posttoday

เทียบฟอร์มหุ้นร้านอาหาร เอ็มเค-ไมเนอร์-อาฟเตอร์ยู

26 กุมภาพันธ์ 2560

ธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นเพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น

โดย...พูลศรี เจริญ

ผู้จัดการกองทุนหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี มีมุมมองต่อธุรกิจร้านอาหารว่า โดยรวมยังเติบโตได้ แต่การแข่งขันสูงมาก เพราะใครจะเข้ามาเปิดร้านอาหารก็เปิดได้ นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการต้องบริหารต้นทุนให้ดี ยกเว้นบริษัทขนาดใหญ่ที่จะมีอำนาจต่อรองในการซื้อวัตถุดิบ

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรจะปรับตัวสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ ข้อมูลจากพิมโก้ระบุว่า เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น เช่นเดียวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับขึ้นด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าทำธุรกิจร้านอาหารไม่ง่าย

ธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นเพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ขนาดครอบครัวเล็กลง คนนิยมอยู่คอนโดมิเนียมกันมากขึ้น คนโสดมีมากขึ้น ขณะที่การรับประทานอาหารนอกบ้านได้รับความสะดวกและร้านอาหารนอกบ้านมีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ร้านอาหารข้างถนนจนถึงภัตตาคารหรู

“ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันสูง พนักงานก็หายาก มีคนเข้าออกบ่อยดังนั้นถือเป็นความท้าทายของธุรกิจดังกล่าว โดยเฉพาะความท้าทายเรื่องคน”ผู้จัดการกองทุนหุ้นจาก บลจ.กรุงศรี กล่าว

บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เออีซี มีมุมมองต่อบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) ว่าปี 2560 ยังเห็นกําไรโตต่อหลังคงแผนขยายสาขาและเพิ่มแผนตลาดใหม่ๆ ปี 2560 คาดการณ์จะมีกําไรสุทธิ 2,231 ล้านบาท โต 6.2% จากปี 2559 ด้วยปัจจัยหนุนจากยอดขายรวมที่คาดยังโตราว 5% จากปีก่อน โดยมี 2 ปัจจัยหนุน

ปัจจัยแรก ยอดขายสาขาเดิมคาดว่าเติบโต 2-3% จากปีก่อน หลังประเมินกําลังซื้อปีนี้จะดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศที่ฟื้นตัว รวมทั้งการมีแผนตลาดใหม่ๆ เช่น เพิ่มเมนูอาหารใหม่ ใช้ระบบเทคโนโลยีใหม่ (โมบาย แอพพลิเคชั่น) เพื่ออํานวยความสะดวกในการจองและรับทราบข้อมูลโปรโมชั่น

ปัจจัยที่สอง การรับรู้ยอดขายสาขาใหม่ที่เปิดต่อเนื่อง โดยปีนี้ M มีแผนเปิดสาขาใหม่อย่าง MK, Yayoi และมิยาซากิอีกราว 15, 20 และ 5 แห่ง ตามลําดับ

แม้ M ยังมีศักยภาพเติบโตจากมีแบรนด์อาหารที่แข็งแกร่งและมีฐานะการเงินที่ดี โดยไตรมาส 3/2559 มีฐานะเงินสดราว 8,800 ล้านบาท และไม่มีหนี้ที่มีดอกเบี้ยจ่ายเลย แต่ในมุมมองของ บล.เออีซี เห็นว่าราคาหุ้นปัจจุบันมีอัพไซด์เหลือ 4.9% เมื่อเทียบจากมูลค่าพื้นฐานปี 2560 ที่ 59 บาท อิงอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นหรือพี/อี เรโช 24 เท่า จึงปรับลดคําแนะนําเป็นถือเพื่อรับปันผล และรอประเด็นใหม่ๆ โดยคาดว่าให้เงินปันผลจากกําไรครึ่งปีหลังของปี 2559 ที่หุ้นละ 1.15 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 2%

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) วิเคราะห์ธุรกิจอาหาร ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ว่า การบริโภคในประเทศไทยน่าจะฟื้นตัวต่ำในปี 2560 ส่วนในออสเตรเลียการเติบโตยังคงที่ ขณะที่แนวโน้มธุรกิจในสิงคโปร์ยังคงมืดมัวจากการแข่งขันที่สูง รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่ยังน่ากังวล เชื่อว่าธุรกิจอาหารในไทยและออสเตรเลียจะชดเชยการอ่อนตัวในสิงคโปร์ โดยรวมยอดขายต่อสาขาจะเพิ่มขึ้น 2% ส่วนจํานวนร้านอาหารจะเพิ่มขึ้น 8% ในปีนี้

MINT ยังคงตั้งแผนรองรับการเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้า ด้วยเงินลงทุน 4 หมื่นล้านบาท หนึ่งในนั้นจะทุ่มงบไปกับการเปิดร้านอาหารจํานวน 3,400 ร้าน หรือเพิ่มขึ้น 70% จากปี 2559 

บริษัท อาฟเตอร์ ยู (AU) หุ้นน้องใหม่ป้ายแดง บทวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่าผู้ก่อตั้งมีความสามารถในการพัฒนาสูตรขนมหวาน และมีระบบการจัดการห่วงโซ่ที่มีประสิทธิภาพ การระดมทุนไอพีโอ ช่วยให้ AU มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว

ธุรกิจของ AU มีอัตราการทำกำไรและให้ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (อาร์โออี) อยู่ในระดับสูงมาก ทำให้มีการคืนทุนอย่างรวดเร็ว โดยงวด 9 เดือนปี 2559 มีอัตราการทำกำไรขั้นต้นหรือมาร์จิ้นที่ 63% และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 17% จากจุดเด่นด้านรสชาติ ความคิดสร้างสรรค์และการให้บริการ ซึ่งแม้จะตั้งราคาสินค้าสูงแต่ลูกค้ายินดีจ่าย

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ คาดว่าอัตรากำไร (มาร์จิ้น) และอัตราการทำกำไรสุทธิของ AU มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการประหยัดต่อขนาด จากจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม ขณะที่อาร์โออีก็สูงถึง 41-75% (ปี 2556-2558) คาดว่าหลังไอพีโอจะรักษาระดับอาร์โออีมากกว่า 25% ได้ต่อเนื่อง

การระดมทุนไอพีโอ ทำให้ AU ได้เงินทั้งสิ้น 742.5 ล้านบาท สำหรับนำไปขยายสาขา ชำระคืนเงินกู้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน จะทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลงและมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โอกาสการเติบโตในอนาคต ยังสามารถขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ได้อีกมากเมื่อเทียบกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น เอ็มเคสุกี้ พิซซ่า คอมปะนี สเวนเซ่นส์ เป็นต้น นอกจากนี้ด้วยแบรนด์ของ AU ทำให้มีโอกาสเติบโตในธุรกิจรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) หรือจัดเลี้ยงอีกด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรที่สูงกว่าการขายหน้าร้าน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของ AU บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้น้ำหนัก 3 เรื่อง เรื่องแรก การพึ่งพาสูตรเมนูจากความชอบส่วนตัวของผู้บริหาร แม้ว่าจะเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงรสนิยมของลูกค้าสม่ำเสมอ แต่กระแสความนิยมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก หากไม่สามารถคิดสูตรเมนูที่ได้รับความนิยม ย่อมมีผลต่อยอดขายและกำไรในอนาคต

เรื่องที่สอง การกระจุกตัวของสาขาก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากสาขาทั้งหมดของ AU อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง อุทกภัย เป็นต้น อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ และเรื่องที่สาม การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค กระแสรักสุขภาพอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจริญเติบโตของบริษัทได้