posttoday

วิทวัส คุตตะเทพ ไม่มีใครเก่ง แต่ต้องพยายาม

19 ตุลาคม 2559

ความโดดเด่นของอาคารสำนักงานแนวใหม่ “เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ (FYI CENTER-For Your Inspiration Workplace)

โดย...กองทรัพย์ ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล

ความโดดเด่นของอาคารสำนักงานแนวใหม่ “เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ (FYI CENTER-For Your Inspiration Workplace) โครงการสุดฮิปสุดครีเอทีฟในคอนเซ็ปต์ “Business+Creativity” สำนักงานแห่งล่าสุดในย่านคลองเตย ดึงดูดสายตาทุกครั้งที่เดินทางผ่านทั้งสัญลักษณ์ด้านหน้าอาคาร หรือแสงไฟที่แปรอักษรในเทศกาลสำคัญ จึงนับว่าที่นี่พร้อมจะเปลี่ยนความจำเจของสถานที่ทำงานให้กลายเป็นที่ที่สามารถจุดประกายความสร้างสรรค์ได้ โดยมุ่งไปที่พื้นที่สำหรับเติมไอเดียให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการห้องทำงานสี่เหลี่ยม

อาคารแห่งนี้อยู่ในความดูแลของ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือโกลเด้นแลนด์ โดย วิทวัส คุตตะเทพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งนี้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2556 เป็นต้นมา เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งปริญญาโทสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา

ก่อนจะมาร่วมงานกับโกลเด้นแลนด์ วิทวัสเคยร่วมงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติมาแล้วเช่นที่บริษัท Phonesack Group (Thailand) ดูแลและพัฒนาโครงการโรงงานซีเมนต์ และโรงงานพลังงานถ่านหิน และที่บริษัท Fico Corporation เขารับผิดชอบบริหารโครงการอาคารสำนักงาน และโรงแรมชั้นนำขนาดใหญ่ต่างๆ มากมาย

วิทวัส คุตตะเทพ ไม่มีใครเก่ง แต่ต้องพยายาม

ความคิดสร้างสรรค์กุญแจสำคัญให้ธุรกิจสำเร็จ

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการเจ้าของโปรเจกต์ เปิดเผยถึงรายละเอียดก่อนจะกลายเป็นเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ว่า ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของคนสมัยใหม่ที่ต้องการความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว “คน Gen Y ไม่ได้คิดเหมือนคนรุ่นผม พวกเขาจะไม่ทำงานหนักเพื่อเงินอย่างเดียว แต่พวกเขาจะทำงานที่พวกเขามีความสุข ขณะเดียวกันก็มีเวลาสำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดมาแล้วผมต้องมาคิดว่าอะไรที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เหล่านี้ได้บ้าง จึงออกมาเป็นสำนักงานแนวใหม่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมในรูปแบบของออฟฟิศที่ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องสี่เหลี่ยม ต้องหาอะไรที่จะเสริมให้ผู้ใช้

ผมเองไม่ได้เป็น Gen Y แต่ทีมงานผม หรือแม้กระทั่งทีมเอาต์ซอร์สเป็น Gen Y กันเยอะ เราพูดคุยสิ่งที่เขาต้องการ สังเกตพฤติกรรมของเขา สิ่งที่ผมเห็นชัดๆ เลยก็คือ คนเจนนี้เป็นห่วงสุขภาพกันเยอะ อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ จึงมองว่าสองสิ่งนี้จะเติมเต็มให้พวกเขาได้

ดีไซน์ไว-ไฟฟรีในชั้นที่ไม่ใช่ออฟฟิศก็เป็นจุดที่เสริม ลูกเล่นของอาคารไม่ได้เป็นเพียงอาคารที่ตอบสนองความต้องการของคน Gen Y เท่านั้น แต่ยังแทรกนวัตกรรมการออกแบบล้ำสมัย เช่น กระจกความโค้ง การบังแสงเงาลดความร้อนแต่ได้แสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ ร่มรื่นด้วยพื้นที่สีเขียวโดยรอบส่งเสริมแรงบันดาลใจด้วยบรรยากาศของสวนเบญจกิติที่ตั้งอยู่ตรงข้าม ซึ่งพวกเขาสามารถ
ออกกำลังกายแบบใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งเราทำให้พื้นที่แห่งนี้สะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่ใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของพนักงานให้แก่เหล่าบริษัทชั้นนำที่จะมาเช่าพื้นที่ในอนาคต”

วิทวัส บอกถึงการเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์และการดีไซน์โดยอิงกับความสำคัญของพื้นที่ตั้งอย่างน่าสนใจ เพราะแม้ว่าจะมีอาคารสำนักงานไม่น้อยที่อยู่ในย่านสีลม สาทร สุขุมวิท แต่เขาบอกว่าที่นี่คืออนาคต

“ความที่สถานที่ตั้งของโครงการอยู่ในย่านเดียวกันกับท่าเรือคลองเตย ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นการออกแบบรูปโฉมของอาคารจึงนำแรงบันดาลใจจากดีไซน์ของตู้คอนเทนเนอร์มาเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะบริเวณโถงทางเข้าอาคารและลิฟต์โดยสารที่ราวกับยกตู้คอนเทนเนอร์มาจัดเรียงไว้จริงๆ

ด้านหน้าอาคารมีประติมากรรมสีเหลืองขนาดใหญ่ Plug Man ผลงานการออกแบบของดีไซเนอร์ชื่อดัง สาธิต กาลวันตวานิช ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Propaganda ที่นอกจากดึงดูดสายตาผู้คนที่ผ่านไปมาได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสะท้อนคอนเซ็ปต์ของเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ ในการเป็นอาคารสำนักงานแนวใหม่ที่จุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ให้กับคนรุ่นใหม่

การออกแบบโครงสร้างและส่วนต่างๆ ของอาคารนั้น ทางโครงการยังให้ความสำคัญกับ Green Concept เพื่อช่วยในการประหยัดพลังงานและใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบโครงสร้างตัวอาคารให้มีพื้นที่เปิดโล่งให้มากที่สุด โดยจัดให้มีพื้นที่สำหรับคนเดินและพื้นที่สีเขียว 20% ของพื้นที่โครงการ รวมทั้งออกแบบชั้นล่างของอาคารให้รับทิศทางลม เพื่อให้มีลมธรรมชาติพัดเข้ามาลานด้านหน้า ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะตลอดทั้งวัน ไม่ใช้น้ำประปารดน้ำต้นไม้ แต่รวบรวมน้ำทิ้งจากการควบแน่นของระบบปรับอากาศในแท็งก์น้ำใต้ดินมาใช้ สนับสนุนการใช้จักรยาน โดยมีพื้นที่จอดรถจักรยานและห้องอาบน้ำบริเวณชั้นใต้ดิน B1

นอกจากนี้ พื้นที่ออฟฟิศมากกว่า 75% ได้แสงสว่างธรรมชาติที่มีคุณภาพ สว่างเพียงพอ และไม่จ้าจนเกินไป ด้วยการวางผังอาคารที่ดี ทำให้พื้นที่สามารถรับแสงสว่างจากหน้าต่าง รวมถึงการใช้กระจกที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดการนำความร้อนแต่ยังให้ได้ปริมาณแสงสว่างที่เพียงพอในการทำงาน การออกแบบกรอบของอาคารให้มีความลดหลั่นกัน โดยเลือกใช้กระจกกั้นความร้อนชนิด Low-E และผนังที่มีค่ากั้นความร้อนสูง สามารถลดการใช้งานจากเครื่องปรับอากาศได้ 24% เมื่อเทียบกับอาคารสำนักงานทั่วไป”

วิทวัส คุตตะเทพ ไม่มีใครเก่ง แต่ต้องพยายาม

 

หัวใจของงานคือทีมเวิร์ก

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ โกลเด้นแลนด์ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เช่าจับจองพื้นที่แล้วถึง 70% ประกอบด้วยผู้เช่าในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งกว่าโครงการจะเสร็จสิ้นตั้งแต่ขั้นตอนการร่างแบบ การก่อสร้างจนถึงปัจจุบันใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เท่าอายุงานของเขากับโกลเด้นแลนด์ ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้งานราบรื่นก็คือทีมเวิร์ก

“โครงการก่อสร้างหนึ่งแห่ง กว่าจะเสร็จสิ้นมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลามาก จริงๆ ต้องบอกว่าผมคนเดียวทำงานไม่ได้ จะต้องมีหลายอย่างประกอบกัน เช่น ฝั่งเจ้าของ ผู้ออกแบบ ที่ปรึกษาด้านต่างๆ คนคุมงานก่อสร้าง ผู้รับเหมา จนกระทั่งถึงคนทำงานในพื้นที่ เราต้องพูดคุยและประสานงานกับคนที่มีความหลากหลาย ดังนั้นเราจึงจัด Meeting กันบ่อยๆ สร้างทีม สร้างใจขึ้นมา ทุกคนมาจากหลายบริษัทก็จริง แต่เราทำงานด้วยกันแล้วเราคือทีมเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกัน

จุดหลักในการทำงานของผมคือทีมเวิร์ก เราจะเก่งยังไงก็ตาม ถ้าคนอื่นไม่ช่วยเรา งานก็จะราบรื่นไม่ได้ การทำงานของเราจะมองภาพจากภาพที่จะเสร็จ ต้องมองเห็นภาพอาคารที่เสร็จแล้วไว้ในหัว เราต้องไม่หลงทาง แม้ว่าจะไปดูงานที่โน่นที่นี่มา แล้วอยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากให้ตึกเราเป็นแบบนี้แต่ผิดจากสิ่งที่เราวางไว้ก็ไม่ได้ แต่หากตรงกับคอนเซ็ปต์ก็นำมาปรับใช้ให้ดีขึ้น จุดนี้คอนเซ็ปต์ต้องแน่นโดยเฉพาะเจ้าของโปรเจกต์อุปสรรคผมเชื่อว่ามีอยู่แล้ว แต่ทีมนี้มีความหมายมาก เพราะเราสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขงานได้หมดทุกฝ่าย”

ตั้งเป้าหมายและพยายาม

หน้างานหลายคนเห็นว่าเขาเป็นคนจริงจัง แต่ขณะเดียวกันก็มีรอยยิ้มประดับใบหน้าเสมอ เราจึงถามเพิ่มเติมจากสิ่งที่เราเห็น วิทวัส บอกว่า โดยไลฟ์สไตล์ของเขาแม้ไม่ใช่คน Gen Y แต่สิ่งที่เขาไม่ต่างจากเด็กรุ่นใหม่คือการห่วงใยสุขภาพ

“ไลฟ์สไตล์ผมจริงๆ แล้วไม่ต่างจากการทำงาน เพราะผมจะคิดถึงใจเขาใจเรา คือไม่ต้องเอาเปรียบใคร ไม่ว่าจะทำงานกับเรื่องการใช้ชีวิต ทุกคนคือเพื่อนกัน แต่ส่วนตัวผมชอบออกกำลังกาย ซึ่งจะได้สังคมอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไปจากการทำงาน

สิ่งที่ผมเลือกคือการวิ่ง และสิ่งที่ได้รับจากการวิ่งก็คือ น้ำหนักผมลดลงไป 10 กิโลกรัมภายใน 1 ปี แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือ ผมทำตามความตั้งใจของตัวเองได้ทุกๆ ปี ซึ่งแต่ละปีจะตั้งเป้าหมายของตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไรในปีนั้นๆ เช่น ปีที่ 1 วิ่ง 10 กม. ปีที่ 2 วิ่ง 21 กม. ปีที่ 3 วิ่ง 42.195 กม. ตั้งเป้าหมายว่าอยากทำอะไรก่อน แล้วลงมือทำ

เมื่อตั้งเป้าหมายแล้วก็ต้องทำเพราะเรื่องเหล่านี้ฟลุกไม่ได้ เพราะคนวิ่งที่รู้ว่าจะต้องซ้อม ต้องสร้างวินัยให้ตัวเอง ต้องซ้อมวิ่ง ต้องตื่นเช้าขึ้น วันธรรมดาส่งลูกไปโรงเรียน แล้วเข้าฟิตเนส และทำงาน ถ้าคุณจะทำอะไรคุณต้องมีเป้าหมายชัดเจน ไม่มีใครเก่งแต่คุณต้องพยายาม ต้องสร้างมันขึ้นมา การใช้ชีวิต หรือการทำงาน ผมมองว่าสามารถนำมาใช้ได้ไม่ต่างกัน” วิทวัส ทิ้งท้าย