posttoday

เก็งกำไรหุ้นปิดงบครึ่งปีแรก

26 มิถุนายน 2560

การเลือกลงทุนก็จะเลือกกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการลงทุนในโครงการพื้นฐานของภาครัฐและหุ้นที่มีอัตราการเติบโตที่ดี

โดย...ทีมข่าวหุ้น-ตลาดทุน โพสต์ทูเดย์

สถิติเดือน มิ.ย.ย้อนหลัง 5 ปี พบว่า เป็นเดือนที่นักลงทุนสถาบันจะซื้อสุทธิหุ้นไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากเดือน ธ.ค. และดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นไตรมาส โดยมีโอกาส 80% ในการปรับขึ้นและให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 1.4% สาเหตุหนึ่งเกิดจากการทำราคาช่วงปิดสิ้นงวดบัญชีครึ่งแรกของปี 2560 (Window Dressing) ของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวกลับมาหนุนตลาด

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส แนะนำลงทุนในหุ้นที่กองทุนนิยมซื้อสะสมในงวดไตรมาส 2 ปี 2560 ตามเวลาที่กำหนดเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คาดหวังสูงกว่า SET Index คือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)

จากสถิติย้อนหลัง 5 ปี พบว่า SET มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนสิ้นไตรมาส 2 โดยเฉพาะช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นไตรมาส มีโอกาสในการปรับขึ้นถึง 100% และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 1.4% การปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดจากหุ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขนาดใหญ่เป็นหลัก โดยสังเกตได้จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ดัชนี SET50 ปรับขึ้นเหนือตลาดกว่า SET และมีโอกาสถึง 80% ในการปรับขึ้นเช่นกัน แต่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 1.5% สาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดจากการทำ Window Dressing ของกลุ่มสถาบันในประเทศผ่านกองทุนรวม ซึ่งมักซื้อหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดี ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และอยู่ใน SET50 เป็นหลัก

ทั้งนี้ คาดนักลงทุนสถาบันกลับมาซื้อหุ้นในช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นเดือน มิ.ย.จากการศึกษาข้อมูลการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ย้อนหลัง 5 ปี พบว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศมักจะมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิในเดือน มิ.ย. 4 ใน 5 ปี โดยมียอดซื้อสะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 8,700 ล้านบาท และหากพิจารณาจากสัดส่วนการถือครองเงินสดของกองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่สุด 60 อันดับแรก ณ ข้อมูลล่าสุด (สิ้นเดือน เม.ย. 2560) พบว่า กองทุนเหลือเงินสดอยู่ 3.35% หรือราว 1.61 หมื่นล้านบาท และตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. 2560 จนถึงปัจจุบัน วันที่ 21 มิ.ย. 2560 สถาบันซื้อสุทธิหุ้นไทยราว 9,700 ล้านบาท

ดังนั้น สถาบันยังมีเงินสดเหลืออย่างน้อยราว 6,400 ล้านบาท ทำให้เชื่อว่า ในช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นไตรมาส 2 น่าจะมีแรงซื้อของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวกลับเข้ามาหนุนตลาดให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นซ้ำรอยอดีตอีกครั้ง หุ้นที่นิยมซื้อเข้ากองทุนเป็นหุ้นขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูง

บล.เอเซีย พลัส ได้พิจารณารายชื่อหุ้นในกองทุนประเภทตราสารทุนภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 60 อันดับแรก คิดเป็นมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิราว 86% ของกองทุนตราสารทุนภายในประเทศทั้งหมด 261 กองทุน โดยมีรายชื่อหุ้น 15 ลำดับแรกที่กองทุนนิยมถือมากที่สุด (โดยใช้ข้อมูลการถือครองหุ้นที่มีสัดส่วนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2560 มาคัดกรอง) ตามกราฟ

หากพิจารณาจากผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้น 15 ลำดับแรกที่กองทุนนิยมถือมากที่สุด ในช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นไตรมาส 2 (ใช้ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี) ปรับตัวขึ้น เกือบ 1.8% และมีหุ้นที่มักชนะอยู่ 8 บริษัท คือ BDMS ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 4.1% ตามมาด้วย ADVANC 3.7% AOT 3.4% BBL 2.8% CPALL 2.6% MINT 2.5% SCB 2.4% และ BJC 1.9% ขณะที่ SET ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 1.4%

ยิ่งยง นิลเสนา รองเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนของ กบข.ในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนก็จะเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนดคือลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง 60% และอีก 40% ลงตราสารทุนและการลงทุนทางเลือก

สำหรับการเลือกลงทุนก็จะเลือกกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการลงทุนในโครงการพื้นฐานของภาครัฐและหุ้นที่มีอัตราการเติบโตที่ดี รวมถึงการออกไปลงทุนต่างประเทศด้วย ซึ่งกฎหมายให้ลงทุนได้ 30% ที่ผ่านมาการลงทุนต่างประเทศจะอยู่ที่ 26% และลงทุนหุ้นไทยด้วยซึ่งครึ่งปีแรกก็ให้ผลตอบแทนที่ดีและชนะตลาด

อนุวัฒน์ ร่วมสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุนสายงานวาณิชธนกิจและตลาดทุน บล.ภัทร กล่าวว่า ภัทรมองว่าตลาดหุ้นครึ่งปีหลังก็จะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งทางฝ่ายวิจัยประเมินว่าปีนี้อัตราการเติบโตของกำไร บจ.จะอยู่ที่ประมาณ 7% ซึ่งในการวิเคราาะห์ข้อมูลนั้นได้นำหุ้นพลังงานออกมาจากการคำนวณ เพราะเป็นกลุ่มที่อิงกับราคาน้ำมันที่มีความผันผวนสูง