posttoday

จุมพล เตชะไกรศรี ทายาทที.กรุงไทย

21 กุมภาพันธ์ 2558

“จุมพล เตชะไกรศรี” หรือ “ยง” วัย 35 ปีน้องเล็กสุดท้องของบ้านเตชะไกรศรีจากพี่น้องสามคน

โดย...ประลองยุทธ ผงงอย ภาพ... ทวีชัย ธวัชปกรณ์

“จุมพล เตชะไกรศรี” หรือ “ยง” วัย 35 ปีน้องเล็กสุดท้องของบ้านเตชะไกรศรีจากพี่น้องสามคน

เขาเกิดและเติบโตในบ้านอาณาเขตเดียวกับอดีตโรงงานซอยจันทน์ 43 แยก 21 เขตสาทร ที่ปัจจุบันเป็นเพียงสำนักงานของ บริษัท ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม (TKT) บริษัทผลิตชิ้นส่วนพลาสติกรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นธุรกิจของครอบครัว

 “ยง” เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ TKT ที่สืบทอดกิจการของเตชะไกรศรี ในขณะที่พี่ชายทั้งสองคนคือโชติพล และสรพจน์ ออกไปสร้างอาณาจักรของตนเองคือ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์คอร์ปอเรชั่น (PACE) เจ้าของตึกหรู โครงการมหานคร บนถนนสาทร

TKT เริ่มจากการปลุกปั้นของสุเมธและยุพา เตชะไกรศรี พ่อและแม่ของเขา ที่เริ่มธุรกิจเมื่อปี 2516 จากที่มีพนักงานเพียง 10 คน ทำการชุบโครเมี่ยม ชิ้นส่วนพลาสติก จนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปี 2547 มีโรงงาน 3 แห่งคือที่บางพลี กบินทร์บุรี และสุวินทวงศ์

ยงเลือกเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เอกการเงินและธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเกิดและเติบโตมาก็เห็นคุณพ่อและคุณแม่ทำธุรกิจ โดยไม่คิดจะมาทำงานในธุรกิจครอบครัว

จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรีช่วงเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังออกจากวิกฤตต้มยำกุ้งขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในช่วงของการเติบโตจึงเห็นโอกาสที่ดี จึงตัดสินมาทำงานในบริษัทของครอบครัวเมื่อปี 2545 ทันทีที่เรียนจบ

จังหวะที่เขาเข้ามาทำงานนั้น TKT กำลังจะเข้าจดทะเบียนใน ตลท.จึงได้มีโอกาสนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยงานตั้งแต่เริ่มต้นก่อนขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ)

เริ่มงานแรกตั้งแต่ระดับฐานราก เป็นพนักงานฝึกงานในโรงงานเพื่อให้เข้าใจพื้นฐานของธุรกิจเป็นเวลา 3-4 ปี ก่อนจะเลื่อนขั้นมาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการจนถึงปัจจุบันทำงานกับ TKT เป็นเวลานานร่วม 13-14 ปี

สำหรับพี่น้องของเขาพี่ชายคนโตคือ ใหญ่โชติพล พี่ชายคนกลางคือสรพจน์ หรือยิ่ง แต่ละคนจะอายุจะห่างกันประมาณปีครึ่งจึงค่อนข้างสนิทกัน ส่วนคนที่เจอกันแทบทุกวันคือ ยิ่ง เพราะพักอยู่ในบ้านเดียวเป็นบ้านใหม่ย่านพระราม 3 ที่เพิ่งย้ายเข้าไปไม่นาน ส่วนใหญ่เจอกันทุกสัปดาห์ ทั้งสามคนพี่น้องอยู่ในวัยใกล้เคียงกันทำให้พูดคุยกันได้ทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะการแลกมุมมองในการทำธุรกิจที่คุยกันสม่ำเสมอเพราะพี่ชาย 2 คนอยู่วงการอสังหาริมทรัพย์

“ทุกคนสามารถแสดงความเห็นของตัวเองได้ทำให้เรามีกระจกสะท้อนการทำงานมีคนที่กล้าวิจารณ์เราตรงๆ ถือเป็นสิ่งมีค่ามากกับการทำงานเปิดให้พี่ 2 คนพูดความเห็นตัวเองเต็มที่ ขณะเดียวกันผมแสดงความเห็นต่อธุรกิจในบริษัท”

จุมพล เตชะไกรศรี ทายาทที.กรุงไทย

 

ทั้งนี้ ยงยังเป็นกรรมการใน PACE ที่พี่ชายทั้งสองคนร่วมก่อตั้งด้วยกันด้วย

การเข้ามารับไม้ต่อในธุรกิจชิ้นส่วนสายยานยนต์เป็นการตัดสินใจของเขาเองโดยที่บ้านเลี้ยงลูกมาให้อิสระไม่บังคับว่าลูกคนไหนต้องทำอะไร แม้ว่าลูกจะไม่ทำแต่ทางครอบครัวได้วางแผนและวางระบบโดยมีมืออาชีพเข้ามาบริหารอยู่แล้วตั้งแต่แรก

“สิ่งที่คุณพ่อและคุณแม่ปลูกฝังมาคือ การทำธุรกิจต้องไม่เอาเปรียบผู้อื่น ความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ยกตัวอย่าง TKT ที่เราทำจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก่อนหน้านี้ 3 ปีได้คะแนนจัดอันดับด้านบรรษัทภิบาล (ซีจี) 5 ดาวมา 3 ปีติดต่อกัน

ปี 2557 ได้ 4 ดาว ถือว่าด้านซีจีทำได้ค่อนข้างดีเพราะมีการปรับกฎเกณฑ์โดยบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ได้คะแนน 4 กับ 5 ดาวมีจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งใน ตลท. บริษัทมองผู้ถือหุ้นรายย่อยกับผู้มีส่วนได้เสียเป็นเรื่องหลักซึ่งแน่นอนธุรกิจต้องการให้เติบโต แต่ไม่ใช่เป้าหมายเดียว ไม่ได้มุ่งเน้นว่าต้องได้ทุกบาททุกสตางค์ ขณะที่การบริหารมีกรรมการผู้จัดการเป็นคนนอกเป็นมืออาชีพ และมั่นใจว่ากรรมการอิสระมีอิสระจริงแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ไม่ได้ทำธุรกิจตามใจเจ้าของ แม้กลุ่มเตชะไกรศรีจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ยง กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยปัจจุบันการแข่งขันรุนแรงมาก ไม่ใช่ยุครุ่งเรืองที่มีผู้ประกอบการครองตลาดเพียงไม่กี่ราย แต่เป็นเรื่องปกติที่สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นประเทศที่เจริญแล้วเคยเจอเมื่อ 20 ปีก่อน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าซัพพลายเออร์ในประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนราว 30% ต้องปิดตัวเองลงเพราะปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากยอดผลิตรถยนต์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่เติบโตและยังย้ายฐานออกมานอกประเทศ

ดังนั้นในที่สุดซัพพลายเออร์ไทยต้องเจอสถานการณ์นี้ ดังนั้นรูปแบบที่ TKT จะใช้รับมือเพื่อเอาชนะในการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นนี้และธุรกิจเติบโตอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว คือ คน และนวัตกรรม ส่งผลให้บริษัทเริ่มได้รับคำสั่งผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ในอดีตผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างประเทศไม่เคยปล่อยให้บริษัทไทยทำ

ด้านคนจะเน้นการให้ความรู้ส่งฝึกอบรม ฝึกงานทั้งในและต่างประเทศเน้นที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อเปิดมุมมองยกระดับความสามารถในกลุ่มวิศวกรและผู้จัดการขึ้นไปทำมาต่อเนื่องใน 3-4 ปีที่ผ่านมา ต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำเพราะถ้ายังทำแบบเดิมที่เคยทำในอนาคตธุรกิจจะอยู่ไม่ได้

ด้านนวัตกรรมในปี 2557 ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนางานวิจัยและพัฒนาก่อนที่จะได้ออร์เดอร์ จนสามารถผลิตชิ้นส่วนที่ยากขึ้นและมีคู่แข่งน้อยรายในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกความมันเงาสูงเพราะปัจจุบันโรงงานปัจจุบันในประเทศส่วนใหญ่ยังผลิตไม่ได้

นั่นคือ ทายาทรุ่นที่สอง ของเตชะไกรศรี ที่รับไม้ต่อจากรุ่นแรกที่ก่อตั้งไว้