posttoday

ซีแอลเอ็มวี ขุมทรัพย์บจ.ไทย

14 มีนาคม 2560

การออกไปลงทุนตรงในต่างประเทศและมีรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

โดย....บงกชรัตน์ สร้อยทอง / ประลองยุทธ ผงงอย

การออกไปลงทุนตรงในต่างประเทศและมีรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ณ สิ้นปี 2558 บจ.ไทย 192 บริษัท หรือ 37% จากทั้งหมด 517 บริษัทออกไปลงทุนต่างประเทศ และ 79% ลงทุนในอาเซียน 59% ลงทุนในซีแอลเอ็มวี ส่วนปี 2559 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล จะแล้วเสร็จในอีก 1 เดือนข้างหน้า

ผลของการออกไปลงทุนทำให้ ตลท.มีแนวคิดจะทำดัชนีซีแอลเอ็มวี โดยการคำนวณตัวเลขการออกไปลงทุนและรายได้ของ บจ.ไทยมาคำนวณดัชนี

“เกศรา มัญชุศรี” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีแผนที่จะออกดัชนีซีแอลเอ็มวีในครึ่งแรกปีนี้ โดยนำตัวเลขการออกไปลงทุนและรายได้ของ บจ.ไทยที่ออกไปมาคำนวณ จากเดิมที่จะนำหุ้นของแต่ละประเทศในกลุ่มนี้มารวมกัน ขณะนี้ต้องรอเก็บตัวเลขในแบบรายงาน 56-1 ที่จะรายงานหลังจากประกาศผลดำเนินงานปี 2559 เสร็จสิ้นแล้ว

“ภากร ปีตธวัชชัย” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรตลท. กล่าวว่า มี บจ. 200 แห่ง พบว่า 46% มีรายได้จากการออกไปลงทุนต่างประเทศและซีแอลเอ็มวีมีเศรษฐกิจที่เติบโตดี จึงเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ สนับสนุนให้ทั้ง บจ. และผู้ลงทุนอย่างสถาบันต่างๆ ออกไปหาโอกาส

“ประพันธ์ เจริญประวัติ” ผู้ช่วยผู้จัดการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กล่าวว่า จากข้อมูลของปี 2558 มี บจ.mai ไปลงทุนในอาเซียนทั้งหมด 22 แห่ง และลงทุนในซีแอลเอ็มวีทั้งหมด 15 แห่ง เหตุผลที่ออกไปลงทุนเนื่องจากเพิ่งเปิดประเทศและเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตสูง มีความต้องการใช้สินค้าและบริการมาก สินค้าแบรนด์เนมจากประเทศไทยไม่แพง มีความคุ้นเคยใกล้ชิดกันมานาน และต้นทุนไม่สูงนัก จึงเป็นโอกาสให้ออกไป

ทั้งนี้ 5-6 ปีที่ผ่านมา บจ.เข้าระดมทุนใน mai นอกจากต้องการเงินทุนแล้วยังต้องการขยายตลาดเพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืน หากมีเงินพอขยายการลงทุนไปต่างประเทศ หรือเรียกว่าได้ใช้ตลาดทุนเป็นแพลตฟอร์มในการก้าวไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นและซีแอลเอ็มวีมีเศรษฐกิจที่โต บจ.ไทยจึงไม่ควรมองข้าม

“ผู้บริหาร บจ. mai มีการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมองระหว่างกันของผู้บริหารจะช่วยลดต้นทุนและลดโอกาสของความผิดพลาด ซึ่งสิ่งที่พบว่าเป็นข้อจำกัดของ บจ. ที่เข้าไปลงทุนในซีแอลเอ็มวีคือ ‘การได้พันธมิตรที่ดี’ แต่ใช่จะประสบความสำเร็จทันที มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ การช่วยเหลือกันเป็นเรื่องที่ดี”

สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู (BANPU) ให้สัมภาษณ์กับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า ซีแอลเอ็มวีเป็นประเทศเป้าหมายที่กลุ่มบ้านปูจะเข้าไปลงทุน ปัจจุบันอยู่ในช่วงศึกษาหาโอกาสทางธุรกิจ ทั้ง กัมพูชา เมียนมา จากที่ฐานธุรกิจมีอยู่แล้วในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) คือธุรกิจโรงไฟฟ้าหงสาผ่านบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) และหาโอกาสการขยายโรงไฟฟ้าใหม่ในลาวเพิ่มด้วย และมีแผนส่งถ่านหินไปขายในซีแอลเอ็มวีด้วย ส่วนนอกซีแอลเอ็มวี คือ จีน ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มองโกเลีย เป็นฐานธุรกิจของบริษัทอยู่แล้ว

สำหรับในเมียนมาสนใจลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะอนาคตจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น รวมถึงในเวียดนาม ก่อนหน้าได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับรัฐบาลท้องถิ่นเวียดนามเพื่อศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,300 เมกะวัตต์ ในตอนกลางของเวียดนาม เบื้องต้นจะถือหุ้น 50% ร่วมกับพันธมิตรเวียดนาม และอาจมีพันธมิตรระดับสากลร่วมถือหุ้นด้วย

สุดท้ายแล้ว การออกไปทำธุรกิจในซีแอลเอ็มวีคงต้องดูแผนพัฒนาหรือกลยุทธ์ของประเทศนั้นๆ เป็นหลัก เพื่อให้การทำแผนธุรกิจให้รองรับ เช่น สปป.ลาว วางนโยบายเป็นแบตเตอรี่ของภูมิภาคเอเชีย และไทยถือเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่จากลาว จึงเป็นโอกาสที่บ้านปูจะไปทำธุรกิจไฟฟ้าใน สปป.ลาว