posttoday

JMT-SAWAD หุ้นเด่นลีสซิ่ง

22 มีนาคม 2560

ภาพรวมอุตสาหกรรมแฟกเตอริ่งในปี 2560 ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

โดย...อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส

ภาพรวมอุตสาหกรรมแฟกเตอริ่งในปี 2560 ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่กลับพบว่าสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารส่งสัญญาณกลับมารุกตลาดสินเชื่อแฟกเตอริ่งมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ชะลอตัวไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะเกรงปัญหาคุณภาพหนี้สอดคล้องกับภาพรวมนโยบายหลักของธนาคารในปี 2560 ที่มุ่งเน้นตอบสนองนโยบายของภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของสินเชื่อแฟกเตอริ่งในปัจจุบัน

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส พบว่าผู้ประกอบการกลุ่มแฟกเตอริ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นธนาคาร หรือมีธนาคารเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งยังไม่มีบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 2) กลุ่มผู้ประกอบการแฟกเตอริ่งที่มีผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) เน้นการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้จัดจำหน่ายในธุรกิจค้าปลีกของตนเอง ไม่ได้กระจายไปสู่ธุรกิจนอกกลุ่มมากนัก

3) กลุ่มผู้ประกอบการแฟกเตอริ่งทั่วไป ได้แก่ บริษัท ไอเอฟเอสแคปปิตอล (ประเทศไทย) หรือ IFS และบริษัท ลีซ อิท (LIT) ซึ่งมีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน โดย IFS เน้นรับซื้อลูกหนี้การค้าของภาคเอกชนทั่วไป ส่วน LIT เน้นรับซื้อลูกหนี้การค้าที่เกี่ยวข้องกับการประมูลงานจากภาครัฐ

ดังนั้น แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจสินเชื่อแฟกเตอริ่งเชื่อว่า LIT เป็นผู้ประกอบการที่ลอยตัวสุด เนื่องจากมีฐานลูกค้าชัดเจน ขณะที่ IFS ที่เน้นฐานลูกค้าภาคเอกชนโดยตรง ยังคงนโยบายการทำธุรกิจที่ระมัดระวังมาก จึงต้องเร่งปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบที่เข้มข้นขึ้นจากนี้

ฝ่ายวิจัยเลือก บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) มูลค่าที่เหมาะสม 20 บาท และ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD) มูลค่าที่เหมาะสม 57 บาท ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2560 จากศักยภาพการเติบโตของธุรกิจและผลการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าที่เป็นไปในเชิงรุกเหนือกลุ่มJMT สดใส

เป้าหมายปี 2560 JMT รับซื้อหนี้ต่อเนื่องในเชิงรุกถึง 3 หมื่นล้านบาท โดยความได้เปรียบจากการที่บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อทุนที่จะลดลงต่ำกว่า 1เท่า ณ สิ้นปี 2559 ภายหลังจากการลดสัดส่วนเงินลงทุนใน บริษัท เจ ฟินเทคฯ ทำให้มีกำลังพร้อมในการซื้อหนี้เข้ามาบริหารได้อีกมาก ดังนั้น จึงแนะนำซื้อกำหนดมูลค่าที่เหมาะสม ปี 2560 เท่ากับ 30 บาท

SAWAD ระมัดระวังธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ ภายใต้เป้าหมายสินเชื่อสุทธิที่ SAWAD กำหนดอย่างระมัดระวังที่ 20-25% ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่จะสูงกว่านี้ ภายหลังจากการเข้าลงทุนในบริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร (BFIT) เพื่อเป็นทางออกสำหรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การทำธุรกิจของทางการ โดยเฉพาะการเข้าควบคุมการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อของผู้ประกอบการ Non-Bank ที่ไม่ได้อยู่ในข่ายกฎหมายใดที่ควบคุมอยู่แล้ว ปี 2560 จะเริ่มเห็นผลบวกจากกำไรของธุรกิจต่อยอดเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจบริหารหนี้ตามปริมาณหนี้รับซื้อเพิ่มเติมเฉลี่ย 2,000 ล้านบาท/ปี เน้นการรับซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเช่นเดิม รวมถึงการเข้าไปลงทุนในเมียนมาเพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อขั้นต้น ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรกลการเกษตร และรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตและการทำกำไรที่สูงมาก เนื่องจากคู่แข่งน้อยและหลักเกณฑ์การทำธุรกิจโดยทางการยังไม่เข้มงวด โดยคาดปี 2560 การเติบโตของสินเชื่อในเมียนมาจะเป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น