posttoday

รวยกระจุกหุ้นจอง

16 พฤษภาคม 2560

ปรากฏการณ์คนได้จองซื้อหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนเป็นครั้งแรกหรือไอพีโอ รวยอู้ฟู่ เกิดขึ้นปี 2556-ต้นปี 2559

โดย...ยินดี ฤตวิรุฬห์

ปรากฏการณ์คนได้จองซื้อหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) รวยอู้ฟู่ เกิดขึ้นปี 2556-ต้นปี 2559 ที่จะเห็นว่าหุ้นเข้าใหม่เกือบทุกตัวราคาหุ้นวันแรกที่เข้าซื้อขายทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพิ่มขึ้นจากราคาจอง หรือราคาที่เสนอขายไอพีโอเกิน 100% มีบางตัว 200%

ภาวะการแบบนั้นทำให้เกิดเศรษฐีหุ้นจองกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่

ผลการรวบรวมจากรายงานผลการเสนอขายหุ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า รายชื่อผู้ลงทุน 20 อันดับแรกที่ได้รับการจัดสรรหุ้นนั้นจะซ้ำกันทุกครั้งที่รายงาน ต่างกันตรงที่ในการขายหุ้นในครั้งนั้นมีบริษัทไหนเป็นที่ปรึกษาการเงินและรับประกันการจำหน่ายหุ้น

หากดูจำนวนบริษัทใหม่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เช่น ในปี 2556 มีบริษัทเข้ามาขายไอพีโอทั้งสิ้น 38 บริษัท ปี 2557 จำนวน 45 บริษัท ปี 2558 จำนวน 41 บริษัท และปี 2559 จำนวน 27 บริษัท หากหุ้นทุกที่เฉลี่ยแล้วราคาเพิ่มขึ้น การกระจุกตัวของคนซื้อหุ้นไอพีโอ อยู่ในมือคนไม่กี่กลุ่ม

พันธุ์วงศ์กล่อม-วชิรพงศ์ผูกขาด

ก.ล.ต.ได้รับรายงานผลการเสนอขายหุ้นไอพีโอของบริษัทจดทะเบียน 4 แห่ง คือ บริษัท สยามราช (SR) ที่ได้เสนอขายไอพีโอรวมทั้งสิ้น 150 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 3.50 บาท ซึ่งจะได้รับเงินจากการระดมทุน 525 ล้านบาท บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว (LPH) ซึ่งเสนอขายหุ้นจำนวน 200 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 5 บาท จะได้รับเงินจากการระดมทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท

บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ (RP) ขายหุ้นไอพีโอจำนวน 38 ล้านหุ้น ขายที่ราคาหุ้นละ 12 บาท ได้เงินจากการระดมทุน 456 ล้านบาท และบริษัท ธนพิริยะ (TNP) ขายหุ้นไอพีโอ 200 ล้านหุ้น ที่ราคา 1.75 บาท ซึ่งจะได้รับเงินจากระดมทุน 350 ล้านบาท

ผู้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นสูงสุดใน 20 อันดับแรกที่จะต้องรายงานนั้น ยังคงเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่กลุ่มเดิมที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไอพีโออย่างต่อเนื่อง แต่เปลี่ยนจากบุคคลเดียวมาเป็นกลุ่มคนนามสกุลเดียวกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตระกูลพันธุ์วงศ์กล่อมและวชิรพงศ์ที่เข้ามาลงทุนในหุ้นไอพีโอ เช่น ในหุ้น SR ซึ่งมีบริษัทหลักทรัพย์อาร์บีเอช (ประเทศไทย) หรือ RBH เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดจำหน่วยหลักทรัพย์จะพบว่าตระกูลพันธุ์วงศ์กล่อมได้รับการจัดสรรหุ้นมากที่สุด

ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม ได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวน 4 ล้านหุ้น มีมูลค่า 14 ล้านบาท วราภรณ์ พันธุ์วงศ์กล่อม ได้จำนวน 3 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 10.50 ล้านบาท และยืนยง พันธุ์วงศ์กล่อม ได้รับ 3 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 10.50 ล้านบาท รวม 3 คนในตระกูลพันธุ์วงศ์กล่อม ได้รับการจัดสรรหุ้น SR ทั้งสิ้น 10 ล้านหุ้น มีมูลค่าลงทุนรวม 35 ล้านบาท

วันแรกที่หุ้น SR เข้าซื้อขายใน mai วันที่ 11 พ.ย. 2558 ราคาเปิดที่ 5 บาท ถ้าหากนักลงทุนกลุ่มนี้ขายหุ้นในราคาเปิดก็จะได้รับเงินจากการลงทุนทั้งหมด 50 ล้านบาท เท่ากับว่าจะได้รับกำไรจากการลงทุนในหุ้นไอพีโอ 15 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในหุ้น SR จะพบว่านักลงทุนรายใหญ่ที่ห่างหายไปจากไอพีโอก่อนหน้าได้กลับเข้ามาลงทุน คือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซื้อหุ้นจำนวน 0.8 ล้านหุ้น คิดเป็นเงินลงทุน 2.80 ล้านบาท ขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ วันที่ 30 พ.ย. 2558 พบว่า ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ลูกสาวของ พล.ต.อ.สมยศ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 10 จำนวน 7.25 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.21%

นอกจากนี้ ตระกูลพันธุ์วงศ์กล่อมยังเป็นกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไอพีโอของ TNP ซึ่งมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อาร์บีเอช (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ด้วย โดย ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม ได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวน 15 ล้านหุ้น เป็นเงิน 26.25 ล้านบาท วราภรณ์ พันธุ์วงศ์กล่อม ได้รับจำนวน 10 ล้านหุ้น เป็นเงิน 17.50 ล้านบาท ยืนยง พันธุ์วงศ์กล่อม ได้รับ 5 ล้านหุ้น เป็นเงิน 8.75 ล้านบาท รวมทั้ง 3 คน ได้รับการจัดสรรหุ้นรวมทั้งสิ้น 30 ล้านหุ้น เป็นเงินรวม 52.5 ล้านบาท ซึ่งในวันแรกหุ้น TNP เข้าซื้อขายใน mai เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2558 ราคาหุ้นเปิดที่ 1.81 บาท ซึ่งหากกลุ่มนี้ขายหุ้นออกที่ราคาเปิดจะได้รับเงิน 54 ล้านบาท หรือได้รับกำไรจากเงินลงทุน 1.8 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมกำไรจากการลงทุนหุ้นไอพีโอทั้งสองบริษัทของตระกูลพันธุ์วงศ์กล่อม ก็จะได้รับกำไรจากการลงทุนหุ้นไอพีโอรวม 16.8 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีตระกูลวชิรพงศ์เข้ามาลงทุนในหุ้นไอพีโอ โดยซื้อหุ้นไอพีโอ LPH มี บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI เป็นที่ปรึกษาการเงินและผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ วิชัย วชิรพงศ์ ได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวน 5 ล้านหุ้น เป็นเงิน 25 ล้านบาท จักรพันธุ์ วชิรพงศ์ ได้รับ 5 ล้านหุ้น เป็นเงิน 25 ล้านบาท กชกร วชิรพงศ์ ได้รับจัดสรรหุ้นจำนวน 5 ล้านหุ้น เป็นเงิน 25 ล้านบาท และสุทธิพันธ์ วชิรพงศ์ ได้รับ 5 ล้านหุ้น เป็นเงิน 25 ล้านบาท รวมทั้งตระกูลวชิรพงศ์ซื้อหุ้น LPH รวม 25 ล้านหุ้น เป็นเงินรวม 125 ล้านบาท วันแรกที่เข้าซื้อขายใน SET วันที่ 28 ต.ค. 2558 ถ้ากลุ่มนี้ขายที่ราคาเปิดที่ 7 บาท ก็จะได้รับเงินทั้งสิ้น 175 ล้านบาท หรือจะได้รับกำไร 50 ล้านบาท

เศรษฐี แชมป์จองไอพีโอ

รายงานข่าวจาก ก.ล.ต.แจ้งว่า บริษัท 6 แห่ง ได้เสนอขายไอพีโอในช่วงไตรมาส 3 ประกอบด้วย บริษัท บางกอกแร้นช์ (BR) บริษัท ไดอิ กรุ๊ป (DAII) บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) บริษัท อาซีฟา (ASEFA) บริษัท คอมเซเว่น (COM7) และบริษัท ไพโอเนียร์มอเตอร์ (PIMO)

หุ้น BR ขายไอพีโอ 360.40 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 8.80 บาท มี บล.บัวหลวง เป็นแกนนำการจัดจำหน่ายพบว่า ทนง พิทยะ ได้รับการจัดสรรมากสุด 6 ล้านหุ้น หรือ 1.66% รองมาคือ นิภา ขจรเกียรติพาณิช ได้ 3 ล้านหุ้น หรือ 0.83%

สำหรับหุ้น DAII ขาย 30 ล้านหุ้น ราคา 4 บาท มี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง เป็นแกนนำการจำหน่าย สิปปกร ขาวสอาด ได้สูงสุด 1 ล้านหุ้น หรือ 3.33% รองลงมาคือ ปัถยา สิทธิพงศ์สาร ได้ 9.75 แสนหุ้น หรือ 3.25% และวารุณี ชลคดีดำรงกุล ได้ 2 แสนหุ้น หรือ 0.67 หุ้น ส่วน WICE ขาย 150 ล้านหุ้น ราคา 2.10 บาท โดยมี บล.ฟิลลิป เป็นแกนนำการจำหน่ายเกษร วงศ์ไวโรจน์ ได้ 2.68 ล้านหุ้น หรือ 1.79%

ด้านบริษัท ASEFA ขาย 150 ล้านหุ้น ราคา 3.70 บาท มี บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นแกนนำสันติ เชาวนันทกุล ได้มากที่สุด 1 ล้านหุ้น และหุ้น COM7 ขาย 300 ล้านหุ้น ราคา 3.35 บาท โดยมี บล.เอเซีย พลัส เป็นแกนนำ สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล ได้มากที่สุด 6.40 ล้านหุ้น หรือ 2.14% และโสภิศ และวรวิทย์ แก้วสว่าง ได้ 7.03 ล้านหุ้น หรือ 2.35% และ PIMO สุจินต์ หวั่งหลี ได้ 4 แสนหุ้น

กลต.ออกเกณฑ์คุม

หุ้นไอพีโอระยะหลังไม่ร้อนแรงเพราะ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นในรอบที่ 2 ก่อนจะประกาศเกณฑ์ใหม่ออกมาใช้ หลังจากพบว่าในการจัดสรรหุ้นไอพีโอมีการกระจุกตัวโดยเฉพาะในส่วนของการจัดสรรให้กับผู้มีอุปการคุณ ซึ่งได้มีการกำหนดนิยามที่ชัดเจนของคำว่าผู้มีอุปการคุณ

สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ปรับปรุงเกณฑ์การจัดสรรไอพีโอ ส่วนที่ให้กับผู้มีอุปการคุณและบุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (RP) เพื่อไม่ให้กระจุกตัวในกลุ่มบุคคลใดมากเกินไปจนทำให้ควบคุมปริมาณหุ้นไอพีโอได้ง่ายนำไปสู่การสร้างราคาหุ้น รวมถึงการกระจายให้กับผู้ลงทุนทั่วไปเพียงพอ คาดว่าจะใช้กับบริษัทที่จะยื่นขอตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2560

“พบว่า การซื้อขายหุ้นไอพีโอในหลายกรณีร้อนแรงราคาซื้อขายช่วงแรกสูงกว่าราคาไอพีโอมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่หุ้นที่จัดสรรในช่วงไอพีโอกระจุกตัวในกลุ่ม RP 40-50% ของจำนวนหุ้นที่ขาย ทำให้มีการควบคุมปริมาณหุ้นจนนำไปสู่การสร้างราคาหุ้นได้ง่าย และพบว่ามีรายชื่อผู้มีอุปการคุณซ้ำกันในการทำไอพีโอของบริษัทที่ต่างอุตสาหกรรม ซึ่งการรายงานผลการขายก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นผู้มีอุปการคุณของบริษัทที่แท้จริง”ก.ล.ต. ระบุ

สำหรับการปรับปรุงนิยามของผู้มีอุปการคุณต้องเป็นบุคคลที่สร้างประโยชน์อย่างต่อเนื่องหรือชัดเจนให้กับบริษัท กำหนดสัดส่วนไม่เกิน 15% เมื่อรวมกับส่วนที่จัดสรรให้ RP และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อยแล้วไม่เกิน 25% ของหุ้นไอพีโอทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทมีหน้าที่จัดทำรายชื่อผู้มีอุปการคุณตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ และนำส่งรายชื่อและระบุลักษณะการมีอุปการคุณต่อสำนักงานพร้อมกับรายงานผลการขาย และบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่จำจัดหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (อันเดอไรเตอร์) จะต้องไม่มีส่วนกำหนดรายชื่อผู้มีอุปการคุณ และให้รายงานผลการขายใน 30 วัน จากเฮียริ่งขยายจากรอบแรกที่ 10 วัน