posttoday

ธุรกิจร้านอาหาร ระดมทุนเร่งโต

20 กุมภาพันธ์ 2560

5 ปีที่ผ่านมามีบริษัทในอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่มเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากถึง 9 แห่ง

โดย...ยินดี ฤตวิรุฬห์ / บงกชรัตน์ สร้อยทอง

หัวใจในการประสบความสำเร็จของธุรกิจร้านอาหารที่พาเหรดเข้าตลาดหุ้นมาภายใต้ผลกำไรดี นอกจากมีเมนูที่ลูกค้านิยมแล้ว ยังต้องบริหารต้นทุนให้ดีด้วย

ดังนั้น ระยะหลังจะเห็นบริษัทหรือธุรกิจนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพิ่มมากขึ้น เพราะเห็นแล้วว่าการมีเงินทุนที่เพียงพอ มีต้นทุนการเงินที่ถูก เมื่อเปรียบเทียบกับการกู้เงินจากสถาบันการเงิน จะเป็นโอกาสอย่างมากทำให้กิจการและธุรกิจเติบโตดี และในปีนี้ในแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเห็นว่าล่าสุดบริษัท มัดแมน (MM) บริษัทในเครือของทรัพย์ศรีไทย (SST) ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าปลีกผู้ถือกรรมสิทธิ์แฟรนไชส์ “โอ บอง แปง” “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” “ดังกิ้นโดนัท” และ “เกรฮาวด์” ยื่นไฟลิ่งขอเสนอขายต่อประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) เข้าตลาด mai จำนวน 210 ล้านหุ้น

MM จะฮอตฮิตอย่างบริษัท “อาฟเตอร์ ยู” (AU) ธุรกิจขนมหวาน ที่ได้เสนอขายหุ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาด mai เมื่อปลายปี 2559 ได้สร้างโอกาสที่ดีอย่างมาก

“การเข้าระดมทุนในตลาด mai ตอบโจทย์ของบริษัทได้ดีมากในการทำธุรกิจ เพราะทำให้บริษัทสามารถมองไปข้างหน้าได้ยาว ตัดสินใจเข้าลงทุนได้ทันทีเมื่อเห็นโอกาส โดยเฉพาะธุรกิจของบริษัทซึ่งทำร้านขนมหวาน เมื่อเจอทำเลหรือตึกที่น่าสนใจการมีเงินทุนทำให้บริษัทตัดสินใจในการชิงพื้นที่เข้ามาไว้ได้ ต่างจากก่อนหน้าที่ถึงแม้ว่าเจออาคารหรือตึกทำเลดี แต่จะต้องคิดและต้องหาแหล่งกู้เงินก่อน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ทัน แต่คราวนี้เมื่อเจอและเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีก็สามารถตัดสินใจได้ทันที” แม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ AU กล่าว

นอกจากนี้ การที่ธุรกิจของบริษัทเป็นธุรกิจร้านขนมหวาน เมนูที่นำเสนอต่อผู้บริโภคแม้จะเป็นขนมหวาน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับฤดูกาล เพราะผลไม้ที่นำมาใช้เป็นฤดูกาล เมื่อบริษัทมีเงินทุนที่ระดมเข้ามาจากนักลงทุน ก็ทำให้สามารถบริหารจัดการ และสามารถสั่งหรือล็อกวัตถุดิบหลักๆ ไว้ได้ ทั้งจากการสั่งตรงจากชาวไร่และผ่านตัวกลางที่ทำหน้าที่จัดหามาให้ได้ เมื่อถึงเวลาบริษัทก็สามารถรังสรรค์เมนูขนมหวานออกมาให้บริการลูกค้าและผู้บริโภคได้

ราคาหุ้นของ AU ที่เข้าซื้อขายวันแรกและราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าราคาไอพีโอที่ 4.50 บาท โดยขึ้นไปสูงสุดที่ 13.50 บาท ปัจจุบันจะลงมาซื้อขายที่ 11 บาทต้นๆ ทำให้สัดส่วนราคาต่อกำไร (พี/อี) ลงมาอยู่ที่เกือบ 90 เท่า มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) 8,555 ล้านบาท

แม่ทัพ ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร ยอมรับว่ากังวล เพราะราคาที่พุ่งขึ้นไปมาจากความคาดหวังของนักลงทุน เมื่อเทียบกับแผนการทำธุรกิจที่บริษัทเน้นการเติบโตแบบมั่นคงและยั่งยืน และผู้บริโภคจะสามารถเห็นเมนูใหม่ๆ ที่จะนำออกมาในช่วงกลางไตรมาส 2 และมีแผนการขยายสาขาตามที่วางแผนไว้ ปีนี้จะขยาย 5-7 สาขา และพร้อมที่จะยืนยันในการทำธุรกิจให้เติบโต ซึ่งปีนี้จะเติบโตให้ได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

“กังวลกับราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นอย่างมากและเกินความคาดหวังของทุกคน แม้กระทั่งที่ปรึกษาทางการเงิน เรื่องนี้ผมก็ปรึกษากับผู้ใหญ่เหมือนกัน และได้รับคำตอบว่า ราคาหุ้นที่สูงเพราะ นักลงทุนให้ค่าความนิยมในแบรนด์ของอาฟเตอร์ ยู สูงมาก ถือว่าเป็นการให้พรีเมียมต่อแบรนด์ของบริษัท ดังนั้นอยากบอกนักลงทุนว่าให้มั่นใจและลงทุนระยะยาว 3-5 ปี อย่าเป็นนักลงทุนระยะสั้น เพราะหากดูราคาและแผนธุรกิจแล้ว โอกาสการจะมีความเห็นที่ตรงกันเป็นเรื่องยาก แต่อนาคต 3-5 ปีข้างหน้า ความมุ่งมั่นในการทำกิจการให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งยังคงเดิมอยู่เสมอ” แม่ทัพ กล่าว

นอกจากนี้ การที่ธุรกิจขนมหวานมีความเกี่ยวเนื่องกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่เปิดปี 2560 ภาวะโดยรวมกำลังซื้อยังชะลอตัว แต่การที่ร้านขนมหวานของบริษัทเป็นร้านที่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค และมีเมนูที่ได้รับความนิยม ทำให้ลูกค้ายอมที่จะจ่าย และหากเทียบกับร้านขนมหวานอื่นถือว่าเมนูที่คิดค้นมาไม่แพง เพราะการเข้ามารับประทานในร้านอาฟเตอร์ ยู สามารถสั่งและแชร์ค่าใช้จ่ายกันได้เฉลี่ยแล้วคนละ 110 บาท กับบรรยากาศและเวลานั่งในร้านก็ถือว่าคุ้ม และเชื่อว่าลูกค้ายอมจ่าย

การเข้ามาของ MM นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นความท้าทายเพราะเกรฮาวด์ถือว่าเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยม ซึ่งแม่ทัพก็เป็นลูกค้าเช่นกัน แต่การทำธุรกิจอาหารต้องบริหารต้นทุนเพื่อทำให้มีกำไร

5 ปี ระดมทุน 9 แห่ง

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด 39 แห่ง มาร์เก็ตแคป ณ วันที่ 16 ก.พ. อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 2.2 แสนล้านบาท บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) 1.53 แสนล้านบาท บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) 9.49 หมื่นล้านบาท บริษัท คาราบาวกรุ๊ป (CBG) 7.47 หมื่นล้านบาท และบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) 5.37 หมื่นล้านบาท

5 ปีที่ผ่านมามีบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากถึง 9 แห่ง โดยเฉพาะปี 2557 ที่ใช้ตลาดทุนเป็นที่ระดมทุนถึง 5 แห่ง ส่วนหนึ่งเพื่อที่ต้องการขยายงานและสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ แต่อีกหนึ่งประเด็นคือ เข้ามาเพื่อให้บริษัทน่าเชื่อถือ และทำให้แบรนด์สินค้าแข็งแกร่ง นำไปสู่เป้าหมายให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างหรือระดับโลก ตามที่นโยบายบริษัทกำหนดไว้ อย่างบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง (TKN) บริษัท เซ็ปเป้ (SAPPE)

บจ.ยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตอาหารและส่งออกอาหารอย่าง CPF TU หรือลูกผสมที่มีแบรนด์สินค้าที่แข็งแรงอย่าง MINT ก็จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีการเตรียมสภาพคล่องหรือใช้เครื่องมือทางการเงินในตลาดทุนบ้างในการรอจังหวะและโอกาสเข้าซื้อกิจการที่คิดว่าจะนำมาต่อยอดกับธุรกิจหลักของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้เห็นทั้งในรูปแบบการเติบโตแบบก้าวกระโดด หรือการเติบโตแบบที่รอให้เกิดกลยุทธ์ระหว่างบริษัทและทำให้เติบโตอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องได้

อย่างไรก็ตาม ในทางตรงข้ามก็จะเห็นหุ้นบางตัวที่เข้ามาจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหุ้นแล้วราคาไม่เคลื่อนไหว จนบางตัวมีมาร์เก็ตแคปแค่เพียงหลักกว่า 1,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งนักลงทุนต้องทำการบ้านและหาคำตอบในหุ้นอาหารและเครื่องดื่มที่ใช่ในสไตล์ของตัวเอง