

09 กุมภาพันธ์ 2560

สาวเท่บุคลิกดีมากความสามารถวัย 27 ปี หลอดไฟ-นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์

โดย...ภาดนุ ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

สาวเท่บุคลิกดีมากความสามารถวัย 27 ปี หลอดไฟ-นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ครูสอนเต้นและนักออกแบบท่าเต้นของสถาบันบางกอกแดนซ์ (Bangkok Dance Academy) ทายาทคนโตของ วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ เจ้าของสถาบัน ที่เป็นลูกไม้ที่หล่นใต้ต้น

“ดิฉันเรียนจบปริญญาตรีสาขาศิลปะการเต้นจาก The Victorian College of the Arts and Melbourne Conservatorium of Music มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่นั่น ดิฉันต้องต่อสู้กับจิตใจตัวเองพอสมควร เพราะเราเรียนเต้นมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จนโตเป็นวัยรุ่นก็ยังเรียนอยู่ จึงเหมือนกับว่าชีวิตวัยรุ่นขาดหายไป ทำไมเพื่อนมีเวลาไปเดินเล่นสยามได้ แต่ทำไมเราถึงต้องมาเรียนเต้นอยู่แบบนี้ เมื่อคิดแบบนั้นก็เลยบอกกับคุณแม่ว่าจะเลิกเต้นแล้วนะ คุณแม่ก็เฉยๆ ไม่ได้ว่าอะไร

ระหว่างที่ตัดสินใจอยู่นั้น สถาบันบางกอกแดนซ์ก็ได้เปิดโครงการโซโลอีสต์ (Soloist) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกพอดี โดยคัดเลือกเด็กที่มีศักยภาพในการเต้นและครอบครัวพร้อมที่จะส่งลูกให้เรียนต่อทางด้านนี้เพื่อต่อยอดไปสู่อาชีพได้ คุณแม่ก็เลยจับดิฉันไปเข้าโครงการนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องบอกว่าแม้จะเรียนบัลเลต์มาตั้งแต่เด็ก แต่โครงสร้างร่างกายเราก็ไม่ได้เป็นนักบัลเลต์เลย เพราะตัวสูงมาก กระดูกใหญ่ แถมพอเข้าไปอยู่ในโครงการนี้แล้ว จากที่เรียน 2-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็กลายเป็นเรียน 14-15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยล่ะ แต่พอเรียนไปสักพักก็กลับพบว่าร่างกายเราทำได้เกินกว่าที่คิดไว้ สามารถยกขาขึ้นไปแนบกับศีรษะได้ จนลืมคิดเรื่องเลิกเรียนไปเลย กลับเริ่มรู้สึกถึงความท้าทายและคิดที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ”

เต้นเปลี่ยนชีวิต นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์

พออยู่ในโครงการได้ 3-4 ปี บางกอกแดนซ์ก็ส่งเธอไปแข่งขันเต้นที่ต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ ซึ่งในปี 2009 เธอเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่คว้ารางวัล Aggregate Cup (คะแนนรวมบุคคลสูงสุด) จากการแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 11 มาได้ ก่อนจะโชว์ฝีมือการเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นที่ได้รับการยกย่องบนเวทีว่าเป็น “Dance for Tomorrow” ในการแข่งขันเต้นที่ฟิลิปปินส์

“ตอนนั้นอายุแค่ 16 ปี บวกกับอีโก้ที่มีอยู่ ดิฉันจึงไปลองออดิชั่นเพื่อสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่เมลเบิร์น ซึ่งก็สอบผ่านไปได้ด้วยดี ตอนนั้นรู้แค่ว่าที่นี่เน้นเรียนเต้น แล้วเรามาแบบเก่งแล้ว ก็น่าจะสบายล่ะ แต่พอไปเรียนจริงๆ แล้วช็อกค่ะ เรียกว่าได้ไปเปิดโลกทัศน์ทางด้านศิลปะการเต้นอย่างแท้จริง และเพิ่งเข้าใจในตอนนั้นว่าการเต้นแบบใช้เทคนิคกับการเต้นแบบนำศิลปะเข้ามาผสมผสานนั้นมันแตกต่างกันยังไง ที่นี่ไม่ได้สอนให้เป็นนักเต้นที่ดี แต่จะสอนให้เป็นนักคิดที่ดีมากกว่า ซึ่งเด็กทุกคนที่จบออกไปจะสามารถคิดนอกกรอบและต่อยอดอาชีพได้

ดิฉันเป็นคนไทยคนเดียวในที่นั่น ซึ่งโชคดีมากที่มีเพื่อนชาวต่างชาติที่ใช้ชีวิตแบบสมถะ ใช้เงินแค่วันละ 5 เหรียญออสเตรเลีย เราจึงได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่แตกต่างออกไป คือได้เรียนทั้งศิลปะและได้เรียนรู้การใช้ชีวิตจากคนอื่นไปพร้อมกัน ต่างจากตอนอยู่เมืองไทยเราจะเป็นคุณหนูมาก ใช้ชีวิตสบายๆ เรียนโรงเรียนอินเตอร์ แต่พอได้มาเห็นเพื่อนฝรั่งบางคนที่ไม่ได้รวย แต่ชีวิตเขากลับดูมีความสุขมากกว่าเรา นั่นก็เพราะเขารู้จักความพอเพียง เราจึงได้เรียนรู้และซึมซับตรงจุดนี้มา จนทำให้เลิกใช้แบรนด์เนมไปเลยค่ะ” (ยิ้ม)

เต้นเปลี่ยนชีวิต นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์

หลอดไฟบอกว่าตอนที่เรียนจบด้านคอนเท็มโพรารีแดนซ์แล้วกลับมาเมืองไทย ช่วงนั้นสาขานี้ยังเป็นสิ่งที่ใหม่อยู่ จึงดูเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนไทยเข้าใจศาสตร์การเต้นนี้ได้ แม้แต่คุณแม่ของเธอที่อยู่ในแวดวงนี้มานานก็ยังคุยกันไม่ค่อยเข้าใจ เรียกว่าเป็นช่วงที่สับสนและกดดัน จนเธอต้องกลับบินไปอยู่ที่ออสเตรเลียอีกครั้ง

“ระหว่างที่ไปปรับอารมณ์ตัวเองที่ออสเตรเลีย ดิฉันก็ได้มีการแสดงโชว์คอนเท็มโพรารีแดนซ์ไปด้วย ทั้งเต้น ทั้งพูด ทั้งร้องไห้ตอนโชว์เพื่อปลดปล่อยทุกอย่างออกมา ทำให้คิดได้ว่าเราต้องไม่กลัวและต้องจริงใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ จุดนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ดิฉันยื่นขอทุนไปเรียนที่ Dance Web ประเทศออสเตรีย และได้เป็น 1 ใน 3 ของคนเอเชียที่ได้ทุนเรียนฟรีนี้ ก่อนจะไปเข้าร่วมเทศกาล Impulstanz หรือ Vienna International Dance Festival เทศกาลศิลปะการเต้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย

จากนั้นก็เดินทางไปทั่วโลกเพื่อค้นหาตัวเอง กระทั่งพบว่าเราต้องไปวิ่งตามนักเต้นคนอื่นๆ จากทั่วโลกซึ่งศิลปะของพวกเขาได้พัฒนาไปไกลแล้ว บางคนติสต์ถึงขนาดเปลือยกายเต้นโชว์เลยก็มี เราก็คิดว่า เอ๊ะ! มันไม่ใช่แล้ว เพราะเรายังคิดถึงรากเหง้าในความเป็นไทยอยู่ เราก็น่าจะใช้เอกลักษณ์ความเป็นเอเชียตรงนี้มาทำให้เป็นจุดเด่นที่พิเศษขึ้นมาดีกว่า

เต้นเปลี่ยนชีวิต นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์

 

คิดได้แบบนั้น ดิฉันจึงตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย เพื่อมาเป็นผู้บุกเบิกศาสตร์การเต้นแบบคอนเท็มโพรารี ด้วยการกลับมาเป็นครูสอนเต้นที่บางกอกแดนซ์ โดยตั้งใจว่าเด็กที่มาเรียนกับเราไม่ใช่แค่เรียนจบไปแล้วเป็นนักเต้นเท่านั้น แต่เขาต้องสามารถสร้างงานศิลปะในแบบของเขาได้ และสามารถที่จะเป็นได้ทั้งนักเต้น นักแสดง และอื่นๆ ได้ด้วย”

หลอดไฟเสริมว่า ปัจจุบันนี้เธอเป็นครูสอนด้านครีเอทีฟ มูฟเมนต์ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของคอนเท็มโพรารีแดนซ์ ที่คอยสอนให้เด็กๆ ได้รู้ว่า ทุกคนสามารถหยิบสิ่งที่เห็นอยู่รอบตัวมาเป็นแรงบันดาลใจได้เสมอ บทบาทที่สำคัญอีกอย่างของเธอก็คือพัฒนาและผลักดันเด็กๆ โดยพาพวกเขาไปร่วมแข่งขันในต่างประเทศ เพื่อให้ได้ประสบการณ์และนำมาพัฒนาตัวเองได้ในอนาคต

“ปัจจุบันดิฉันเป็นครูสอนเต้นที่บางกอกแดนซ์มาได้ 5 ปีแล้ว สัปดาห์หนึ่งจะสอน 4-5 วัน โดยสอนเด็กอายุ 10-17 ปี และตอนนี้ก็กำลังจะเปิดคอร์สสอนเต้นสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่มีพื้นฐานการเต้นมาก่อนเลยอีกด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้กำลังมองหาวิธีบำบัดให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องไปเรียนโยคะหรือเข้าฟิตเนส ดิฉันเชื่อว่าทุกคนสามารถเต้นได้ เพราะการเต้นเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันของคนเรา

เต้นเปลี่ยนชีวิต นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์

 

นอกจากเป็นครูสอนเต้นแล้ว ดิฉันยังมีบทบาทโดยเข้ามาช่วยคุณแม่บริหารและพัฒนาบางกอกแดนซ์ ให้มีคอร์สใหม่ๆ ที่น่าสนใจจากทั่วโลกเข้ามาให้เด็กๆ ได้เรียนด้วย แล้วดิฉันยังสร้างศิลปะการเต้นและออกแบบท่าเต้นเพื่อไปแสดงตามงานศิลปะต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นความสุขที่สำคัญในชีวิตเลยก็ว่าได้

หลักในการทำงาน ดิฉันจะยึดตามแนวทางของคุณแม่ ซึ่งท่านจะพูดเสมอว่าเราไม่ได้ยึดถือการทำธุรกิจ หรือเรื่องเงินเป็นหลัก แต่เรายึดถือการเป็นครอบครัว บุคลากรหรือครูที่สอนในสถาบันของเราจะต้องแข็งแรง ต้องอยู่ดีมีความสุข มีการดูแลซึ่งกันและกัน บางคนอยู่กับเรามาเป็นสิบๆ ปีเลยก็มี หรืออย่างเด็กที่มาเรียนกับเราก็เหมือนญาติในครอบครัวไปแล้ว บางคนเรียนมาตั้งแต่ 5 ขวบจนโตเป็นสาวเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ยังอยู่กับเราและกลายมาเป็นครูสอนเต้นที่สถาบันก็มี เรียกว่าเราอยู่ด้วยกันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเลยก็ว่าได้”

หลอดไฟเสริมว่า ในอนาคตเธอวางแผนไว้ว่าอยากจะสร้างเด็กกลุ่มใหม่ขึ้นมา เพื่อให้พวกเขากลายเป็นครูที่มีความครีเอทีฟมากขึ้น และสามารถมารับช่วงสอนเด็กรุ่นต่อๆ ไปได้ เพราะเธอเชื่อว่าความครีเอทีฟนั้นสำคัญมาก มันสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และทำให้พวกเขาเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น สามารถเป็นผู้นำคนในสังคมได้ น้องๆ ที่สนใจสามารถมาเรียนกับเธอได้ที่สถาบันบางกอกแดนซ์ สยามพารากอน หรือติดตามที่ IG : Lordfai ได้เลย

“ความฝันอีกอย่างของดิฉันก็คือ อยากจะตั้งคณะแดนซ์ขึ้นมา และอยากให้มีภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนบ้าง รวมทั้งหวังให้ผู้คนอยากมาชมการแสดงเต้นเพราะมันเป็นศิลปะจริงๆ ไม่ได้มาดูเพราะเป็นการเปิดตัวสินค้าหรือการพาณิชย์ เพราะที่ต่างประเทศเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนมาดูการแสดงก็เพราะมันคือศิลปะ แต่ที่เมืองไทยเราคงต้องใช้ความพยายามกันต่อไป ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีคณะแดนซ์อยู่ 2-3 คณะแล้ว ดิฉันจึงอยากจะตั้งคณะของตัวเองให้เป็นจริงขึ้นมาบ้าง” สาวเก่งกล่าวทิ้งท้าย