posttoday

ก.ล.ต.ประเดิมใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งอดีตผู้จัดการกองทุน

22 พฤษภาคม 2560

ก.ล.ต. เริ่มใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งลงโทษกับอดีตผู้จัดการกองทุนรวมฐานอาศัยข้อมูลภายใน

ก.ล.ต. เริ่มใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งลงโทษกับอดีตผู้จัดการกองทุนรวมฐานอาศัยข้อมูลภายใน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต. ) แจ้งว่า การดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ที่แก้ไขใหม่ ในกรณี นายยิ่งอนันต์ วงศ์ศิริเดช ในความผิดฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ศาลาแอทสาทร (SSPF) ที่ซื้อหลักทรัพย์SSPF โดยอาศัยข้อมูลภายใน ได้แก่ ส่งคืนผลกำไรที่ได้รับจากการกระทำผิดจำนวน 1.38 ล้านบาท และชำระค่าปรับทางแพ่งจำนวน 1.73 ล้านบาท

นอกจากนี้ ก.ล.ต. สั่งห้ามมิให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนรวมหรือปฏิบัติงานของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งผู้สนับสนุน 2 ราย คือ นางสาวกีรรัตน์ วิภูสุพรรณ์ และนางสาวศรัญญา เข็มทอง ได้ชำระค่าปรับทางแพ่งแล้ว เป็นเงินรายละ 333,333.33 บาท

ก.ล.ต. ได้รับรายงานเหตุสงสัยจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ในช่วงต้นปี 2558 นายยิ่งอนันต์ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนรวม SSPF ได้รับการติดต่อจากผู้ที่สนใจจะซื้อที่ดินและอาคารศาลาแอทสาทรหรือการขอเช่าระยะยาว  ในราคาที่สูงกว่าราคาประเมินตามรายงานของผู้ประเมินอิสระอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากกองทุน SSPF ตกลงขายที่ดินและอาคารดังกล่าวให้กับผู้เสนอซื้อ และเลิกกองทุน ผู้ถือหน่วยจะได้รับเงินคืนเป็นจำนวนที่สูงกว่ามูลค่าทรัพย์สินต่อหน่วยลงทุน SSPF ดังนั้น ข้อเท็จจริงของการเสนอซื้อดังกล่าวจึงถือว่ามีสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ SSPF

กองทุน SSPF ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 25 มิถุนายน 2558 หลังจากผู้สนใจซื้อรายดังกล่าวมอบเงินมัดจำการเสนอขอซื้อที่ดินและอาคารศาลาแอทสาทร ซึ่งปรากฏว่า ในวันทำการรุ่งขึ้น (วันที่ 26 มิถุนายน 2558) การซื้อขายหลักทรัพย์ SSPF ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีปริมาณสูงถึง 1,417,700 หน่วย (เพิ่มขึ้นจากวันทำการก่อนหน้า 66 เท่า) โดยราคาปิดของหลักทรัพย์ SSPF ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกหลายเดือนจนราคาสูงถึงมากกว่า 9 บาท

นายยิ่งอนันต์ได้ใช้ประโยชน์จากการล่วงรู้ข้อมูลดังกล่าวโดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวศรัญญาซื้อหลักทรัพย์ SSPF รวมจำนวน 360,000 หน่วย ที่ราคา 5.25 - 5.30 บาท  ซึ่งเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบที่กำหนดโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมต้นสังกัด  ต่อมาเมื่อข้อมูลภายในดังกล่าวเปิดเผยต่อประชาชนและราคาหลักทรัพย์ SSPF ได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว นายยิ่งอนันต์ได้ทยอยขายหลักทรัพย์ SSPF ทั้งหมดที่ถืออยู่ในบัญชีนางสาวศรัญญา ที่ราคา 8.75 - 9.30 บาท 

นอกจากนายยิ่งอนันต์จะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากนางสาวศรัญญาที่ให้ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว นายยิ่งอนันต์ยังได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากนางสาวศรัญญา และนางสาวกีรรัตน์ ในการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อและขายหลักทรัพย์ที่เป็นความผิดด้วย

การกระทำของบุคคลทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีระวางโทษอาญาตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/1 มาตรา 317/4 และมาตรา 317/5 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559

ก.ล.ต. ได้เสนอผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ตามมาตรา 317/3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 แล้ว  ค.ม.พ. เห็นชอบการนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายข้างต้น และผู้กระทำผิดทั้ง 3 ราย ได้ทำบันทึกและปฏิบัติตามบันทึกยินยอมดังกล่าวครบถ้วนแล้ว โดยนายยิ่งอนันต์ส่งคืนผลกำไรที่ได้รับจากการกระทำผิดจำนวน 1,383,500 บาท และชำระค่าปรับทางแพ่งอีกจำนวน 1,729,375 บาท ขณะที่นางสาวกีรรัตน์ และนางสาวศรัญญา ชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงินรายละ 333,333.33 บาท

นอกจากการรับโทษตามมาตรการทางแพ่งแล้ว ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามประกาศคณะกรรมการตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2557 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนรวมของนายยิ่งอนันต์ และจะไม่รับพิจารณาคำขอเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนของนายยิ่งอนันต์จนกว่าจะพ้น 5 ปี

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นครั้งแรกในการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด หลังจากที่กฎหมายหลักทรัพย์ฉบับที่ 5 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2559 โดยมาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นช่องทางการบังคับใช้กฎหมายอีกช่องทางหนึ่งนอกจากการดำเนินการทางอาญา เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ค.ม.พ. ซึ่งประกอบด้วยอัยการสูงสุดเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นกรรมการ เป็นผู้พิจารณาว่าสมควรนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้หรือไม่ และการที่องค์ประกอบของ ค.ม.พ. ส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นอิสระจาก ก.ล.ต. จึงเชื่อมั่นได้ว่าการพิจารณาของ ค.ม.พ. เป็นไปด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม  ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดถือเป็นรายได้แผ่นดินที่ ก.ล.ต. จะนำส่งกระทรวงการคลังต่อไป

ประเภทความผิดที่สามารถดำเนินการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (ปั่นหุ้น ใช้ข้อมูลภายใน บอกกล่าวข้อมูลเท็จหรือคาดการณ์เท็จ) การแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดข้อความจริงในเอกสารที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด (fiduciary duty)การใช้หรือยอมให้ใช้บัญชีในการกระทำความผิดในกลุ่ม การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์

ส่วนมาตรการลงโทษทางแพ่งมี 5 ประเภท ได้แก่ (1) ค่าปรับทางแพ่ง (2) การชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับไปจากการกระทำความผิด (3) การห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนด สูงสุดไม่เกิน 5 ปี (4) ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนด สูงสุดไม่เกิน 10 ปี และ (5) การชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคืนให้กับ ก.ล.ต.