posttoday

พิษเบี้ยวหนี้ กด "ไฮยิลด์บอนด์" วูบ4แสนล้าน

20 เมษายน 2560

ไตรมาสแรกกลุ่มไฮยิลด์บอนด์ทั้งในและต่างประเทศ เอ็นเอวี ลดลงอย่างน่าใจหาย

โดย...พูลศรี เจริญ

ความกังวลของนักลงทุนทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมกองทุนรวม บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยไตรมาสแรกปี 2560 มีเงินไหลเข้ากองทุนรวมสุทธิเพียง 4.26 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 72.53% แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมก็ยังโตอยู่ที่ 2.06% นับจากสิ้นปี 2559 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) อยู่ที่ 4.74 ล้านล้านบาท

“อุตสาหกรรมกองทุนรวมไตรมาสแรกซบเซา ส่วนหนึ่งเพราะความกังวลต่อเนื่องของนักลงทุนจากการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือไฮยิลด์บอนด์” กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุนอาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) สะท้อนให้ฟังถึงผลลบของการผิดนัดชำระหนี้ไฮยิลด์บอนด์ 

นอกจากนี้ สถานการณ์หุ้นไทยที่ผันผวน ปัจจัยภายนอกทั้งเรื่องธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย การเลือกตั้งของหลายประเทศใหญ่ในยุโรป และล่าสุดความกังวลสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนรวมทั้งย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ผันผวนต่ำต่อเนื่อง

กิตติคุณ กล่าวว่า ประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยที่กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ แบบกำหนดระยะเวลา หรือเทอมฟันด์ และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เป็นผลมาจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของไฮยิลด์บอนด์ ที่ยังมีต่อเนื่อง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ตัดสินใจไม่ลงทุนต่อในตราสารหนี้กลุ่มดังกล่าวแล้วหันมาลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูงขึ้นและมีระยะเวลาสั้นลงแทน

“ไตรมาสแรกกลุ่มไฮยิลด์บอนด์ทั้งในและต่างประเทศ เอ็นเอวี ลดลงอย่างน่าใจหายเหลือรวมกันแค่ประมาณ 1.26 แสนล้านบาท จากที่เคยสูงสุดถึงกว่า 5.2 แสนบาท เมื่อกลางปี 2558 หรือหายไปเฉียด 4 แสนล้านบาท”

กิตติคุณ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบไปถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ.หลายราย ที่เน้นการออกกองทุนไฮยิลด์บอนด์เป็นพิเศษ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากโดยที่บางบลจ.ยอดเงินภายใต้การบริหารลดลงไปกว่า 80%

โดยหากมองไปยัง 5 อันดับกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดในไตรมาสแรกนี้ จะสังเกตได้ว่าทั้งหมดเป็นกลุ่มกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนยังกังวลต่อสถานการณ์การลงทุนอยู่มาก

ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์เปิดเผยถึงการลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศไม่รวมเทอมฟันด์ ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกมีกองทุนเปิดใหม่ 19 กองทุนเอ็นเอวีโตจากปลายปีที่แล้ว 15.16% และมีเงินไหลเข้าสุทธิทั้งกลุ่มกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มนี้มีเอ็นเอวีรวม 4.6 แสนล้านบาท

เม็ดเงินไหลเข้าสุทธิในกลุ่มกองทุนต่างประเทศ ไม่รวมเทอมฟันด์ ยังคงไหลไปที่ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม Global Bond และกลุ่ม Global Allocation ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท และ 2.5 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่นักลงทุนบางส่วนก็ใช้โอกาสปรับพอร์ตทำกำไรและลดความเสี่ยงลงจากกลุ่มหุ้นต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมเฮลท์แคร์ หุ้นยุโรป หุ้นจีน หุ้นญี่ปุ่น และหุ้นเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) 

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เงียบไปกว่า 2 ปี โดยไตรมาสแรกปีนี้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท (สูงสุดในรอบ 2 ปี) แบ่งเป็นเข้ากองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ 5,756 ล้านบาท และกองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก 4,935 ล้านบาท

ปิดท้ายที่การตั้งข้อสังเกตของมอร์นิ่งสตาร์ต่อการลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมเทอมฟันด์) ส่วนใหญ่กว่า 82% ของเอ็นเอวี 3.7 แสนล้านบาทนั้น บลจ.บ้านเราจะนำเงินไปลงทุนต่อในกองทุนต่างประเทศ นั่นก็คือมีการทุนผ่านกองทุนหลัก (Master Fund) เพียงกองเดียว และพบว่าไตรมาสแรกกองทุนไทยได้มีการติดต่อลงทุนผ่าน บลจ.ชั้นนำของโลกกว่า 40 บริษัท โดย บลจ.ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ PIMCO, JP Morgan, Deutsche, State Street และ BlackRock เป็นต้น