posttoday

ตลท.ห่วงตั้ง "CMDF"

13 มิถุนายน 2560

ตลท.หวั่น ก.ล.ต.ให้ตั้งเงินกองทุน CMDF ลดการพัฒนาตลาดทุนไทย เพราะส่งเงินสนับสนุนให้กองทุนเพียงฝ่ายเดียว

ตลท.หวั่น ก.ล.ต.ให้ตั้งเงินกองทุน CMDF ลดการพัฒนาตลาดทุนไทย เพราะส่งเงินสนับสนุนให้กองทุนเพียงฝ่ายเดียว

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นให้ตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ว่า ต้องกลับมาหารือกันเพราะในข้อกฎหมายมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เช่น ประกันภัย ตราสารหนี้

ทั้งนี้ ดูจากคณะกรรมการกองทุนเกี่ยวข้องไปถึงเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปลัดกระทรวงการคลัง โดยมีผู้จัดการกองทุนเป็นพนักงาน ตลท. และประธานกรรมการ ตลท.เป็นประธานกองทุน แต่การส่งรายได้ที่ต่อเนื่องที่คิดเป็น 90% ของกำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและภาษีทุกปีนี้มาจาก ตลท.ฝ่ายเดียว

นอกจากนั้น ข้อกำหนดบอกเพียงจำนวนเงินที่ต้องการจะนำไปพัฒนาว่า ต้องใส่เงินประเดิม ตลท.ไปตั้งกองทุนและส่งกำไรสุทธิตามเงื่อนไข แต่กฎหมายไม่ได้เขียนระบุไว้ชัดเจนว่าจะไปทำอะไรบ้าง และอยากให้ดูว่าจะสามารถทำให้ ตลท.สามารถยืนอยู่อย่างเข้มแข็งบนเวทีโลกได้หรือไม่

“เข้าใจว่าเรื่องที่เฮียริ่งมีวัตถุประสงค์ต้องการพัฒนาตลาดทุนแต่เงินที่จ่ายออกไปกว่า 90% ดูสมเหตุสมผลหรือไม่ ที่ผ่านมาจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนก็ไม่มีการหารือเรื่องนี้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีการแยกงาน CMDF และในส่วนของเงินที่ต่อเนื่องถือเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งได้ทราบข่าวตอนประกาศ” นางเกศรา กล่าว

อย่างไรก็ดี อยากให้ดูว่าที่ผ่านมา ตลท.เป็นองค์กรที่ไม่ได้ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งถ้าพิจารณาดูหน่วยงานหรือองค์กรรัฐบาลหลายแห่งยังต้องขอเงินจากรัฐบาลอยู่ ขณะที่ ตลท.ใช้เงินพัฒนาองค์กรและตลาดทุน หรือการพัฒนาระบบไอทีทุกๆ 5 ปี ก็เป็นการนำเงินส่วน 8,000 ล้านบาทมาใช้

ทั้งนี้ ปกติเงินก้อนนี้จะเป็นเงินกำไรสะสมและเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการเคลียริ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินที่มีข้อผูกพัน ทำให้ ตลท.มีการลงทุนพัฒนาขนาดใหญ่ได้ยาก

นางเกศรา กล่าวว่า ตลท.อยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทย่อยมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท รองรับระบบอี-เพย์เมนต์ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางและอำนวยความสะดวกในการชำระราคาหลักทรัพย์ ลดต้นทุนแก่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพราะปัจจุบัน บล.ต้องเปิดบัญชีธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเพื่อรับชำระราคาหุ้นจากนักลงทุน แต่เมื่อมีหน่วยงานกลางอาจเปิดแค่ 2-3 แห่งเท่านั้น

ดังนั้น หาก ตลท.เป็นตัวกลางช่วยเพิ่มความคล่องตัวมากขึ้นระหว่างสำนักงานหักบัญชี ตลท. ธนาคารพาณิชย์ และโบรกเกอร์ทำงานร่วมกันอย่างคล่องแคล่วมากขึ้น